“มวยไทย” ไม่ธรรมดา สมัยสุโขทัยมีสำนักสอน อยุธยามีกรมมวย! สมัยนี้สอนถึงระดับปริญญาเอก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“มวยไทย” กำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐาน แต่ศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัยมีกล่าวถึงมวยไทยไว้แล้ว และมีสำนักสอนที่มีชื่อเสียงก็คือ สำนักสมอคอน ของสุกทันตฤาษี ที่เมืองลพบุรี ศิษย์ของสำนักนี้ก็คือ พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนเม็งราย และพ่อขุนงำเมือง ซึ่งการรบของยุคนั้นใช้หอกดาบ จึงใช้มวยไทยเข้าร่วมด้วย เช่นเตะถีบคู่ต่อสู้ให้เสียหลักแล้วฟันแทงได้สะดวก

ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งกล่าวถึงกฎหมายของพระเจ้ามังรายหรือมังรายศาสตร์ ในสาเหตุของการวิวาท ๑๖ ประการ มีกล่าวถึง “ต่อยกัน” และการพนันไว้ด้วย แต่ถือว่าการชกมวยเป็นศิลปะป้องกันตัว ไม่เป็นการพนัน จึงไม่มีการเก็บภาษี และมีการจัดเวทีมวยชั่วคราวตามงานวัดเป็นประจำ นอกจากจะมีการฝึกหัดตามสำนักต่างๆแล้ว ยังมีการฝึกมวยไทยตามวัด เช่นเดียวกับวิชาการแพทย์ ศิลปะ การฝีมือ การเขียนอ่าน การฝึกมรรยาท และวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวในแบบต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันประเทศ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ เจ้าเมือง และเจ้านายชั้นสูง นิยมมีทนายไว้รักษาความปลอดภัยประจำพระองค์ ซึ่งทนายนั้นก็คือนักมวยฝีมือดีผ่านการคัดเลือกมา เรียกว่า “ทนายเลือก” โดยให้คัดเลือกชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือจัดชกมวยหน้าพระที่นั่ง คัดเลือกเอาผู้ที่มีฝีมือเลิศไว้เป็นทหารรักษาพระองค์ ทั้งยังให้มีหน้าที่ฝึกมวยให้ทหารและพระราชโอรส เรียกว่า “กองทนายเลือก” บางครั้งก็เรียก ตำรวจหลวง ทนายตำรวจ หรือ กรมนักมวย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมหลวง หรือ กรมมวยหลวง มีมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงความนิยมชกมวยในสมัยนั้นว่า “…มีการชกมวย หมัด ศอก เข่า และเท้า ผู้คนนิยมกันมากจนบางคนยึดเป็นอาชีพ…” และกล่าวถึงลักษณะการชกมวยไทยว่า มีการชกมวยกันกลางพื้นดินใช้เชือกกั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส นักมวยไม่สวมนวม แต่ถักหมัดด้วยด้ายดิบ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือนและเร้าใจผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง

ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงศึกษาศิลปะมวยไทยและกระบี่กระบองมาตั้งแต่พระชนม์ ๙ พรรษาที่วัดโกษาวาศน์ และทรงฝึกหัดมวยไทยจากทนายเลือกในพระราชวังและสำนักมวยอีกหลายสำนัก ทั้งเสด็จทอดพระเนตรการชกมวยอยู่เสมอ มีสำนักมวยตามหมู่บ้านทั่วไป แต่ในรัชกาลนี้มีพ่อค้าได้นำปืนคาบศิลาเข้ามาถวายกันมาก จึงทำให้ความสำคัญของมวยไทยในกองทัพลดลง แต่มีการจัดในงานเฉลิมฉลองต่างๆ เช่นงานบวชนาค งานสงกรานต์ วันถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และการชกมวยหน้าพระที่นั่ง ทนายเลือกจะจัดให้มีการคัดเลือกนักมวยมาเปรียบมวยคล้ายกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนกติกาการแข่งขันยังคงใช้วิธีการเดียวกับสมัยอยุธยา คือชกไม่มีการให้คะแนน มีการพักระหว่างยก คือหนึ่งยกใช้กะลาเจาะรูวางบนน้ำ เมื่อกะลามีน้ำเข้าเต็มจมลงถือว่าหมดยก จะหยุดพักให้คู่ที่ ๒ ขึ้นชกยกที่ ๑ หลังจากนั้นจึงให้คู่ที่ ๓-๔-๕ ชกต่อจนหมดคู่แล้วจึงย้อนกลับมาให้คู่ที่ ๑ ชกยกที่ ๒ ต่อไป และนักมวยต้องชกกันจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอมแพ้ ในสมัยกรุงธนบุรีนี้ได้พบหลักฐานจากโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า มีการแข่งขันมวยหญิงด้วย

