“นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ” : เขาหาว่าผมบ้าที่จับลูกตัวเองทั้ง 16 คนมาฝึกมวยไทย!

“หลายคนเขาก็มองว่าผมบ้า ลูกผู้หญิงหน้าตาดี ทำไมเอามาต่อยมวย ไม่กลัวลูกเจ็บบ้างเหรอ?”

มวยไทย คือกีฬาต่อสู้ที่อยู่คู่กับคนจนในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน กีฬาต่อสู้ชนิดนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเปลี่ยนชีวิตตนเอง และครอบครัวของใครหลายคน

นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่ใช้กีฬาเปลี่ยนโชคชะตาของครอบครัว เพื่อหลีกหนีจากยาเสพติด และช่วยเหลือให้ลูกมีการศึกษา 

เขาเริ่มต้นสอนมวยไทยให้แก่ลูก ทั้งชายและหญิง โดยไม่สนใจสายตาของคนรอบข้างที่มองว่าเขากำลังพาลูกเจ็บตัว แถมยังต้องแลกกับสภาพร่างกายที่เสื่อมลงก่อนวัย เนื่องจากต้องจับเป้าให้ลูกกว่า 10 ชีวิต ซ้อมเตะต่อยทุกวัน 

นี่คือเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อของ นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ หัวหน้าค่ายมวย ลูกทรายกองดิน และคุณพ่อที่เปลี่ยนชีวิตลูกทั้ง 16 คน ด้วยกีฬามวยไทย

ของขวัญจากพระเจ้า

เราเดินทางเข้ามาที่ท้ายซอยประชาร่วมใจ 20 แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา มีบ้านเล็กๆหลังหนึ่งซ่อนอยู่ในชุมชนชาวไทยมุสลิมขนาดใหญ่ ผู้คนส่วนมากละแวกนี้ไม่ได้มีฐานะที่ดีนัก เพราะอยู่ห่างไกลจากความเจริญในเมือง

1

บ้านหลังนี้ มีหัวหน้าครอบครัวชื่อว่า นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ หรือที่ผู้คนละแวกนี้เรียกเขาว่า “บังริท” เขาเกิดและเติบโตที่นี่ แม้ว่าในช่วงวัยรุ่นเขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะมีการระบาดของยาเสพติด

“เพื่อนในวัยเดียวกันสมัยนั้น 40-50 คน เขาติดยาเสพติดกันหมด มีผมหลุดมาคนเดียว” นพฤทธิ์ เปิดฉากถึงชีวิตในวัยเด็ก

“ผมเห็นโทษของยาเสพติดมาตลอด ทั้ง อาการอยากยา หรือ ฉีดยาจนน็อก ภาพเหล่านั้นมันติดอยู่ในใจผมมาตลอด ผมจึงคิดว่า ถ้าวันหนึ่งผมมีครอบครัว ผมจะไม่ให้ลูกผมเป็นแบบนั้นเด็ดขาด”

2

เคราะห์ดีที่ นพฤทธิ์ ยึดมั่นในหลักศาสนา และมีความรักแก่ครอบครัว หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เขาตัดสินใจไม่ศึกษาต่อ เพื่อทำงานหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัว

ในเวลานั้นเองที่ นพฤทธิ์ หันหน้าเข้าสู่วงการมวย หลังได้เห็นพี่ชายของตนขึ้นชกที่เวทีสำโรง นพฤทธิ์ จึงตามรอยพี่ชายด้วยการเป็นนักชกเดินสายอีกคน เพื่อหาเงินเป็นรายได้เสริมทางหนึ่ง ส่วนอีกด้านคือการใช้กีฬาป้องกันตัวเองจากยาเสพติด

“เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาติดยาเสพติด แต่ผมมีกีฬามวยมาช่วยเอาไว้ เพราะเช้าผมต้องตื่นออกไปวิ่ง เวลาจับกลุ่มกันกับเพื่อนตอนดึก ผมก็ใช้การออกไปวิ่งตอนเช้าเป็นข้ออ้างขอกลับก่อน เพื่อนก็เข้าใจ”

นพฤทธิ์ รอดพ้นจากช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จนเติบใหญ่กลายเป็นชายหนุ่มที่พร้อมจะมีครอบครัว เมื่ออายุได้ 18 ปี เขาจึงแต่งงานสร้างครอบครัวกับภรรยา (สมสมร ยูฮันเงาะ) และให้กำเนิดบุตรคนแรก 

