หากกล่าวถึงนักมวยสากลสมัครเล่นระดับตำนานของประเทศไทย เชื่อว่าแฟนกีฬาจำนวนไม่น้อยคงจะนึกถึงชื่อของวีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิกเป็นอันดับต้นๆ
อาทิ ”โม้อมตะ” สมรักษ์ คำสิงห์ นักกีฬาไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก จากวีรกรรมการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 1996 ณ นครแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา, วิจารณ์ พลฤทธิ์ ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก 2000 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย, มนัส บุญจำนงค์ นักชกเหรียญทองโอลิมปิก 2004 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และ สมจิตร จงจอหอ วีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม นอกจากนักชกฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกทั้ง 4 คนนี้แล้ว ยังมีขุนพลเสื้อกล้ามไทยอีกจำนวนมากที่สร้างชื่อเสียงและเกียรติยศให้กับประเทศชาติแบบนับครั้งไม่ถ้วน จนกลายเป็นตำนานแห่งวงการกำปั้นแดนขวานทอง แม้จะไม่มีบุญวาสนาก้าวไปถึงการคว้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติก็ตาม
หนึ่งในตำนานนักชกไทยที่สร้างความยิ่งใหญ่บนสังเวียนผืนผ้าใบมาต่อเนื่องจนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักชกรุ่นเล็กที่ดีที่สุดตลอดกาลแห่งพงศาวดารมวยสากลสมัครเล่นไทย แม้จะไม่เคยคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกก็ตาม ซึ่งเขาคนนี้ก็คือ พ.จ.อ.สุบรรณ พันโนน หรือ โค้ชบัน หนึ่งในทีมงานผู้ฝึกสอนมวยสากลสมัครเล่นหญิงทีมชาติไทยในยุคปัจจุบันนั่นเอง
แม้จะเป็นที่รู้จักของแฟนกีฬาชาวไทยในฐานะนักมวยสากลสมัครเล่น ทว่าจุดเริ่มต้นของอดีตนักชกวัย 42 ปีรายนี้ ไม่ได้คิดที่จะเอาดีกับการเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นแต่อย่างใด โดยแรกเริ่มเดิมนั้นเขาได้เริ่มต้นชกมวยไทยเหมือนกับนักมวยคนอื่นๆ
สุบรรณ ได้เล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่เป็นเด็กเขาเกิดที่จังหวัดขอนแก่น คุณพ่อของเขามีอาชีพเป็นนักมวยไทย และฝึกให้ลูกๆ 3 คนเป็นนักมวยทั้งหมด พร้อมกับพาเขาตระเวนชกหลายจังหวัดในภาคอีสาน จนมีผลงานไร้เทียมทาน ไล่เอาชนะนักชกในย่านนั้นจนไร้คู่ต่อกร ก่อนจะเข้ามาชกในกรุงเทพฯ เมื่อจบ ป.6
ในช่วงที่เข้ามาชกในเมืองกรุงใหม่ๆ ได้ไปซ้อมที่ค่าย ส.เพลินจิต พร้อมกับใช้ชื่อชกว่า พฤหัสน้อย ส.เพลินจิต ก่อนจะใช้เวลาไม่นานกับการก้าวขึ้นมาเป็นนักมวยอันดับต้นๆ แห่งวงการ ด้วยการเอาชนะคู่ชกหลายไฟต์ จนกระทั่งเริ่มหาคู่ชกไม่ได้
อดีตนักชกเมืองหมอแคนได้กล่าวว่า ในช่วงนั้นอายุ 16-17 ปี เริ่มชนะน็อกเป็นว่าเล่น จนไม่มีใครอยากชกด้วย จึงทำให้ คุณเสถียร เสถียรสุต หัวหน้าค่าย ส.เพลินจิต ที่ปัจจุบันได้จากโลกนี้ไปแล้ว มีแผนการที่จะปั้นให้เขาเป็นแชมป์โลกมวยสากลอาชีพเหมือนกับนักชกร่วมค่ายอย่าง แสน ส.เพลินจิต อดีตแชมป์รุ่นฟลายเวต 112 ปอนด์ของสมาคมมวยโลก (WBA) โดยมี อิสมาเอล ซาลาส โค้ชชาวคิวบาของค่าย เป็นคนช่วยเทรน
