พรบ.มวย มาตรา 17 ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยขึ้นให้มีฐานเป็นหน่วยงานของการกีฬา แห่งประเทศไทย
และมาตรา 18 ได้กำหนดให้ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกีฬามวย แต่งตั้งพนักงานของการกีฬาแห่งประเทศไทยคนหนึ่งซึ่งไม่ต่ำกว่าระดับผู้อำนวยการกอง เป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยนั้น
โดยหลักการและวิธีปฏิบัติ แน่นอนว่าพนักงานของการกีฬาฯ ที่ทำหน้าที่ผู้อำนายการกองย่อมอยู่ในข่ายที่สามารถจะถูกเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งได้
แต่บนความเป็นจริงทั้ง พรบ.มวย 2542 และสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย ต่างล้วนเป็นของใหม่และทุกอย่างต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด จึงควรที่จะพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขในการนำเสนอ เพื่อพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีพื้นฐานความรู้และความสามารถด้านกีฬามวยด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของทางราชการและวงการมวย
ที่สำคัญ ควรเป็นบุคคลเจ้าหน้าที่ ๆ มีประวัติหรือต้นทุนที่เกี่ยวโยงพันผูกกับ “มวยไทย” เป็นทุนเดิมด้วยนั้น
การกลับเป็นเรื่องของท่านผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง ไปออกปากขอร้องบุคลากรเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยคลุกคลีมีมากทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์กับกีฬามวยมายาวนานยิ่งกว่าบุคคลอื่นใดในขณะนั้นรอไปก่อน
จนกลายเป็นเรื่องเสาเข็มและฐานรากที่ลงหลักปักไว้ไม่สู้เสถียรมั่นคง
วงการมวยโดย พรบ.มวย 2542 จึงมิได้มีอะไรแปลกใหม่มากมายไปกว่าเมื่อครั้งก่อนมี พรบ.มวย หรือกฎหมายมวย
นอกจากการสร้างงานให้กับบุคลากรภาครัฐกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นข้ออ้างในการส่งเสริมและควบคุมเป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์ และความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเท่านั้น
ปัญหาการจ้างมวยล้มต้มคนดู กรรมการซูเอี๋ย หรือการวางยานักมวย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และน้อยครั้งที่ไม่สามารถเอาตัวคนผิดมาลงโทษได้
เพราะเจ้าพนักงานมวยหรือนายทะเบียนมวย ท่านเลือกที่จะนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง
รายใหนที่มิใช่เรื่องโด่งดังเป็นที่สนใจ ก็มักจะหายไปกับสายลม
แท้จริงแล้ว “มวยไทย” ได้เริ่มมีการพัฒนาให้เป็นสากลมาเป็นลำดับก่อนมี พรบ.มวย หรือกฎหมายมวยซะด้วยซ้ำ!
และแท้จริงแล้วเราต้องขอบคุณภาคเอกชนทั้งสนามมวยเวทีราชดำเนิน และสนามมวยเวทีลุมพินี ที่เป็นเสาหลักของวงการมวยมากว่าครึ่งศตวรรษ ภายใต้สโลแกนว่า “เวทีมวยมาตรฐาน”
ฝั่งเวทีมวยราชดำเนินมี ท่านอาจารย์เจือ จักษุรักษ์ เป็นผู้นำ
ส่วนทางฟากเวทีมวยลุมพินีมี อาจารย์สังเวียน หิรัญเลขา เป็นหัวหอก
ทั้งสองฝ่ายร่วมหัวจมท้ายในการขับเคลื่อนทั้งกฎระเบียบและกติกาของมวยไทย จนเป็นรากฐานที่มั่นคงส่งไม้ต่อมาให้พวกเราจนถึงทุกวันนี้
อย่างเช่นอาวุธมวยไทยประกอบไปด้วย หมัด เท้า เข่า ศอก
อุปกรณ์การแข่งขันหรือการแต่งตัวของนักมวยนั้น
นอกจากขนาดความกว้างยาวขั้นต่ำของเวทีแล้ว เชือกบนสังเวียนเวทีที่เคยใช้กันมา 3 เส้น ต่อเมื่อมีการพัฒนาครั้งล่าสุดก็มีการเปลี่ยนจาก 3 เส้นเป็น 4 เส้น และใช้กันเรื่อยมาจนทุกวันนี้
นักมวยนอกจากจะต้องสวมกางเกงแสดงสีแดงหรือสีนย้ำเงินตามมุมที่ขึตถูกกำหนดให้ชกแล้ว
มงคล ผ้าประเจียด และการไหว้ครูล้วนเป็นเรื่องสำคัญ
สมัยก่อนการให้คะแนนการแข่งขันของนักมวยนั้นเป็น 5 ยก ๆ ละ 5 คะแนน โดยมีการออกคะแนนในแต่ละยกให้ผู้ชนะได้ 5 คะแนน ส่วนผู้แพ้ได้เพียง 4.5 คะแนน หรือ 4 คะแนนครึ่ง
หากนักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกนับจะเสียคะแนนเพิ่มอีก 1 คะแนนต่อการถูกนับต่อหนึ่งครั้ง
แต่ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนการให้คะแนนเป็นยกละ 10 คะแนนโดยไม่มีเศษ และมีการออกคะแนนให้ผู้ชนะในแต่ละยก ๆ ละ 10 คะแนน ส่วนผู้แพ้จะได้ 9 คะแนน
นักมวยที่ถูกนับจะเสียคะแนนเพิ่มอีก 1 คะแนน ต่อการถูกนับต่อครั้งนั้น
อีกเรื่องที่เกือบลืมบอกไปก็คือ ทั้งกรรมการผู้ห้ามบนเวทีและกรรมการผู้ให้คะแนนเมื่อ 4-50 ปีที่แล้วใช้กรรมการ 3 คน
โดยมีกรรมการผู้ตัดสินบนเวที 1 คนและกรรมการผู้ให้คะแนนอยู่ขอบเวทีอีก 2 คน และการตัดสินก็ใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์การตัดสิน
นอกจากกรรมการที่นั่งติดขอบเวทีทั้ง 2 คนมีหน้าที่ให้คะแนนแล้ว กรรมการผู้ห้ามบนเวทีก็สามารถให้คะแนนไปพร้อม ๆ กับการทำหน้าที่บนเวทีด้วย
ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากกรรมการผู้ให้คะแนนที่นั่งติดขอบเวทีจาก 2 คนเป็น 3 คน จึงได้ยกเลิกการให้คะแนนของกรรมการผู้ห้ามบนเวทีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้
การพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่ว่าข้างต้นล้วนเป็นรากฐานสำคัญ ที่สองสนามมวยเวทีมาตรฐานทั้งราชดำเนินและลุมพินีได้มีบูรณาการ่วมกัน กับยังยึดถือเป็นมาตรฐานการปฏิบัติเรื่อยมาจนทุกวันนี้
กับเรื่องผลการชี้ขาดตัดสินมวยของกรรมการซึ่งมีปัญหาเรื้อรัง รกเวที เรื่อยมามาจนถึงทุกวันนี้ โดยมิพักว่าจะเป็นกรรมการของสนามมวยเวทีน้อยใหญ่
ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์กับการพนัน ซึ่งชุกชุมมากยิ่งกว่าที่กรรมการตัดสินผิดพลาด
แม้ในการแข่งขันมวยในระดับเวิลด์คลาส หรือการแข่งขันกีฬามวยในโอลิมปิกเกมส์ ก็เคยมีข่าวฉาวทำนองนี้
ไม่เชื่อก็คอยดูการตัดสินมวยซีเกมส์ที่เขมรอีกอีกไม่นานข้างหน้านี้ดูก็ได้
ถ้านักเลงมวยไม่จ้างกรรมการ
หรือกรรมการไม่คลานไปหาเซียน
เท่าๆ กับเซียนไม่จ้างนักมวย
หรือนักมวยไม่กราบอ้อนวอนนักเลงมวย
ปัญหา“เฮงซวย” หยั่งงี้พวกเราช่วยกันเองได้
อย่าเอาแต่ ด่า…ด่า..ด่า กรรมการอยู่ข้างเดียวเลยครับ
มวยไทย มวยใคร ?!?
– บี บางปะกง –