ความรักระหว่างพ่อกับแม่ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงครอบครัวที่ยากลำบากให้ผ่านช่วงเวลาอันโหดร้าย ของขวัญที่นพฤทธิ์ได้รับจากพระเจ้า คือ ลูกชายและลูกสาว ที่เป็นเหมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ 

แต่ด้วยหลักศาสนาอิสลามที่ห้ามคุมกำเนิด นพฤทธิ์ จึงได้รับกล่องของขวัญที่อาจจะมากไปหน่อย ไม่กี่ปีต่อมา เขากลายเป็นคุณพ่อที่มีทายาทท้องเดียวกันมากถึง 16 คน

3

“ผมไม่ได้คิดเลยว่าต้องมีลูกกี่คน เพราะตามหลักอิสลาม ห้ามคุมกำเนิด ห้ามทำหมัน เพราะเหมือนเราไปฝืนกฎเกณฑ์ที่พระเจ้าทรงวางลงมา ถ้าพ่อแม่ร่างกายแข็งแรง ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่เคยสนใจเลยว่าอยากมีลูกมากหรือน้อย” นพฤทธิ์ ตอบคำถามที่ใครหลายคนข้องใจ

ยิ่งมีลูกมาก ภาระค่าใช้จ่ายมาก นพฤทธิ์ เริ่มเป็นห่วงอนาคตของลูกๆ เพราะตัวเขาเองฐานะไม่ค่อยดี หน้าที่การงานก็ไม่มั่นคง ทำงานรับจ้างรายวัน นพฤทธิ์ กลัวว่าลูกจะไม่ได้รับการศึกษาที่ดีเหมือนอย่างตน บวกกับฝันร้ายเรื่องยาเสพติดที่ยังฝังใจ กีฬามวยไทย ที่ห่างหายไปนาน จึงกลับเข้ามาสู่ชีวิตของเขาอีกครั้ง

“ตอนนั้นลูกผมเริ่มโตขึ้น แต่รายได้เรายังน้อย ผมกลัวลูกจะไม่ได้เรียนหนังสือ ผมเองยังรับจ้างทั่วไป ทำงานเป็นพ่อค้าแม่ค้า เงินที่ได้มามันก็ไม่พอจะใช้จ่าย เพราะรายได้มันน้อย”

“คิดไปคิดมาว่า ถ้าลูกได้เล่นกีฬา ก็สามารถเข้าโครงการช้างเผือก ก็เกิดความคิดที่ว่า ถ้าอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ ลูกเราต้องเล่นกีฬา

ผมไม่เคยบังคับลูกชกมวย? 

“ตอนนั้นมีค่ายมวยมาเปิดใกล้บ้าน เพชรสุริยา กับ ดาราทอง เริ่มหายไป เขากลับบ้านไม่ตรงเวลา ผมก็สืบดูว่าสองคนนี้ไปไหน? จนรู้ว่าลูกเราหนีไปซ้อมมวย ผมก็บอกเขาว่า ถ้าจะไปซ้อมมวยก็บอกมาตรงๆ” นพฤทธิ์ เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในครอบครัว ยูฮันเงาะ

4

“วันหนึ่งผมเดินไปที่ค่ายมวย ปรากฎว่ามันไม่เป็นแบบที่คิด เขาสนใจแต่นักมวยที่ต่อยเวทีมาตรฐาน ส่วนลูกผมเขาก็ปล่อยตามยถากรรม เพราะลูกผมเป็นมวยใหม่ ผมเป็นนักมวยมาก่อนก็เห็นแล้วว่า ปล่อยไปแบบนี้ ลูกเราขึ้นไปชกก็เจ็บตัวฟรี”

ภาพที่เห็นในวันนั้น จุดประกายให้ นพฤทธิ์ ตัดสินใจกลับมาสอนวิชามวยให้แก่ลูกด้วยตัวเอง แต่ด้วยทุนทรัพย์ที่มีไม่มาก นพฤทธิ์ จึงซื้อได้เพียงแค่เป้าหนึ่งอันเพื่อเป็นคู่ซ้อม และฝึกสอนลูกชายในบริเวณบ้านของตัวเอง ก่อนจะสร้างเพิงสังกะสีมาสร้างเป็นค่ายมวย ที่บริเวณท้ายซอยประชาร่วมใจ 20