อย่างไรก็ตาม แทนที่เขาจะได้รับการเทิร์นโปรให้ชกมวยสากลอาชีพ ทว่าชะตาชีวิตกลับลิขิตได้หันเหมาสู่การเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นแบบไม่ได้ตั้งใจเมื่อ พล.ร.อ.อธิคม ฮุนตระกูล ผู้ดูแลทีมมวยสากลสมัครเล่นแห่งสโมสรกองทัพเรือ ที่มีความสนิทสนมกับ คุณเสถียร เสถียรสุต ได้ขอนักชกฝีมือดีในสังกัด ส.เพลินจิต เข้าไปเป็นนักชกในสังกัดทหารเรือ
ก่อนที่คุณเสถียรจะเลือกให้ สุบรรณ เข้าไปเป็นนักชกในสังกัดสโมสรตะหานน้ำ พร้อมกับทำให้อดีตนักชกรายนี้ เปลี่ยนสถานะจากนักมวยไทยไปเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้การปรับเชิงชกจากมวยไทยไปเป็นมวยสากลจะเป็นเรื่องที่ยาก ทว่านักชกจากเมืองดอกคูนกลับเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถคว้าแชมป์ในประเทศทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นศึกชิงแชมป์ประเทศไทย, กีฬาแห่งชาติ และรายการอื่นๆ อีกมากมาย จนกลายเป็นนักชกอันดับ 1 ของประเทศในรุ่นไลต์ฟลายเวต 48 กิโลกรัม
ด้วยผลงานที่เอกอุและไร้เทียมทานจึงทำให้ สุบรรณ พันโนน ถูกเรียกตัวติดทีมชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1997 กับการชกในศึกคิงส์คัพ พร้อมกับคว้าแชมป์ได้สำเร็จ ซึ่งนั่นคือความสำเร็จครั้งแรกในการชกในนามทีมชาติไทย
ก่อนที่อีก 1 ปีต่อมาในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 1998 สุบรรณ พันโนน ที่ในเวลานั้นอายุเพียง 22 ปี สร้างวีรกรรมที่เหลือเชื่อในแบบที่ไม่มีใครกล้าคาดคิดมาก่อน ด้วยการคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าวอย่างเซอร์ไพรส์ พร้อมกับแจ้งเกิดในวงการกำปั้นไทยได้อย่างเต็มตัว
สุบรรณ ได้กล่าวว่า การคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นได้สร้างความมั่นใจให้กับเขาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะไปชกในรายการไหนก็ได้เหรียญรางวัลมาโดยตลอด โดยเฉพาะการคว้าเหรียญทองแดงในศึกชิงแชมป์โลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1999 จนทำให้เขามั่นใจว่าโอลิมปิก 2000 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จะสามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับมาฝากพี่น้องชาวไทยอย่างแน่นอน
ซึ่งสื่อมวลชนจากหลายสำนักต่างก็ฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่านักชกเมืองหมอแคนรายนี้มีโอกาสสูงที่จะไปถึงการคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ 2000
จึงทำให้ก่อนไปชกโอลิมปิก ณ แดนจิงโจ้ เขาได้ทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมอย่างหนัก พื่อสร้างความฝันให้เป็นจริงให้ได้
ทว่า ในช่วงระหว่างฝึกซ้อมกลับมีอาการบาดเจ็บขึ้นที่เอ็นไขว้หน้าเข่าซ้าย แม้แพทย์จะรักษาจนหายแล้ว ทว่าอาการบาดเจ็บ ณ บริเวณดังกล่าวได้ตามมาหลอกหลอนอีกครั้ง ระหว่างชกในรอบ 16 คนสุดท้าย ในศึกโอลิมปิกครั้งดังกล่าวกับ วาเลรี ซิโดเรนโก นักชกชาวยูเครน