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ ปรากฏในพงศาวดารว่ามีนักมวย ๒ พี่น้องชาวฝรั่งเศส แล่นสำเภาเข้ามาท้าพนันชกกับมวยไทย วางเดิมพัน ๕๐ ชั่ง ครั้นไทยจะไม่เล่นด้วยก็จะหาว่าไม่มีนักมวยดี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ขอพระบรมราชานุญาตรับคำท้าฝรั่งเพื่อรักษาศักดิ์ศรีมวยไทย แล้วส่ง หมื่นผลาญ ซึ่งเป็นทนายเลือกวังหน้าขึ้นสู้กับฝรั่ง ศึกครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเสด็จไปทอดพระเนตรด้วย

ฝรั่งถือว่าตัวใหญ่กว่าจะใช้วิธีจับกระดูกไหปลาร้าหักลูกเดียว แต่หมื่นผลาญทาน้ำมันว่านไว้จับไม่ติด ใช้วิธีเตะถีบต่อยแล้วถอย นักมวยฝรั่งเลยโดนครบเครื่องมวยไทยไปฝ่ายเดียว ฝรั่งผู้พี่เห็นว่าน้องชายชักไม่ไหวเลยใช้มือดันหลังหมื่นผลาญไว้ไม่ให้ถอย กรมพระราชวังบวรฯทอดพระเนตรดังนั้นรับสั่งว่า ชกพนันกันตัวต่อตัวไฉนช่วยกันเป็นสองคนเล่า ว่าแล้วก็ทรงเผ่นไปที่เวที ยกพระบาทถีบฝรั่งผู้พี่กระเด็นไป ทันใดทนายเลือกทั้งหลายก็ตามเสด็จ ทำเอาฝรั่งสองพี่น้องหมอบคาเวที ต้องหามกลับสำเภา พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งหมอไปช่วยรักษาให้

เมื่อครั้งสุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาทในปลายปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ได้แต่งนิราศพระบาท ตอนหนึ่งว่า

ละครหยุดอุตลุดด้วยมวยปล้ำ ยืนประจำหมายสู้เป็นคู่ขัน

มงคลใส่สวมหัวไม่กลัวกัน ตั้งประจันจดจับกระหยับมือ

ตีเข่าปับรับโปกสองมือปิด ประจบติดเตะผางหมัดข้างหวือ

กระหวัดหวัดหวิวผวาเสียงฮาฮือ คนดูอื้อเออเอาสนั่นอึง

 

นิราศบทนี้แสดงให้เห็นว่า การชกมวยในสมัยนั้นจะสวมมงคลไว้ที่ศีรษะด้วยขณะชก

 

สมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นยุคของวรรณคดีไทย ในรัชสมัยนี้ปรากฏมีการบันทึกเรื่องมวยไว้ในวรรณคดีหลายเรื่อง บางเรื่องก็เป็นพระราชนิพนธ์ในพระองค์เอง เช่นใน “สังข์ทอง”

 

บัดนั้น ประชาชนคนดูอกนิษฐ์

 

เห็นเหาะทั้งสองข้างต่างมีฤทธิ์ ให้คิดพิศวงงงงวย

บ้างแหงนหน้าอ้าปากตะลึงตะไล แลดูภูวไนยเอาใจช่วย

 

เบียดเสียดเยียดยัดดังดูมวย แซ่ซร้องร้องอำนวยอวยชัย

ใน “ขุนช้างขุนแผน”

มีทั้งโขนละครมอญรำมวยปล้ำค่ำลงจงมีหนัง

ตีประโคมฆ้องกลองให้ก้องดัง ให้หีบตั้งใส่ศพให้ครบครัน

ใน “สิงหไกรภพ”

ให้เปรียบคู่ผู้หญิงชกมวยปล้ำ ข้างหนึ่งดำข้างหนึ่งขาวสาวขยัน

 

กางเกงลายสายถักเสื้อกั๊กกัน ต่างตั้งมั่นเหม่นเหม่คนเฮฮา

 

เข้าทุบทอยต่อยตะกายป่ายปุปปับ เสียงตุบตับเตะผ่างถูกหว่างขา

กางเกงแยกแตกควากเป็นปากกา ผู้ชายฮาเฮลั่นสนั่นดัง

 

ต่างเหนื่อยหอบหมอบทรุดให้หยุดอยู่ จูงมือคู่ปล้ำเข้ามาหน้าที่นั่ง

ต่างประหม่าหน้าตื่นยืนเก้งกัง เขาทุบหลังให้บังคมประพรมน้ำ

แล้วลุกขึ้นยืนประจัญขยั้นขยับ เข้ายุดจับขาแข้งแย่งขยำ

 

ต่างกอดเกี่ยวเกลียวกลมล้มคะมำ คนหนึ่งคว่ำคนหนึ่งหงายผู้ชายฮา

ขึ้นอยู่บนคนคว่ำขยำขยิก คนล่างพลิกผลักแพลงไขว้แข้งขา

กอดประกับกลับไพล่พลิกไปมา คนดูฮาเฮสนั่นครั่นไป

ข้อสังเกตในเรื่องนี้ก็คือ ในสมัยนี้มีการชกมวยปล้ำผู้หญิงหน้าพระที่นั่ง ไม่ใช่จะมีแต่ในหมู่ผู้ชายชาติทหาร ผู้หญิงก็มีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้แขนงนี้ได้เช่นกัน

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ปรากฏคำกลอนที่กล่าวถึงการชกมวยผู้หญิงในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ ดังนี้

 

แล้วพระองค์ทรงสั่งให้ตั้งแต่ง ศพตำแหน่งน้องพระมเหสี

 

มีโขนหนังตั้งสมโภชโปรดเต็มที แล้วให้มีมวยผู้หญิงทั้งทิ้งทาน

 

สมัยนี้มีการเขียนท่ามวยลงในสมุดข่อย เป็นภาพแม่ไม้มวยไทย ๑๕ ท่า รวมทั้งไม้แก้ ปัจจุบันเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ

สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงเล่นกระบี่กระบองและชกมวยในงานสมโภชหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อขึ้นครองราชย์ก็โปรดพระเจ้าลูกยาเธอหัดกระบี่กระบองและมวยไทยหลายพระองค์ การชกมวยในรัชกาลนี้ยังใช้กติกาแบบต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คาดเชือกไม่สวมนวม เชือกที่คาดหมัดสามารถทำเป็นปมก้นหอยได้

สมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระปิยมหาราชก็ทรงฝึกหัดมวยเหมือนกันจากสำนักมวยหลวง โดยมีปรมาจารย์มวยในสมัยนั้นคือ หลวงพลโยธานุโยค ครูมวยหลวงเป็นผู้ฝึกสอน ในรัชกาลนี้การฝึกหัดมวยไทยได้แพร่หลายไปตามหัวเมืองต่างๆ มีการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งในงานศพของกรมขุนมรุพงศิริพัฒน์ ที่ ท้องสนามหลวง เจ้าเมืองต่างส่งนักมวยฝีมือดีมาแข่งขัน มีบางคนได้รับ

พระราชทานบรรดาศักดิ์ คือ นายปรง จากมณฑลชุมพร เป็น หมื่นมวยมีชื่อ นายกลึง จากเมืองลพบุรี เป็น หมื่นมือแม่นหมัด นายแดง จากมณฑลนครราชสีมา เป็น หมื่นชงัดเชิงชก จากการแข่งขันครั้งนี้ทำให้มวยไทยตื่นตัวขึ้นทุกจังหวัด ส่วนกรมทนายเลือกที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยังมีอยู่ ทรงคัดนักมวยฝีมือดีให้ตามเสด็จในที่ไม่สมควรให้เห็นว่ามีคนถืออาวุธคุ้มกัน ส่วนโรงเรียนมหาดเล็กและโรงเรียนนายร้อยที่ตั้งขึ้นในสมัยนี้ก็มีวิชามวยไทยรวมอยู่ด้วยในหลักสูตร โดยมี ร้อยเอกหลวงเจนกระบวนหัด เป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

สมัยรัชกาลที่ ๖ กระทรวงธรรมการจัดตั้งสถานฝึกหัดครูพลศึกษาขึ้น คือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปัจจุบัน วิชาที่สอนได้แก่วิชามวยไทยและยิมนาสติกส์ โปรดให้มีการแข่งขันชกมวยเพื่อหาเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า โดยมีนักมวยฝีมือดีจากหัวเมืองเข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้มีนักชกมวยฝีมือดีเกิดขึ้นมาก ใน พ.ศ. ๒๔๕๕ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล สำเร็จการศึกษามาจากประเทศอังกฤษได้นำวิชามวยสากลมาสอนให้คณะครูที่สามัคยาจารย์เป็นครั้งแรก และได้ทรงร่างกติกามวยฝรั่งขึ้น ในที่สุดมวยฝรั่งได้แพร่หลายไปตามโรงเรียนทั่วราชอาณาจักรอย่างรวดเร็ว ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ กระทรวงธรรมการจัดให้มีการแข่งขันมวยฝรั่งระหว่างนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก กระทรวงหมาดไทยได้ร่างกติกาคุ้มครองมวยและมวยฝรั่ง เพื่อเป็นการแข่งขัน และออกกฎกระทรวงว่าด้วยเงื่อนไขในการอนุญาตให้เล่นการพนันได้ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๐

การแข่งขันมวยไทยในสมัยนี้ช่วงต้นยังนิยมการคาดเชือก แต่กำหนดจำนวนยกไว้ โดยให้สัญญาณชกและหยุดชกด้วยเสียงตะโกนหรือเสียงนกหวีด สนามมวยทีมีชื่อเสียงสมัยนั้นก็คือ สนามสวนกุหลาบ สนามสวนเจ้าเชษฐ์ ก่อนที่จะมีสนามมวยราชดำเนินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปี ๒๔๘๘ และสนามมวยลุมพินีของกองทัพบกในปี พ.ศ.๒๔๙๖

ข้อมูลเหล่านี้มาจาก “ศาสตร์และศิลปะมวยไทย” โดย สำราญ สุขแสวง วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี ซึ่งเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรมวยไทยศึกษามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จัดการเรียนการสอน ๔ ระดับ คือ ระดับปริญญาตรี ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก เป้าหมายที่สำคัญในอนาคต วิทยาลัยมวยไทยศึกษาจะจัดการศึกษาทางไกลผ่านเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