ค่ายมวย ลูกทรายกองดิน จึงก่อตั้งขึ้นมาจากจุดนั้น โดยมี ม่านฟ้า ลูกทรายกองดิน (ลูกคนที่ 3), เพชรสุริยา ลูกทรายกองดิน (ลูกคนที่ 6) และ ดาราทอง ลูกทรายกองดิน (ลูกคนที่ 7) แปรสภาพจากบุตรชาย มาเป็นนักมวยในสังกัด 

เมื่อลูกๆเห็นพ่อและพี่ชาย-น้องชาย ทำกิจกรรมร่วมกันแทบทุกวัน สมาชิกคนอื่นในครอบครัว จึงพลอยให้ความสนใจการชกมวยไปด้วย ไม่นานนัก พื้นที่ท้ายซอยประชาร่วมใจ 20 ที่เคยเงียบเหงา กลับคึกคักขึ้นมาทันตา เพราะสมาชิกตระกูล ยูฮันเงาะ ทุกคน จะไปรวมตัวเพื่อฝึกซ้อมมวยกับพ่อทุกช่วงเย็น

“ผมไม่เคยบังคับให้ลูกชกมวยเลย เด็กมันเห็นพี่น้องฝึกชกมวย เขาก็ฝึกตามกัน” นพฤทธิ์ กล่าว

5

“ผมยกตัวอย่าง ลูกผู้หญิงของผม เขาเริ่มหัดชกมวยด้วยตัวเอง เพราะเขากลัวหุ่นจะไม่ดี บ้านเราเปิดค่ายมวยอยู่แล้ว ลูกผมก็คิดว่า เขาชกมวยเพื่อออกกำลังกายไปพร้อมกับพี่น้อง”

“ซ้อมไปซ้อมมา พี่น้องต้องขึ้นแข่งขันรายการมวยภูธร ลูกคนอื่นก็ตามไปดู แล้วมวยภูธรบางครั้ง คู่ชกที่มาต่อยเขาไม่ได้มา คนจัดก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลูกผมที่มาเชียร์ก็ขึ้นไปต่อยแทน เพราะเราฝึกฝนกันมาแล้ว”

“คราวนี้ พอน้องข้างล่างเห็นพี่ขึ้นไปต่อย เขาก็อยากชกด้วย เลยกลายเป็นว่า ทุกคนกลับมาถามผมว่า เมื่อไหร่จะได้ชกบนเวทีบ้าง? หารายการให้หน่อย”

ด้วยเหตุนี้ บุตรทุกคนของ นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ ได้กลายร่างมาเป็นนักมวยในค่าย ลูกทรายกองดิน ประกอบด้วย รักแท้ ลูกทรายกองดิน, ม่านฟ้า ลูกทรายกองดิน, เพชรสายรุ้ง ลูกทรายกองดิน, เพชรอุมา ลูกทรายกองดิน, ดาราทอง ลูกทรายกองดิน, เพชรสโรชา ลูกทรายกองดิน, ดวงดาวน้อย ลูกทรายกองดิน, เงาพระจันทร์ ลูกทรายกองดิน, จัสมิน ลูกทรายกองดิน, อัยด้า ลูกทรายกองดิน, แสงอาทิตย์ ลูกทรายกองดิน, ซัยดาเนีย ลูกทรายกองดิน และ ซัยฟีด้า ลูกทรายกองดิน ขาดเพียงแค่ลูกคนที่ 1 และ 9 ที่เสียชีวิตก่อน 

6

“ลูกทรายกองดิน” กลายเป็นค่ายมวยแห่งเดียวในโลกที่พี่น้องสายเลือดเดียวกันสิบกว่าชีวิต ตัดสินใจเดินบนเส้นทางหมัดมวยทั้งชายและหญิง แต่นั่นก็ทำให้ นพฤทธิ์ มักถูกตั้งคำถามจากคนรอบข้างว่า เขาเป็นพ่อประเภทไหนถึงยอมให้ลูกขึ้นไปเจ็บตัวบนเวทีมวย?

ไม่มีใครอยากเห็นลูกเจ็บตัว 

“หลายคนเขาก็มองว่าผมบ้า ลูกผู้หญิงหน้าตาดี ทำไมเอามาต่อยมวย ไม่กลัวลูกเจ็บบ้างเหรอ?”

