สธ.ยันเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ C.36.3 ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย ตรวจพบครั้งแรกในชายชาวอียิปต์ที่เดินทางเข้าไทยและกักตัวใน ASQ หลังรักษาหายเดินทางกลับทันที ย้ำไม่มีการแพร่ระบาดในชุมชน
วันนี้ (28 พ.ค.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกระแสข่าว COVID-19 สายพันธุ์ไทยไปอังกฤษ ว่า ข้อมูลดังกล่าวเริ่มจากสื่อต่างประเทศฉบับหนึ่งและมีผู้เชี่ยวชาญของไทยออกมาพูด ซึ่งองค์กรพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ ได้มีการสรุปเอกสารการกลายพันธุ์ โดยเอกสารฉบับสุดท้ายออกมาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหตุว่าเอกสารในบางหน้าเขียนข้อมูลและถูกนำมาขยายความซึ่งอาจคลาดเคลื่อน
นพ.ศุภกิจ ระบุว่า ผู้ป่วย COVID-19 รายนี้ ได้ถูกตรวจพบในไทยจริง เป็นชายชาวอียิปต์อายุ 33 ปี เดินทางมาจากอียิปต์ และเข้า State Quarantine โดยตรวจเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 และวันที่ 31 ม.ค.ได้เก็บสิ่งส่งตรวจ ไปตรวจที่จุฬาฯ เพื่อถอดรหัสสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์ซึ่งในขณะนั้นให้ชื่อ B1.1.1 ต่อมามีการรายงานข้อมูลซึ่งถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว นำรายละเอียดใส่ในระบบที่ทุกประเทศในโลกรวมส่งข้อมูล จาก B1.1.1 เป็น B1.1.36 เมื่อเลขยาวไป ทางระบบผู้จัดฯ จึงปรับเป็น C36 และถัดมาเป็น C.36.3
ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เมื่อติดเชื้อและรักษาหายดีแล้ว ได้เดินทางกลับอียิปต์ เป็นการตรวจพบใน State Quarantine ไม่ได้ตรวจพบในชุมชน หรือในสังคมของไทย อีกทั้งผู้ป่วยได้เดินทางปรับอียิปต์
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เอกสารในองค์กรพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ที่มีการโพสต์และเป็นประเด็นส่วนหนึ่ง เป็นตารางที่ระบุสายพันธุ์ หนึ่งในนั้นมี “C.36.3” Thailand ex Egypt พร้อมยกตัวอย่าง “สายพันธุ์บราซิล” เขียนว่า Japan ex Brazil หรือหมายความว่า ญี่ปุ่นตรวจพบสายพันธุ์นี้ครั้งแรกในคนไข้ที่มาจากบราซิล ส่วนไทยตรวจพบใน State Quarantine ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวเดินทางมาจากอังกฤษ
“คนไข้ที่มาจากบราซิลเขาก็ไม่เรียกสายพันธุ์ญี่ปุ่น ขณะที่ไทยตรวจเจอใน State Quarantine แต่คน ๆ นี้ เดินทางมาจากอียิปต์ ต้องคิดเอาว่าควรจะเรียกว่าสายพันธุ์ไทยหรือไม่ ข้อเท็จจริงสายพันธุ์นี้มีอยู่หลายประเทศทั่วโลก คงไม่แฟร์ที่ใช้ชื่อประเทศที่ตรวจพบ”
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ไม่มีสายพันธุ์ “C.36.3” อยู่ในชุมชน สังคม และประเทศไทย และไม่ควรถูกเรียกว่าสายพันธุ์ไทย ขอประชาชนอย่าวิตกกังวล ส่วนตัวขอสรุปว่า “ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย” แต่เป็นสายพันธุ์ประเทศอื่นที่มาปรากฎหรือพบในไทย และเป็นเพียงสายพันธุ์ที่น่าสนใจ ไม่ใช่น่าห่วงกังวลกรณีดื้อวัคซีน หรือแพร่กระจายรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กทม.พบอีก 3 คลัสเตอร์ใหม่ “ตลาด-บริษัท-สถานทูต”
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยืนยัน “ซิโนฟาร์ม” เข้าไทย 1 ล้านโดส มิ.ย.นี้
WHO เลื่อนรับรอง “ซิโนแวค” หลังขอเอกสารเพิ่ม คาดพิจารณาภายใน มิ.ย.