คอลัมน์การเมือง – การเมืองเหมือนละครสัตว์ที่ซัดกันตั้งแต่โหมโรง – หนังสือพิมพ์แนวหน้า

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน เสนอรายงานพิเศษเรื่อง “การเมืองเหมือนละครสัตว์ที่ฟัดกันตั้งแต่โหมโรง” รายงานชิ้นนี้มิได้เกี่ยวกับเมืองไทยแต่เป็นเรื่องเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ อ่านแล้วรู้สึกว่ามีส่วนคล้ายกับการเมืองบ้านเรา คือ นักการเมืองที่หมดอำนาจและมีปัญหาสงครามยาเสพติดที่ทำให้คนตายเป็นพันเป็นพันหมื่น ถูกข้อหาคอร์รัปชั่น ก็ส่งลูกสาวลงเล่นการเมืองโดยหวังว่าทายาทอสูรอาจแก้ไขสิ่งที่ทำผิดให้เป็นสิ่งที่ถูกได้

ประธานาธิบดีเรดิโก ดูเตอร์เต ผู้อหังการ์ท้าทายสหรัฐอเมริกามาหลายปีพอใกล้หมดอำนาจก็กลับตัวกลับใจกลายมาเป็นญาติดีกับอเมริกาวันที่ 18 ต.ค. 2564 นายดูเตอร์เตแสดงความขอบคุณประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างเป็นทางการ ที่รัฐบาลวอชิงตันส่งผู้แทนระดับสูงมาพบปะหารือเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์สองประเทศพันธมิตรให้ใกล้ชิดกันเหมือนหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา


นอกจากนั้นผู้บัญชาการทหารฟิลิปปินส์ แถลงว่าพร้อมให้ความร่วมมือทางด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ “ปี 2022 สองประเทศไม่เพียงแต่ฝึกรบร่วมกันในรหัส Balikatan เท่านั้นแต่จะร่วมมือกันทำกิจกรรมความมั่นคงถึง 300 โครงการ เพื่อสนองตอบการปักหมุดอินโดฯ-แปซิฟิกของอเมริกา”

คำพูดของนายดูเตอร์เตเป็นที่ประจักษ์ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ผู้นำฟิลิปปินส์ที่เคยด่าเคยสาปแช่งนายโอบามา ต้องหันไปซบสหรัฐ เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมาถึงอีก 5 เดือนข้างหน้า

เลือกตั้งครั้งนี้นายดูเตอร์เต มีเดิมพันสูง เขารู้ดีว่าการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์หนีไม่พ้นการแทรกแซงจากสหรัฐ และนายดูเตอร์เต รู้ด้วยว่าสหรัฐเป็นตัวการผลักดันให้ศาลโลกสอบสวนสงครามยาเสพติดของเขา ที่ว่ากันว่าทำให้คนตายประมาณ 30,000 ราย

สงครามยาเสพติดนอกจากมีปัญหากับอเมริกาแล้ว ดูเตอร์เตยังเชื่อว่าบรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องนำปัญหานี้ไปใช้เพื่อทำลายเขา

ปัญหาภายนอกบังคับให้เขาต้องง้ออเมริกา ส่วนปัญหาภายในนายดูเตอร์เตจำใจต้องส่งลูกสาวลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยหวังว่าหากลูกสาวชนะได้เป็นผู้นำรัฐบาลขึ้นมา เธออาจใช้กฎหมายหรือออกนโยบายช่วยเหลือบิดาที่มีปัญหารุมเร้าได้

ลูกสาวคนโปรดซาร่า ดูเตอร์เต ทำอิดออดว่าไม่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่าเธอจะเปลี่ยนใจลงสมัครในนาทีสุดท้ายเหมือนบิดาเมื่อห้าปีก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์เปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่ลงทะเบียนสามารถลงแข่งขันแทนผู้สมัครที่ถอนตัวได้

PulseAsia ทำการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าซาร่า ดูเตอร์เตยังเป็นที่นิยมอันดับหนึ่ง ส่วนผู้ที่มีความนิยมรองลงมา 5 อันดับแรกเป็นผู้สมัครที่มีพื้นฐานแตกต่างกันหลากหลายและหลายคนเปิดหน้าว่าเป็นศัตรูดูเตอร์เต ดังที่เดอะการ์เดี้ยนจั่วหัวว่า “เหมือนคณะละครสัตว์”

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีทั้งลูกชายอดีตจอมเผด็จการ นักมวยขวัญใจชาวบ้านและอดีตดารานักแสดง

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 60 ล้านคน จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครควรเป็นประธานาธิบดีที่วาระหกปีของนายดูเตอร์เตจะหมดลงในกลางปีนี้

“บางคนเรียกว่าเหมือนละครสัตว์แต่เราเรียกว่ามันเป็นเทศกาลรื่นเริง” โธนี ลาวิน่า แห่งมหาวิทยาลัยเอติเนียว กล่าว “มันเป็นเรื่องน่าสนใจมากเพราะเสียงเชียร์มีการพลิกผันไปมาตลอดเวลา”

การเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 2565 เป็นเวลาที่ฟิลิปปินส์ประสบกับวิกฤตโควิด-19 ร้ายแรงที่สุดในอาเซียน และการฉีดวัคซีนให้ประชาชน 230 ล้านคน เพิ่งทำได้เพียงหนึ่งในสี่ของประชากรการปิดประเทศที่ยาวนานทำให้เศรษฐกิจเกือบล้มละลาย

สำหรับดูเตอร์เตเลือกตั้งครั้งนี้เขามีเดิมพันสูงมากเพราะศาลโลกได้เริ่มสอบสวนดำเนินคดีเรื่องที่เขาทำสงครามยาเสพติด ตลอดถึงเขาถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น บริหารจัดการวิกฤตโควิดระบาดล้มเหลว และกลัวจีนมากเกินไป ทำให้คู่แข่งทางการเมืองนำเรื่องเหล่านี้ไปโจมตีทำลายเขา

ผลสำรวจ Pulse Asia เปิดเผยว่า ซาร่า ดูเตอร์เตมีคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่งแต่ เธอยังปฏิเสธว่าไม่ลงสมัคร ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าซาร่าจะเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายในการลงแข่งขันแทนผู้สมัครที่ถอนตัวเหมือนกับที่บิดาเธอทำในปี 2559

โธนี ลาวิน่า ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเอติเนียว กล่าวหากซาร่าลงสมัคร จะเป็นการแข่งขันสูสีคู่คี่กันมากเรียกว่าหายใจรดต้นคอกับผู้ที่โพลล์พบว่าคะแนนนิยมมาอันดับสอง สาม สี่ ห้า

ผู้ที่มีความนิยมอันดับสองคือ เฟอร์ดินัน มาร์คอส จูเนียร์ หรือ บองบอง ลูกชายอดีตเผด็จการ อันดับสามคืออดีตนักแสดงที่ไต่เต้าเป็นนายกเทศมนตรีเมืองมะนิลา อันดับสี่แมนนี่ ปาเกียวนักมวยสากลที่เคยมีเข็มขัดแชมเปี้ยนถึงแปดรุ่น ที่ตามหลังปาเกียวมาติดๆ คือรองประธานาธิบดี เลนี่ โรเบรโด

“มันเป็นเกมส์ที่ทุกคนมีสิทธิ์ชนะ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์คาเมล วี อาบาว จากภาควิชารัฐศาสตร์การปกครองมหาวิทยาลัยเอติเนียว กล่าวเสริมว่า “การลงคะแนนเสียงเหมือนกับสังคมทำประชามติหาคนที่มีธรรมาภิบาลหลังจากหกปีภายใต้การปกครองของดูเตอร์เต”