7

“เรื่องนี้ผมว่ามันมองคนละมุมกัน เพราะลูกใครใครก็รัก ลูกผมผมก็รัก แต่ผมเคยเป็นนักมวยมาก่อน ผมมองเห็นความปลอดภัยในการแข่งขัน ถ้าเรามีการฝึกซ้อมที่ดี รู้จักวิธีป้องกัน การหลบหลีก เจ็บมากมันก็กลายเป็นเจ็บน้อย”

“ผมไม่ได้ปล่อยลูกผมขึ้นไปโดนต่อยฟรี ไม่ใช่แบบนั้น ลูกเราเป็นมวย เขารู้จักการป้องกันตัว กระทั่งบางวันที่ลูกผมโดนน็อกมา เพราะโดนเตะปลายคางจนหลับ ถ้าเป็นพ่อแม่คนอื่นเขาคงตกใจ แต่ผมเฉยๆ เพราะผมรู้แล้วว่า เขาแค่โดนเตะเข้าจุดสลบ ปฐมพยาบาลสักหน่อยเดี๋ยวก็ฟื้น”

8

นพฤทธิ์ กล่าวว่า เขาไม่ได้เข้มงวดกับการฝึกซ้อมของลูกเท่าไหร่นัก ซึ่งเป็นคำตอบที่สวนทางกับใครหลายคนที่เชื่อว่า ผู้เป็นพ่อย่อมกวดขันลูกตัวเองมากกว่าลูกคนอื่น

เรื่องราวที่เกิดขึ้นใต้ชายคาครอบครัว ยูฮันเงาะ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น นพฤทธิ์ รับบทบาทคู่ซ้อมให้แก่ลูกด้วยรอยยิ้มและความสนุกสนาน เพราะบทเรียนสำคัญที่ นพฤทธิ์ ต้องการถ่ายทอดให้แก่ลูกมากที่สุด ไม่ใช่เคล็ดลับการตั้งการ์ดหรือการออกหมัด แต่เป็นการใช้ชีวิตบนโลกแห่งความจริง ในฐานะคนดีของสังคม

“ตอนนี้ผมภูมิใจในตัวลูกอยู่ 90 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่มันค้างอยู่อีก 10 เปอร์เซ็นต์ คือการดำเนินชีวิต เพราะลูกผมอยู่ในสังเวียน เขาใช้แต่พละกำลัง พอออกมาเจอโลกภายนอกที่ต้องใช้สติปัญญา การคิดอ่าน ความรอบคอบ ความเฉลียวฉลาด เด็กบางคนยังไม่ได้ตรงนี้ไป” นพฤทธิ์ เผยบทเรียนในฐานะผู้เป็นพ่อ

“คุณเก่งบนเวที คุณคว้าแชมป์ แต่การดำเนินชีวิตข้างล่างมันไม่เหมือนบนเวที ยกตัวอย่าง การคบหาเพื่อนเราต้องดูให้ออกว่าคนไหนจริงใจกับเรา สมมติ เราให้ใจเขาไปเต็มร้อย แต่เขาให้ใจกลับมาแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่ สิ่งเหล่านี้ต้องมองให้ออก เป็นเกร็ดการใช้ชีวิตที่เราต้องมาอบรมเขานอกสังเวียน”

9

นพฤทธิ์ มักใช้โอกาสที่ครอบครัวล้อมวงกินข้าวร่วมกัน เป็นเวทีเปิดบทเรียนอบรมลูกๆ ขณะเดียวกัน ชีวิตอีกด้านของเขาในฐานะครูสอนศาสนา นพฤทธิ์ ได้นำหลักคำสอนอิสลามเข้ามาปรับใช้ เพื่ออบรมและดูแลลูกนักมวยไม่ให้เปิดศึกกันเองในบ้าน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งกว่าสอนลูกต่อยกับคู่ต่อสู้บนสังเวียน

“มวยเป็นกีฬาที่ใช้พละกำลัง อารมณ์บางครั้งมันเปลี่ยนไปตามร่างกาย บางทีพูดไม่ถูกหูกันสองสามคำ กลายเป็นจะลงไม้ลงมือ เราเป็นพ่อแม่ที่นั่งอยู่ในเหตุการณ์ ก็ต้องสอนเขาให้รู้จักกาลเทศะ น้องต้องเคารพพี่ พี่ต้องเคารพพ่อแม่ ไม่อย่างนั้นจะอยู่ร่วมกันกันอย่างไร?”

