เวลา 04.00 น. คือเวลาที่ทีมงาน THE STANDARD ของเรานัดพบเจอกันที่ออฟฟิศย่านพระราม 9 ก่อนออกเดินทางไปยังศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ มวกเหล็ก เพื่อสัมภาษณ์ สด-ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยรุ่นเฟเธอร์เวต 57 กิโลกรัมชาย และหนึ่งในนักกีฬาที่คว้าสิทธิ์ไปแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกในปีนี้ ที่กำลังเก็บตัวฝึกซ้อม เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน
เราเดินทางมาถึงในเวลา 06.00 น. ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น และเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของการฝึกซ้อมที่แคมป์นักมวยทีมชาติจะทำกันเป็นประจำ คือเริ่มต้นฝึกซ้อมร่างกายในยิม ก่อนจะออกมาวิ่งด้านนอกที่บริเวณสนามฟุตบอลในช่วงครึ่งวันเช้า
เรามองเห็น สด-ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี นักกีฬาวัย 35 ปี ในฐานะรุ่นพี่ จะเป็นผู้นำการฝึกซ้อม ทั้งการชกลม ฟิตซ้อมร่างกาย จนถึงการนำวิ่งออกกำลังกาย และหลังจากที่การฝึกซ้อมช่วงเช้าทั้งหมดจบลง
ฉัตร์ชัยเดชาทำหน้าที่ผู้นำนักกีฬาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอน ก่อนจะกล่าวคำย้ำเตือนสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในกีฬาคือ
“สุดสามารถขาดวินัยก็ไร้ค่า”
ในวัย 35 ปี ฉัตร์ชัยเดชาผ่านโอลิมปิกมาแล้วถึง 2 สมัยในปี 2012, 2016 และกำลังจะไปแข่งขันสมัยที่ 3 เป็นสมัยสุดท้ายที่กรุงโตเกียว ในปี 2021
ฉัตร์ชัยเดชาประสบความสำเร็จบนเวทีระดับซีเกมส์ด้วยเหรียญทอง 4 สมัย บวกกับรายการต่างๆ อีกมากมาย
แต่เหรียญโอลิมปิกคือเป้าหมายที่เขารอคอย ก่อนจะยุติเส้นทางอาชีพนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย
โดยก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้เดินทางไปพูดคุยกับฉัตร์ชัยเดชาที่บ้านในชุมชนคลองเตย เขาได้พาเราชมเหรียญและถ้วยรางวัลต่างๆ ในตู้โชว์ พร้อมกับทำให้เราได้พบเจอกับสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดในชีวิต นั่นคือครอบครัวของเขา
ฉัตร์ชัยเดชาได้เล่าให้ฟังถึงวันเวลาที่เขาเฝ้าคอยจะกลับบ้านมาพบเจอครอบครัวที่สนันสนุนเขามาตลอดในเส้นทางที่เขาเดิน แต่ก็มีหลายครั้งที่เขาเสียใจที่ไม่ได้ใช้เวลากับครอบครัว จนทำให้เขาอยากตัดสินใจเลิกชกมวยมาแล้วหลายครั้ง
“พี่รู้หรือเปล่า ผมอยากเลิกมากตอนนี้” ฉัตร์ชัยเดชา นักมวยสากลทีมชาติไทย ยอมรับออกมากลางสังเวียนฝึกซ้อมที่มวกเหล็ก ซึ่งเขาใช้สำหรับการเตรียมพร้อมไปแข่งขันโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเขา
“เพราะผมคิดว่าผมใช้ชีวิตกับมวยมากเกินไปจนผมไม่ได้กลับไปดูแลครอบครัวเลย นี่พี่ดูสิ อยู่ที่นี่ทั้งปี ปีใหม่ สงกรานต์ก็ไม่ได้กลับ คือถ้าไม่มีแมตซ์ก็อาจจะได้กลับ ถ้ากลับก็ต้องรีบกลับ
“กลับบ้านก็ต้องกลับมาซ้อม คือจนกระทั่งลูกสาวผมไปเรียนไปมีกิจกรรมวันพ่อวันแม่อะไรก็แล้วแต่คริสต์มาสมีแต่แม่ไป จนเขาพูดกับผมว่า มีกิจกรรมที่โรงเรียนเขาไม่เคยเห็นพ่อมาเลย ถ้าหมดโอลิมปิก ผมอยากไปดูแลเขา”
จากการตามรายงานมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยมาเป็นเวลาหลายปี เรามักจะได้เห็นนักมวยสากลทีมชาติไทยคนนี้ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและสีหน้าที่พร้อมขึ้นชกครั้งต่อไป
แต่วันนี้เราได้เห็นน้ำตาของเขาไหลออกมาเป็นครั้งแรก เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เขาให้ความสำคัญที่สุด แต่กลับไม่มีเวลาให้กับสิ่งนั้นตลอดมา
“ตอนผมไปต่อยโอลิมปิกที่อังกฤษ 2012 แฟนผมท้องอยู่ แฟนผมต้องมาดูผมแข่งทั้งที่เขาอยากจะคลอด แล้วผมกลับมาจากโอลิมปิกได้ประมาณหนึ่ง ลูกผมเกิดมา เมียผมมาเคาะประตู ผมยังไม่มีเวลาไปดูแลเขาเลย เพราะเราต้องเต็มที่กับทุกอย่างในเมื่อเราอยากอยู่ตรงนี้”
โอลิมปิกที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล คือโอลิมปิกครั้งล่าสุดที่เขาต้องพบเจอกับความผิดหวังในมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขารู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของคนที่รอคอยติดตามเขาจากที่บ้าน
“ผมไปต่อยโอลิมปิก 2016 ต่อยบ้านเราประมาณตีสองตีสาม ลูกสาวผมตอนนั้นก็สี่ขวบห้าขวบ เขาก็ยังต้องลุกขึ้นมาเชียร์ผม วันแรกชนะอังกฤษก็ดีใจใช่มั้ยครับ แต่รอบที่แพ้รัสเซีย มันเป็นไฟต์ที่มันค้านสายตา มันดูแล้วมันไม่ใช่ นักข่าว ช่างภาพเขาไปถ่ายที่บ้านแฟนผมก็คือจะชูมือเตรียมถ้าดีใจ พอชูมือเป็นฝั่งโน้นแฟนผมก็อึ้ง ลูกสาวผมก็ร้องไห้ มันเป็นภาพติดตาผมเลยพี่วันนั้น
“จนมาถึงครั้งที่สามครั้งนี้ ผมติดใช่ไหมดีใจมาก เราทำสำเร็จแล้ว เราได้ไปโอลิมปิกเป็นครั้งที่สาม แล้วปีนี้เราจะพอแล้ว เขาเรียกว่ามันถึงเวลาที่เราต้องพอ ต้องไปดูแลครอบครัวแล้ว”
ความเจ็บปวดของการเลื่อนแข่งขันโอลิมปิกออกไปอีกหนึ่งปีจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เวลาที่เขาตั้งเป้าจะวางมือและไปใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นก็ถูกเลื่อนไปพร้อมๆ กัน
“พอมันเลื่อนไปอีกปีหนึ่งผมแบบ…โอ้โหคือ ก็พยายามคิดบวกนะครับ เพราะมันเลื่อนไปอีกปีหนึ่งเราก็ต้องแบบ…อีกแล้วเหรอ เราต้องมาทุ่มเทต้องมาเต็มที่กับตรงนี้ปีหนึ่ง
“ก็ต้องไม่ได้ดูแลครอบครัวไปอีกปีหนึ่ง แล้วต้องเหนื่อยอีกปีหนึ่ง แต่ก็คิดในทางที่ดีในทางที่บวก อย่างน้อยเรามีเวลาเตรียมตัวอีกปีหนึ่ง คิดซะว่าเราได้ตั๋วไปแล้ว ก็ยังดีกว่าคนที่เขาไม่ได้ เขาก็ยังไปคัดกันอีก เราได้แล้ว เรามีตั๋วไปแล้ว เราไปทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุดดีกว่า ก็เลยมีกำลังใจซ้อมมันต่อ”
หลังจากการสัมภาษณ์จบลง สด ฉัตร์ชัยเดชา ก็กลับไปพักก่อนที่จะต้องกลับมาซ้อมช่วงบ่ายอีกรอบ โดยครั้งนี้เป็นการลงนวมกับรุ่นน้อง
ซึ่งเราได้เห็นความจริงจังของการชกจากทั้งสองฝั่ง แม้ว่าสดเป็นนักมวยรุ่นพี่ แต่รุ่นน้องที่ลงนวมด้วยก็ไม่ย่อท้อ ออกหมัดเกือบเต็มพลังจนเรารู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดทุกครั้งที่หมัดเข้าเป้าหมายตามร่างกายของอีกฝ่าย