ก่อนชกไฟต์นั้น สุบรรณ มั่นใจว่าเขาจะผ่านนักชกรายนี้ได้ไม่ยาก เพราะผูกปีชนะมาโดยตลอด แต่ทุกอย่างต้องพังทลายเมื่อนักชกยูเครนพุ่งออกหมัดเข้ามา ซึ่งเป็นจังหวะที่นักชกไทยพยายามดึงหลบ ทว่า คู่ชกจากยุโรปตะวันออกรายนี้กลับลื่นแล้วล้มไปทับเอ็นไขว้หน้าเข่าซ้ายของ สุบรรณ ซึ่งเป็นแผลเก่าที่เคยบาดเจ็บมาแล้ว จนฉีกขาด
วินาทีนั้นนักชกชาวขอนแก่นพยายามลุกขึ้นมาสู้ต่อ แต่ขาซ้ายแน่นิ่งเสมือนขาขาดที่สมองสั่งงานไม่ได้ จึงทำให้แฟนมวยในยุคนั้นเห็นภาพที่น่าสงสารผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เมื่อ ฮวน ฟอนตาเนียล โค้ชชาวคิวบาของทีมกำปั้นไทย ต้องอุ้ม สุบรรณ พันโนน ลงจากเวที ท่ามกลางสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ด้วยความผิดหวังอันมหาศาล จนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
ความพ่ายแพ้ด้วยอุบัติเหตุในครั้งนั้นแม้จะทำให้ต้องเสียใจถึงขนาดมีความคิดที่จะเลิกชก แต่สุดท้ายเขาก็ฮึดสู้อีกครั้ง จนกลับมาคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2001 และเหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์ ที่เมืองบูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2002 จนกระทั่งคว้าตั๋วไปลุยโอลิมปิกอีกครั้ง ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 2004
อย่างไรก็ตาม การชกโอลิมปิกครั้งที่ 2 ในชีวิตไม่ได้ง่ายเหมือนเดิม เนื่องจาก แยน บาร์เตเลมี นักชกดาวรุ่งพุ่งแรงของคิวบา ที่มีดีกรีเป็นแชมป์โลกเมื่อปี 2001 เป็นกระดูกชิ้นโตที่โคจรมาชกกับ สุบรรณ ในรอบ 16 คนสุดท้าย ก่อนที่นักชกไทยจะพบกับความปราชัย และอกหักพลาดเหรียญโอลิมปิกอีกหน
จากนั้น สุบรรณ พันโนน ยังมีความตั้งใจที่จะชกโอลิมปิกอีกครั้ง โดยก่อนถึงโอลิมปิก 2008 ที่ประเทศจีน เขาสามารถคว้าเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2006 ที่ประเทศกาตาร์ มาครอง ทว่าพอถึงปี 2007 อาการบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้าเข่าซ้ายได้กำเริบอีกครั้ง จนแพทย์แนะนำให้เลิกชกมวย จึงทำให้เขาต้องยอมตัดใจละทิ้งความฝันที่จะไปชกโอลิมปิกอีกครั้งด้วยการประกาศแขวนนวมอย่างเป็นทางการด้วยวัยเพียง 29 ปี
เมื่อมองย้อนกลับไป สุบรรณ ได้กล่าวว่า เขารู้สึกเสียดายการชกในโอลิมปิก 2000 อย่างมาก เพราะหากไม่บาดเจ็บเสียก่อนมีโอกาสได้เหรียญรางวัลเลยทีเดียว ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังห้าวและมั่นใจอย่างเต็มที่
”การชกทุกรายการผมได้เหรียญรางวัลมาแทบทั้งหมด มีเพียงโอลิมปิกเท่านั้นที่ผมไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่ได้เป็นนักชกฮีโร่โอลิมปิกเกมส์เหมือนกับคนอื่นๆ เขา จนสามารถกล่าวได้ว่า ผมอาภัพกับการชกในกีฬาโอลิมปิกอย่างแท้จริง” สุบรรณ พันโนน กล่าวทิ้งท้าย
– ถิรพัฒน์ ณ ลำปาง –
Add friend ที่ @Siamsport