“ตรงนี้ผมไม่ได้ตำหนิเขานะ ผมฝึกลูกชกมวย อารมณ์ตรงนี้มันต้องอยู่ในตัวเขา แต่ผมบอกลูกเสมอว่า เรื่องของร่างกายก็ส่วนร่างกาย ส่วนเรื่องของอารมณ์คือ สมรภูมิอารมณ์ ที่เราจำเป็นจะต้องระงับเอาไว้ ถ้าเราตอนไหนเอาออกมาแล้วทำให้ครอบครัวแตกแยก ต้องรู้จักเก็บอารมณ์เอาเก็บไว้”

“ผมมองว่าค่ายอื่นเขาไม่สอนแบบผมหรอก เพราะนักมวยไม่ใช่ลูก เขาซื้อนักมวยมา เขาก็ไม่ดูแลส่วนนี้แน่ แต่ผมดูแลหมดทั้งในและนอกสังเวียน สอนการดำเนินชีวิต ผมจะบอกลูกหมด”

“ผมทำค่ายมวย ไม่เคยเอาใจไปอยู่ที่แชมป์ เพราะใจผมอยู่ที่ลูกคนแรกถึงลูกคนสุดท้าย ผมเห็นพวกเขามีการศึกษา ผมเห็นพวกเขาไม่เกเร ตรงนี้ผมว่ามันคุ้มกว่า”

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ค่ายมวย ลูกทรายกองดิน มีอายุยาวนาน 18 ปี อาจไม่ใช่ถ้วยรางวัลหรือเข็มขัดแชมป์ แต่เป็นคำสอนของ นพฤทธิ์ ในฐานะผู้เป็นพ่อ ที่พัฒนาลูกของตนให้เติบโตเป็น นักมวยที่เก่ง และ คนที่ดี ไปพร้อมกัน

10

หยาดเหงื่อเพื่อลูก

“ถ้าไม่ใช่ผม ชีวิตแบบนี้มันยากมากนะ แต่สำหรับผม มันกลับง่าย เพราะชีวิตเราเคยลำบากกว่านี้ ต่อสู้กับอะไรมามากมาย ชีวิตผมโตมาแบบไหน ผมก็เอามาสอนลูก”

“คุณเชื่อไหม ตอนเปิดค่ายมวยใหม่ๆ ผมพาลูกชกมวยตอนเย็น หลังจากนั้นก็พาพวกเขาละหมาด พอละหมาดเสร็จ ลูกเป็นสิบคนยืนเรียงแถวรอกินข้าว แต่บ้านเราไม่มีข้าวจะหุงสักเม็ด”

11

“ผมสู้มาตั้งแต่เปิดค่ายปีแรก จนปัจจุบันปีที่ 18 ทุกวันนี้เขาเรียกว่า ข้าวล้นหม้อ ขนาดเราหยุดชกสัก 3 เดือนก็ยังมีข้าวกิน แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ ผมผ่านความลำบากมานานกว่า 20 ปี”

นพฤทธิ์ วัย 54 ปี มองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของค่ายมวย ลูกทรายกองดิน ในวันที่ตัวเขาไม่มีหน้าที่การงาน หารายได้จากการเก็บลวดทองแดงจากสายไฟเก่า และหาอาหารจากการขุดหัวมันสำปะหลัง

ความสำเร็จของนักมวยตระกูล ยูฮันเงาะ ในปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่าน่าเหลือเชื่อ เพราะนักมวยทั้ง 14 คน ถูกปลุกปั้นและเลี้ยงดู ด้วยมือของพ่อที่ครั้งหนึ่งเคยไม่มีเงินติดตัวสักบาท แถมครอบครัวยังอาศัยในย่านที่ชุกชุมด้วยยาเสพติด

“ความเสียสละ” ดูจะเป็นคำตอบเดียวที่อธิบายได้ว่า เหตุใดลูกของ นพฤทธิ์ จึงเติบโตขึ้นมาเป็นนักมวยที่ประสบความสำเร็จ และคนที่ดีของสังคม แม้ความเสียสละนี้จะทำให้ นพฤทธิ์ อดมื้อกินมื้อในวันวาน หรือร่างกายเสื่อมสมรรถภาพ เนื่องจากต้องจับเป้าให้ลูกฝึกซ้อมเตะต่อย เขากลับมองว่าทุกสิ่งที่เสียไปคุ้มค่ามาก เมื่อเทียบกับอนาคตของลูก

“ผมย้อนกลับไปในวันแรกที่เราตั้งค่ายมวย ถ้าผมตัดสินใจไม่ทำแบบนั้น ป่านนี้ลูกผมเป็นเอเยนต์ค้ายาไปแล้ว เพราะแถวนี้มันดงยา ผมไม่ได้พูดเกินจริงนะ มี 100 เปอร์เซ็นต์ ผมมั่นใจ 120 เปอร์เซ็นต์”

12

“ถ้าไม่มีกีฬามวย หนึ่ง ลูกผมอาจจะไม่มีการศึกษา สอง ลูกผมอาจกลายเป็นพ่อค้ายาเสพติด แต่ตอนนี้ ลูกผมทุกคนเรียนกันหมด ตอนนี้ผมมีลูกเรียนปริญญาตรี ปวส. ปวช. ประถม ทั้งหมดนี้ ผมได้จากกีฬามวยเห็นๆเลย”

“กว่าจะมาถึงวันนี้ มันเลยคำว่าเหนื่อย ผมมีแชมป์ 28 เส้น ถ้วยแชมป์ร้อยกว่าใบ คุณรู้ไหม? นักมวยต่อยกว่าจะได้ถ้วยแต่ละใบ คุณต้องต่อยเป็นสิบนัด แล้วลองคิดดู ผมต้องล่อเป้ากี่ครั้งกว่าเขาจะไปถึงจุดนั้น”

“ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม? เหนื่อย แต่ทำไมถึงยังทน? เพราะมันเป็นชีวิตของผม ผมมีลูก และผมอยากให้ลูกผมอยู่ในสังคมที่ดี ถ้าผมเปิดค่ายมวยเพื่อผลประโยชน์ ผมว่าผมทำได้ 2 ปีก็เลิก เพราะผมไม่ได้อะไรเลย”

“วันนี้สรีระผมบกพร่องไปแล้ว แต่หันกลับมาดูอีก 16 ชีวิต พวกเขาไม่เป็นภาระสังคม ตรงนี้ถือว่าผมคุ้มกับสิ่งที่เสียไป”

ทุกวันนี้ นพฤทธิ์ วางแผนที่จะปลดเกษียณตัวเองจากบทบาทครูมวยในค่าย ลูกทรายกองดิน เนื่องจากส่งลูกทุกคนมีการศึกษาที่ดี และห่างไกลยาเสพติดตามตั้งใจ

13

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของ นพฤทธิ์ ในครอบครัว ยูฮันเงาะ ไม่ได้หมดไป แม้วันหนึ่งที่เขาอาจโบกมือลาให้กับเป้าซ้อมและกระสอบทราย นพฤทธิ์ ยังคงสถานะสำคัญ คือ “พ่อ” ของลูกทุกคน และเป็นเสาหลักของครอบครัวเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“ผมไม่เคยเอาใจไปอยู่ที่แชมป์ เพราะใจผมอยู่ที่ลูกคนแรกถึงลูกคนสุดท้าย ผมเห็นพวกเขามีการศึกษา ผมเห็นพวกเขาไม่เกเร ตอนนี้ผมว่ามันคุ้มกว่า”

“บางคนเขาก็อิจฉาผมนะ แต่ผมมองว่า เขาอิจฉาเพราะทำแบบผมไม่ได้ มันยากนะ เพราะเขาต้องทำชีวิตให้ลูกเห็นก่อน ถ้าพ่อทำแบบหนึ่ง แล้วมาบอกลูกให้ทำอีกแบบ เด็กมันก็คิดว่า พ่อยังกินเหล้ากินยา ทำไมลูกต้องเชื่อฟัง?”

“ผมตั้งแต่โตเป็นหนุ่มมา ผมไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน ผมใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอด 54 ปี ลูกผมเขาก็รู้ เพราะผมเล่าให้ลูกฟังเสมอ เมื่อลูกลับสายตาผม เขาก็ไม่กล้ากินเหล้า เพราะเขานึกถึงพ่อ”

“คำสอนที่ผมเอ่ยออกไป ผมกระทำให้ลูกดูก่อนเสมอ” นพฤทธิ์ เอ่ยประโยคสุดท้าย ก่อนออกไปจับเป้าให้แก่นักมวยในค่าย สมบัติที่เขาภูมิใจมากที่สุดในชีวิต

14