สิ่งที่เราพบเห็นรอบๆ เวที คือ นักมวยรุ่นน้องหลายๆ คนที่เฝ้าคอยโอกาสเติบโตขึ้นมาเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันมวยสากล ทั้งชายและหญิง เราเห็นอดีตนักชก พ.ต.ท. วิจารณ์ พลฤทธิ์ นักชกเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ปี 2000 มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมทักษะความสามารถของนักกีฬาในแคมป์ทีมชาติไทย
มวยสากลสมัครเล่นช่วงที่ผ่านมาถือเป็นกีฬาที่มีความคาดหวังสูง จากความสำเร็จในอดีต ทั้ง สมรักษ์ คำสิงห์ ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกแรกให้กับทีมชาติไทยเมื่อปี 1996 ที่แอตแลนตา
มาจนถึงรุ่นต่อๆ มา โดยเฉพาะในโอลิมปิกปี 2008 ที่ สมจิตร จงจอหอ สามารถคว้าเหรียญทองในกีฬามวยสากลสมัครเล่น รุ่นฟลายเวต 51 กิโลกรัมชาย ซึ่งนับว่าเป็นเหรียญทองครั้งสุดท้ายของมวยสากลไทยในโอลิมปิก
หลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุครุ่นน้องที่ก้าวขึ้นมาสานต่อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สด ฉัตร์ชัยเดชา ที่ขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในมวยสากลทีมชาติไทยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อฟอร์มของนักมวยทีมชาติไทย คือ การปรับเปลี่ยนกติกาการแข่งขันต่างๆ จาก AIBA ที่ขยับเอารูปแบบของมวยสากลสมัครเล่นให้เข้าไปใกล้เคียงมวยสากลอาชีพมากขึ้น
ทั้งการให้คะแนนไปจนถึงการถอดเฮดการ์ด ทำให้นักมวยสากลต้องปรับตัวจากแค่ชกให้เน้นเข้าเป้าทำคะแนน อาศัยความไวชิ่งจังหวะหลบ มาตอนนี้พวกเขาต้องปรับมาเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้น
จนเมื่อโอลิมปิกปี 2016 ทัพมวยสากลทีมชาติไทยพบเจอกับความผิดหวังครั้งใหญ่ เมื่อเขากลับมาสู่ประเทศไทยแบบมือเปล่า ไม่มีเหรียญรางวัลติดมากับชื่อของนักมวยสากลทีมชาติไทย
เรายังจำภาพได้ดีที่เห็น สด ฉัตร์ชัยเดชา แพ้ วลาดิเมียร์ นิกิติน นักชกรัสเซีย แบบค้านสายตาแฟนๆ ในรอบ 16 คนสุดท้าย ที่สนามริโอเกมส์
เรายังจำภาพของ เอ็ม-วุฒิชัย มาสุข อีกหนึ่งความหวังเหรียญทองเมื่อปี 2016 ที่เดินออกจากสนามพร้อมกับน้ำตาตั้งแต่ประตูยิมจนถึงทางออกจากพื้นที่สนามโอลิมปิก และกล่าวกับเราว่า “สงสารพี่ๆ เขา ทุกคน เขาทำงานอย่างหนักจริงๆ แต่มาจบแบบนี้” ก่อนที่เขาจะเดินออกจากสนามไป
โอลิมปิกที่กรุงโตเกียวครั้งนี้จึงเป็นเหมือนกับจังหวะและโอกาสสุดท้ายของสดในการทำตามความฝันโอลิมปิก เพื่อความภาคภูมิใจของคนในครอบครัวและประเทศ ในฐานะนักกีฬาไทยคนหนึ่งที่เคยได้เหรียญรางวัลโอลิมปิก
แต่หลังจากจบการแข่งขัน สด ฉัตร์ชัยเดชา ก็จะเดินทางกลับมาทำตามสิ่งที่เขาต้องการมาตลอด นั่นคือกลับมาใช้เวลากับครอบครัวที่คอยสนับสนุนเขาตลอดมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชมคลิป: Olympic Series EP01: Pulse on the Ring – เส้นทางฝัน ศึกเจ้าสังเวียน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล