จส. 100 – จส. 100

27 มกราคม 2565, 16:10น.


     จากภารกิจการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่จะเกิดร่วมมือ สร้างสรรค์ และพัฒนาในทุกมิติต่อไปในอนาคต





    นายกรัฐมนตรี เผยว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียครั้งนี้จะเกิดโอกาสมากมายสำหรับทั้งสองประเทศ ซึ่งนำไปสู่นโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนและการฟื้นฟูประเทศหลังโควิดโดยเร็ว ดังนี้



     1. ด้านการท่องเที่ยว : การเดินทางระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียจะสะดวกยิ่งขึ้น ส่งผลต่อความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี 



     2. ด้านพลังงาน : เกิดการร่วมวิจัยและลงทุน ทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน โดย EEC ของไทย พร้อมรองรับการวิจัย พัฒนา และการลงทุนแห่งอนาคต สอดรับกับข้อริเริ่ม Saudi Green Initiative และ Middle East Green Initiative ของซาอุดีอาระเบีย



     3. ด้านแรงงาน : ความร่วมมือและโอกาสด้านแรงงานจะกลับมาอีกครั้ง โดยแรงงานที่มีศักยภาพจากประเทศไทยจะช่วยเติมเต็ม “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030” ผ่านโครงการก่อสร้างที่คาดว่าจะมีขึ้นเป็นจำนวนมาก ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ



     4. ด้านอาหาร : ไทยมีศักยภาพในการผลิตและพร้อมส่งออกอาหาร “ฮาลาล” ให้แก่ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตรและประมง เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย



     5. ด้านสุขภาพ : ไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์” ที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะโซนตะวันออกกลางที่นิยมเดินทางมารักษาที่ประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์



     6. ด้านความมั่นคง : ซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ตามแนวทางสันติสุขได้ รวมถึงความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง และการต่อต้านการก่อการร้าย 



     7. ด้านการศึกษาและศาสนา : ไทยมีโอกาสขยายการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่าง ๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พลังงาน การก่อสร้าง เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ฯลฯ



     8. ด้านการค้าและการลงทุน : นักลงทุนและ SMEs ไทย มีโอกาสในการทำธุรกิจและแสวงหาหุ้นส่วนทางการค้าได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งในซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น



     9. ด้านการกีฬา : เกิดความร่วมมือทางการกีฬาของทั้งสองประเทศที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น ฟุตบอล มวย กอล์ฟ การแข่งรถ รวมถึง e-sport และเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริม “มวยไทย” ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง



ข้อมูลจาก : เฟซบุ๊กเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha , ไทยคู่ฟ้า