“ปาเกียว” เป็นอดีตแชมเปี้ยนนักมวยสากลไต่เต้าจากความจนมาเป็นนักมวยอาชีพผู้มั่งคั่ง สร้างความสั่นสะเทือนให้กับผู้สมัครหลายคน เขาเติบโตในมินดาเนา และมินดาเนาเป็นฐานเสียงที่มั่นคงของดูเตอร์เตเสียด้วย

ปาเกียวเริ่มเล่นการเมืองในปี 2553 ได้รับเลือกเป็น สส.และชนะเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2559 ปาเกียวต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เขาเคยพูดว่าผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันว่า “เลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์”

ในอดีตปาเกียว เป็นผู้สนับสนุนดูเตอร์เตตัวยง เขาสนับสนุนการทำสงครามยาเสพติดอย่างโหดเหี้ยม ปาเกียวช่วยดูเตอร์เตในการกดดันให้วุฒิสมาชิกนางเลลา เดอ ลิม่า พ้นจากตำแหน่งกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพราะเธอเรียกร้องให้สอบสวนการสังหารและดำเนินคดีผู้ต้องหาค้ายาเสพติด

แต่ระยะหลังปาเกียวกับดูเตอร์เตบาดหมางกันเมื่อปาเกียววิจารณ์ดูเตอร์เตอย่างรุนแรงโดยกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นและพูดว่าดูเตอร์เตหงอจีนเกินไป เขาสนับสนุนให้ศาลโลกสอบสวนสงครามยาเสพติด นักวิเคราะห์ทำนายว่าเขาจะแย่งคะแนนเสียงของดูเตอร์เตได้พอสมควรเพราะมาจากมินดาเนาด้วยกัน

เฟอร์ดินัน มาร์คอส จูเนียร์ หรือ บองบอง เป็นลูกชายคนเดียวของอดีตเผด็จการมาร์คอสผู้ซึ่งปกครองประเทศด้วยอำนาจเผด็จการตั้งแต่ 2515 ถึงปี 2529 และถูกกล่าวหาว่าปล้นเงินกองคลังไปพันล้านดอลลาร์ขณะที่ปกครองประเทศภายใต้กฎอัยการศึกแต่บองบอง ไม่สนใจข้อกล่าวหาบิดาผู้ล่วงลับ

ครอบครัวมาร์คอส มีอิทธิพลมีเงินและพยายามสร้างชื่อเสียงเขาให้เป็นที่ยอมรับของสังคมจนบองบองได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฮิเลคอส นอร์เต้ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี2559 บองบองสมัครเป็นรองประธานาธิบดีแต่แพ้ให้กับ เลนี่ โรเบรโด

“บองบอง” หรือ มาร์คอส จูเนียร์ เป็นพันธมิตรกับดูเตอร์เตผู้อนุญาตให้นำศพของบิดาเขาได้ฝังในสุสานวีรชน บองบองประกาศว่าเขาไม่ให้ราคาศาลโลก “ศาลโลกมาฟิลิปปินส์ได้ในฐานะนักท่องเที่ยวเท่านั้น” บองบอง กล่าว

เลนี่ โรเบรโด อดีตทนายสิทธิมนุษยชน และรองประธานาธิบดี ที่วิจารณ์ดูเตอร์เตอย่างรุนแรงในประเด็นสงครามยาเสพติดซึ่งเธอพูดว่า“เป็นการฆ่าอย่างไร้สาระ”

โรเบรโดได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาคองเกรสในปี 2556 สามปีต่อมาเธอคว่ำมาร์คอส จูเนียร์ ในการแข่งขันชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เธอได้รับการเลือกตั้งจากทีมที่เป็นคู่แข่งกับดูเตอร์เต ความสัมพันธ์ของประธานาธิบดีกับรอง ปธน. จึงเย็นชา

เธอเป็นคนปากกล้าวิจารณ์ดูเตอร์เตทั้งเรื่องที่หงอจีน ปราบปรามยาเสพติดและเรื่องการระบาดโควิด-19 โรเบรโดวางตัวเองในฐานะฝ่ายค้าน และหวังจะโกยคะแนนจากความโกรธแค้นชิงชังของประชาชนเรื่องโรคระบาดโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ดิ่งเหว

อิสซา โมเรโน ผู้ว่าฯมะนิลาและอดีตดารานักแสดง อิสซาเติบโตในครอบครัวยากจน ในวัยเด็กเขาอาศัยอยู่ในเขตโทนโด เป็นแหล่งยากจนแห่งหนึ่งของกรุงมะนิลา เขาเล่าว่าเคยเก็บขยะเก็บขวดขายคนซื้อของเก่าและหากินเศษอาหารที่เหลือตามภัตตาคารแมวมองเห็นแววดาราเมื่อเขาอายุ 18 ปีและชักนำเข้าวงการละครทีวีมีชื่อการแสดงว่า อิสซา โมเรโน (ชื่อจริงของเขาคือฟราสซิสโก โดมาโกโซ) ดูเตอร์เตเคยเยาะเย้ยเขาว่าเป็น call boy จากบทบาทละครทีวีที่เขาแสดง

โมเรโน เริ่มงานการเมืองเป็นสมาชิกเทศมนตรีเมืองมะนิลา และเลื่อนขั้นมาเป็นรองนายกเทศมนตรี ในปี 2562 เขาได้เป็นนายกเทศมนตรีของเมืองหลวง นโยบายของเขาคือจัดการให้หาบเร่แผงลอยหมดไปจากถนน เขามีชื่อเสียงจากการรณรงค์เพื่อความสะอาด โมเรโนวิจารณ์การบริหารการจัดการระบาดโควิด-19 ของดูเตอร์เต ตลอดถึงการล็อกดาวน์ที่ยาวนาน เขาสนับสนุนให้ศาลโลกสอบสวนสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เต โมเรโน วางตัวในฐานะผู้เยียวยาและหวังดึงคะแนนจากทุกฝ่ายเพราะเขาไม่มีขั้วการเมือง

ซาร่า ดูเตอร์เต กล่าวว่าเธอไม่สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ล่าสุดมีรายงานว่าเธอส่งใบสมัครลงแข่งขันตำแหน่งรองประธาธิบดีและแต่ถ้าทำข้อตกลงกับบองบองได้เธออาจกลายเป็นประธานาธิบดี

ผู้สนับสนุนซาร่า อ้างว่าเธอมีแบบฉบับที่ดีกว่าบิดา ซาร่าเป็นนักบริหารที่ดีและไม่หุนหันพลันแล่นเหมือนพ่อ แต่นักวิจารณ์พบว่าเธอมีนิสัยชอบทะเลาะวิวาทเหมือนบิดา มีอยู่ครั้งหนึ่ง ซาร่าตบหัวนายอำเภอสี่ครั้งเพราะโกรธที่เขาไม่ฟังคำสั่งและไม่ปฏิบัติตามใจเธอ ซาร่าไม่ต่างจากบิดาที่อนุมัติให้วิสามัญฆาตกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า

เธอส่งใบสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในขณะที่ศาลโลกสอบสวนการวิสามัญฆาตกรรมในเมือง ดาเวา ระหว่างเดือนพ.ย. 2554 และ 30 มิ.ย. 2559 ในห้วงเวลาซึ่งสถานที่วิสามัญฆาตกรรมอยู่ในความรับผิดชอบของเธอ

การเมืองในฟิลิปปินส์เหมือนกับการเมืองในประเทศไทยตรงที่นักการเมืองทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากลไว้ เมื่อใกล้เลือกตั้งถูกฝ่ายตรงข้ามขุดขึ้นมาประจาน นายดูเตอร์เตมีปัญหารุมเร้า เขาจึงตั้งความหวังสูงสุดไว้ที่ลูกสาวว่าจะช่วยเขาได้

#ซึ่งเหมือนกับอดีตนายกฯประเทศไทยที่หวังว่าลูกสาวคนโปรดจะพาเขากลับบ้านได้ แต่อาจต้องใช้พระนำ#

สุทิน วรรณบวร