เมื่อเป็นตัวแทนของชาติ หรือแม้กระทั่งคนดังในประเทศ ก็ถึงเวลาที่คนเรานั้นจะต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นบุคคลสาธารณะ และสิ่งที่ตามมาคือชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม ทุกคนจะคอยจับตาทุกการกระทำ วันใดทำดีวันนั้นมีคำชม แต่ถ้าเกิดวันไหนทำไม่ถูกใจใครขึ้นมา … วันนั้นพวกเขาจะโดนซ้ำจนจมดิน
นี่คือเรื่องราวของ อิงเกมาร์ โยฮันส์สัน นักมวยชาวสวีเดน ที่ถูกคนสวีดิชซ้ำจนจมดินในวันที่เขาถูกปรับแพ้ในโอลิมปิกโทษฐาน “ไม่พยายามที่จะสู้”
การโดนปรับแพ้นั้น ทำให้เขาทำลายฝันของคนทั้งประเทศที่อยากเห็นเหรียญทองโอลิมปิกจากกีฬามวยสากลเป็นครั้งแรก จากฮีโร่ เขาโดนหยามว่าเป็น “ไอ้ขี้ขลาด” ผู้สร้างความอับอายให้กับสวีเดน
ทว่าเรื่องมันไม่จบเช่นนั้น … เพราะชายผู้เป็นตำนานกลับมาอีกครั้ง และหนนี้ชาวสวีดิชที่เคยด่าทอเขาถึงขั้นต้อง “หมอบกราบ”
นักชกสวีเดน
ชาติในแถบสแกนดิเนเวียนั้นไม่ได้มีจุดเด่นในกีฬาชกมวยมาแต่ไหนแต่ไหนไร ดินแดนแห่งนี้ทั้ง สวีเดน, เดนมาร์ก, นอร์เวย์, ไอซ์แลนด์ และ ฟินแลนด์ คือชาติที่ผลิตนักกีฬาในร่มไม่ว่าจะนักเทนนิส, นักแบดมินตัน หรือนักปิงปอง เสียมากกว่า
สวีเดนเองก็ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านของพวกเขา ประเทศแห่งนี้เป็นประเทศที่มีดัชนีค่าความสุขมากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก พวเขามีรัฐสวัสดิการที่คอยดูแลและสนับสนุนประชาชนในทุก ๆ ด้าน เพียงแต่ในช่วงยุค 50s-60s นั้น วงการมวยสากลยังไมได้เติบโตในวงกว้างนัก เพราะแชมป์โลกส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในแถบอเมริกาเหนือ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ เม็กซิโก
Photo : Sjobergbild.se
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของ เยนส์ อิงเกมาร์ “อิงโก” โยฮันส์สัน นั้นออกจะแตกต่างสวนทางกับผู้คนในดินแดนแห่งความสุขนี้ เมื่อเจ้าตัวชื่นชอบการชกมวยมาตั้งแต่ยังเด็ก แม้สวีเดนไม่ใคร่จะมีนักชกคนใดเป็นแรงบันดาลใจก็ตาม
การฝึกฝนในประเทศที่มวยไม่เป็นที่นิยมเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ อิงโก ยังคงเดินหน้าล่าฝันตัวเองอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีร่างกายที่แข็งแกร่งเกินกว่านักมวยในสวีเดนทั่วไป เพราะร่างกายใหญ่โต เนื้อตัวเยี่ยม มีกล้ามเนื้อมากกว่าไขมัน เรียกได้ว่าถ้าชกในประเทศตั้งแต่เด็กจนโต ไม่มีใครเอา อิงโก ลงแม้แต่คนเดียว
“อิงโก เป็นคนที่มีร่างกายแข็งแกร่งมาก ร่างกายของเขาสามารถทนต่อความเจ็บปวดได้นาน อึดเกินเหตุ จะว่าแบบนั้นก็ได้นะ” โอลอฟ โยฮันส์สัน บรรณาธิการเกี่ยกับกีฬาชกมวยในสวีเดนว่ากับ The New York Times
“ส่วนที่สำคัญของ อิงโก คือ เขาสูง 6 ฟุต (184 เซนติเมตร) มีน้ำหนัก 195 ปอนด์ (88 กิโลกรัม) แต่ที่เด็ดจริง ๆ คือความหนาของช่วงไหล่และอก แข็งโป๊กเลยล่ะ 2 จุดนี้ มันเป็นจุดที่ทำให้เขาสามารถใช้แรงเหวี่ยงหมัดขวาได้หนักหน่วง เป็นคนที่ชกสนุก ส่วนนอกเวทีก็มีเสน่ห์ พูดจาเก่ง เรียกว่าหล่อเลยแหละในสายตาของสาว ๆ ยุคนั้น” นั่นแหละคือเหตุผลว่าทำไมเวลาเจอคนสวีเดนด้วยกันหรือแม้กระทั่งในยุโรป อิงโก จึงเก็บเรียบด้วยหมัดขวาของเขา
ความโดดเด่นของ อิงโก ทำให้ในปี 1950 เขาถูกเรียกมาคัดตัวติดทีมชาติสวีเดนเพื่อลงแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปี 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ บ้านใกล้เรือนเคียงของสวีเดน
Photo : Wiki Wand
ทุกคนต่างหวังว่านักชกคนนี้จะทำให้ชาวสวีเดนชุ่มฉ่ำหัวใจ เพราะสำหรับยุคนั้น เชื่อว่าการเสพข่าวสารคงไม่ได้กว้างไกลครอบคลุมเหมือนทุกวันนี้ แฟน ๆ กีฬาอาจไม่รู้ว่าคู่แข่งที่ อิงโก จะต้องเจอเป็นใครมาจากไหน และอาจไม่ทราบว่ามวยอเมริกานั้นเข้าขั้นนำหน้าชาติอื่น ๆ ไปหลายก้าว
ณ เวลานั้น จึงทำให้พวกเขาคิดกันว่า อิงโก คือนักมวยที่เก่งที่สุดในโลก และน่าจะเอาชนะน็อกเอาต์ไปได้จนถึงรอบชิงเหรียญทอง … นั่นคือสิ่งที่หลายคนคิด และตั้งความหวังไว้อย่างสูงชนิดที่ตัวเขาเองก็ยังไม่แน่ใจว่า อะไรทำให้ผู้คนคิดไปได้ไกลขนาดนั้นตั้งแต่โอลิมปิกยังไม่ทันเริ่ม
โอลิมปิกของไอ้ขี้ขลาด
“ค้อนแห่งเทพเจ้าธอร์” คือฉายาที่สื่อสวีเดนเขียนกำกับไว้เป็นคำโฆษณาของ อิงโก มันแสดงถึงหมัดที่หนักเหมือนกับ “โยเนียร์” ค้อนของเทพเจ้าสายฟ้า … ทว่าการโฆษณาถี่ ๆ ทุกวันว่าเป็นตัวความหวังเหรียญทองทำให้กระแสของแฟน ๆ กีฬาเริ่มสนใจการชกมวยมากขึ้น ยิ่งเมื่อมีการสืบทราบว่า อิงโก ต่อยระดับสมัครเล่นด้วยสถิติไร้พ่ายแล้ว กระแสของ อิงโก ก็มาแรงแซงทุกโค้งในโอลิมปิกครั้งนั้น
แม้จะหนักอกหนักใจ แต่ ณ เวลานี้ อิงโก มีแต่ต้องไปต่อ เพราะเขาเก่งที่สุดในประเทศแล้ว หากถอดใจก็คงทำให้ใครหลายคนผิดหวัง ดังนั้น อิงโก จึงขึ้นชกและสอยเอาคู่แข่งชาติอื่น ๆ ร่วงเป็นใบไม้ตั้งแต่รอบแรก ๆ จนกระทั่งมาถึงวันที่ทุกคนรอคอย นั่นคือไฟต์ชิงเหรียญทองกับนักชก อเมริกันที่ชื่อว่า เอ็ด แซนเดอร์ส
Photo : Boxrec
เอ็ด แซนเดอร์ส เป็นเหมือนกับมนุษย์ยักษ์ ร่างกายใหญ่โตกว่าเด็กรุ่นเดียวกันตั้งแต่จำความได้ วันที่เขาลงแข่งโอลิมปิกในฐานะตัวแทนรุ่นเฮฟวี่เวตของสหรัฐอเมริกา แซนเดอร์ส เป็นนักมวยที่ตัวใหญ่ที่สุด ด้วยความสูง 6 ฟุต 4 นิ้ว (ราว 195 เซนติเมตร)
แม้จะเป็นมวยตัวโต แต่ แซนเดอร์ส นั้นถูกจัดในหมู่มวยสมองคนหนึ่ง เขาเฉลียวฉลาด หมัดหนัก และมักเลือกจังหวะชกได้เข้าเป้า คุณสมบัติทั้งหมดคือนักชกเหรียญทองในอุดมคติทั้งสิ้น
“หมัดซ้ายของเขาหนักยิ่งกว่าค้อนปอนด์ สำหรับผู้ชายที่ตัวยักษ์ขนาดนั้น เราแทบไม่เคยเห็นใครที่ทั้งหมัดหนักและเป็นมวยที่มีเชิงแบบเขามาก่อน” ดับบี้ โฮลท์ อดีตโค้ชมวยของมหาวิทยาลัย ไอดาโฮ ที่เคยฝึกสอนให้ แซนเดอร์ส ว่าไว้
สำหรับ อิงโก ที่ว่าตัวใหญ่แล้วเจอกับ แซนเดอร์ส ก็ถือว่าตัวเล็กไปเลย และหมัดแห่งเทพธอร์ที่ว่าหนัก ก็ต้องสั่น ๆ กันบ้างเมื่อเจอกับคนที่ตัวยักษ์อย่างกับ แซนเดอร์ส ดังนั้นหากจะชนะเหนือคนที่ทั้งต่อยหนัก และมีความเฉลียวฉลาดแล้ว อิงโก ต้องเตรียมตัวให้ดี เล่นเซฟเอาไว้ก่อนให้ปลอดภัย และตื๊อเข้าไว้ เพราะเป็นมวยรอง
ก่อนโอลิมปิกจะมาถึง อิงโก เก็บตัวในแคมป์พิเศษถึง 10 วัน โค้ชของเขาที่เก็งไว้ก่อนแล้วว่าเส้นทางไม่น่าจะหนีกันพ้น ประเมินการชกของ แซนเดอร์ส ในรายการก่อน ๆ และบอกแผนว่า อิงโก ควรจะปล่อยให้ แซนเดอร์ส เป็นฝ่ายเดินเข้าหา ส่วน อิงโก จะหลบหลีกและยั่วให้ แซนเดอร์ส เกิดอารมณ์หงุดหงิด ซึ่งจุดอ่อนของ แซนเดอร์ส คือถ้าหงุดหงิดเมื่อไหร่ สติจะกระเจิง และนั่นจะทำให้ อิงโก มีโอกาสชนะขึ้นมาบ้าง
Photo : The Ring
การฝึกเป็นไปตามแบบแผนจนวันชิงเหรียญทองมาถึง อิงโก ที่วางแผนมาแต่ไกล ใช้วิธีเต้นหนี ตั้งการ์ด และดึงจังหวะแบบที่ซ้อมมา แต่โชคไม่ค่อยดีนักที่ แซนเดอร์ส นั้นแม่นเกินคาด หมัดของ แซนเดอร์ส เข้าเป้าตั้งแต่ยกแรก นั่นจึงทำให้ อิงโก ถอยยิ่งกว่าเดิม … ซึ่งแฟนมวย ณ วันนั้นไม่พอใจเป็นอย่างมาก
ชาวสวีเดนหลายคนเดินทางมาฟินแลนด์เพื่อไฟต์นี้ เพราะการเดินทางไม่ได้ยากเย็น แต่การมาเห็นนักมวยของเขาเอาแต่ถอยแบบนี้ แฟน ๆ รับไม่ได้ พวกเขาเริ่มตะโกนด่าทอ อิงโก ดังขึ้นเรื่อย ๆ จนเวลาเดินทางมาถึงยกที่ 2 และจนกระทั่งถึงยกที่ 3 อิงโก ก็ยังหาจังหวะเข้าทำไม่ได้สักที เสี่ยงของแฟน ๆ ด่าหนักขึ้น จนกระทั่งกดดันกรรมการให้ตัดสิน “ปรับแพ้” ทันที โดยให้เหตุผลว่า อิงโก ไม่แสดงท่าทีในการต่อสู้
เท่านั้นแหละทั้งประเทศก็ผิดหวังถึงขีดสุด ก่อนเปลี่ยนมันเป็นความโกรธ อิงโก โดนสับเละตั้งแต่ยังไม่ลงจากเวที ระหว่างเดินเข้าห้องพัก แฟน ๆ ตะโกนใส่หูเขาว่า “ไปมุดกระโปรงแม่แกเลยไอ้ขี้ขลาดน่าละอาย”
จากนั้นทุกคนก็ตะโกนว่า “ขี้ขลาด” พร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เคราะห์กรรมของ อิงโก ยังไม่หมด เมื่อกรรมการในเวทีและฝ่ายจัดตัดสินใจจากท่าทีของเขาว่า … จะไม่ได้รับเหรียญเงินด้วย เพราะเป็นไฟต์ชิงชนะเลิศที่จืดที่สุด และชกได้อย่างไร้ศักดิ์ศรี
มาอย่างเทพ แต่กลับอย่างไอ้ขี้ขลาด … นั่นคือสิ่งที่ อิงโก ได้รับ และเขาต้องทนอยู่กับคำด่าทอต่อว่าเหล่านั้นไม่เว้นแต่ละวัน … แฟน ๆ ไม่ลืมเด็ดขาด เพราะสิ่งที่เขามันน่าละอายยิ่งกว่าการขึ้นไปชกแล้วแพ้อีกด้วยซ้ำ
Photo : DW
“เราขอประณามการกระทำของเขา มันช่างน่าละอายและขี้ขลาด ความปอดแหกของเขานำความอับอายมาสู่ประเทศสวีเดน” นี่คือจดหมายของประธานสมาคมมวยสวีเดน ที่อดรนทนไม่ไหว
ขณะที่สื่ออเมริกาก็สนุกกับการโดนริบเหรียญเงินของ อิงโก เป็นอย่างมาก พวกเขาพาดหัวโดยใช้คำเรียกอิงโกว่า “ไอ้เด็กน้อยใจเสาะ” และ “ไอ้หนูนุ่มนิ่ม”
ชีวิตของ อิงโก พังตั้งแต่วันนั้น เขาไม่มีอารมณ์ชกมวยอีกต่อไป เขาประกาศแขวนนวม และกลับไปพิจารณาตัวเองให้ชัดอีกครั้งว่า เมื่อความภูมิใจเดียวพังลง ชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป ?
ราชาคัมแบ็ค
6 เดือนที่ทนจับเจ่าจบลงแล้ว อิงโก ตัดสินใจกับตัวเองว่าเขาจะไม่ชกในนามทีมชาติสวีเดนอีกต่อไป และมันพอมีวิธีนั่นคือการเทิร์นโปรและชกมวยสากลอาชีพ ซึ่งถึงตรงนั้น เขาจะทำอะไรก็ได้มันเป็นสิทธิ์ของเขาทั้งหมด
เมื่อเทิร์นโปร อิงโก ก็เริ่มสร้างชื่อไปเรื่อย ๆ เขาชนะรวดมาถึง 21 ไฟต์ เหตุผลก็ที่เป็นเช่นนั้น อิงโก เล่าว่าหนนี้เขาฝึกในแบบของตัวเอง ชกในแบบของตัวเอง ไม่คิดจะปล่อยให้ใครสั่ง หรือวางแผนให้โดยที่เขาไม่ยอมรับอีกต่อไป
Photo : The Ring
เมื่อกลับมาเป็นตัวของตัวเอง อิงโก ก็ไล่น็อกนักชกสวีดิชและประเทศข้างเคียงจนหมดเกลี้ยง และได้ชกกับนักมวยอเมริกันที่ชื่อว่า เอ็ดดี้ มาเชน ในปี 1958 ซึ่งถือเป็นไฟต์ชิงสิทธิ์การขึ้นชกชิงเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวต ที่ ณ เวลานั้นอยู่บนเอวของ ฟลอยด์ แพทเทอร์สัน นักชกอเมริกันอีกคนที่ถูกเรียกว่า “ปีศาจ”
ซึ่งในไฟต์กับ มาเชน ที่เมืองโกเธนเบิร์ก เขาสามารถเอาชนะด้วยการน็อกเอาต์ตั้งแต่ยกแรก ดังนั้น สถานีต่อไปของเขาคือการไปชิงแชมป์โลกครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการเดินทางไปที่นั่นครั้งแรกของเขาด้วย คู่ชกคือ ฟลอยด์ แพทเทอร์สัน ชายผู้ว่ากันว่าเป็นเครื่องจักรน็อกเอาต์
เรื่องน่าตลกของคนเราคือ ในวันที่เราเป็นคนแพ้ ไม่เห็นมีใครจะอยากช่วยเหลือหรือให้กำลังใจ แต่วันใดที่เราเป็นคนดัง เป็นผู้ชนะและมีชื่อเสียง มีผลประโยชน์ขึ้นมา ผู้คนเหล่านั้นก็จะพลิกลิ้นและกลับมาหาเราราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน
ในกรณีนี้ เราน่าจะเปรียบเทียบได้กับแฟนมวยสวีเดนที่เคยด่าทอและเหยียดหยาม อิงโก เมื่อครั้งปี 1952 เพราะการชิงเข็มขัดแชมป์โลกครั้งนั้น รัฐบาลสวีเดนถึงขั้นประกาศเป็นวันหยุด ให้แฟน ๆ ได้ชมการถ่ายทอดสดเลยทีเดียว … จากไอ้ขี้ขลาด เขากลับกลายเป็นประกายความหวังแห่งวงการมวยสวีเดนอย่างไม่น่าเชื่อ
“ตอนนั้นคนทั้งประเทศเชียร์เขา แต่ก็แน่นอน ความกังวลถึงผลลัพธ์ในแมตช์ชิงแชมป์โลกหนนั้น (ว่าจะซ้ำรอยเมื่อครั้งโอลิมปิก) ยังคงมีอยู่” บก. โยฮันส์สัน ที่อายุ 12 ปี ในวันที่ อิงโก ชกกับ แพทเทอร์สัน กล่าว
Photo : Mutual Art
อิงโก ในปี 1958 กับ อิงโก ในปี 1952 เป็นคนละคนกันโดยสิ้นเชิง เมื่อครั้งโอลิมปิกเขาเต็มไปด้วยความกังวล เขายังเป็นวัยรุ่นมีแต่คนสั่งให้เขาไปทางซ้ายที ขวาที เขากังวลจนเกินไปในทุก ๆ เรื่อง และมันเกือบทำให้อาชีพของตัวเองพังลง ความผิดพลาดหนนั้นทำให้เขาเห็นนรกมาแล้ว มันเหมือนกับการเคยตายเพราะความพ่ายแพ้มาแล้ว 1 ครั้ง … เมื่อเคยตายมาแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล ไม่มีอะไรจะเลวร้ายกว่าครั้งนั้นได้อีก
“ผมเคยแพ้เมื่อในอดีต ตอนนั้นผมยังเด็ก ผมยังไร้ประสบการณ์ ผมไม่มีลูกล่อลูกชน ผมทำตามคนอื่นโดยไร้เงื่อนไข” อิงโก ว่าไว้
แต่ไฟต์กับโคตรมวยอย่าง แพทเทอร์สัน ที่ใครก็บอกว่าเขาแพ้แน่ ทุกอย่างเปลี่ยนไป อิงโก เล่าว่าสัญชาตญาณคือกุญแจสำคัญในไฟต์นั้น เขาเองก็ไม่มั่นใจเพราะว่าอะไรหมัดของเขาจึงเร็วขึ้นและหนักขึ้น อีกทั้งปอดของเขาก็ขยายใหญ่จนอึดขึ้นแบบไม่น่าเชื่อ
“มีบางอย่างแปลก ๆ เกิดขึ้นกับผม หมัดขวาของผมมีปฏิกิริยาที่ยากจะอธิบาย แขนขาของผมไปไวกว่าตาด้วยซ้ำ เหมือนกับว่าแค่คิดว่าจะชกไปทางไหน หมัดของผมก็วิ่งปรู๊ดโดยไม่รีรอ … ความรู้สึกนั้นแผ่ซ่านไปทั่วทั้งร่างกายเลยทีเดียว” อิงโก ว่าไว้
หมัดของ อิงโก ในไฟต์นั้นไวจริง ๆ ไวจนคนพากย์ในวันนั้นเรียกเขาว่า “อิงโก-บิงโก” (ต่อยตรงไหนก็เข้าเป้า) ยกที่ 1 และ 2 อิงโก ใช้วีธีดักแล้วชกแบบสวนกลับจนทำให้ แพทเทอร์สัน เริ่มร้อนรนเดินเข้าหาแบบมุทะลุ ทำให้ยกที่ 3 ทุกอย่างเข้าเป้า อิงโก ปล่อยหมัดฮุคซ้ายในจังหวะที่ แพทเทอร์สัน เผลอ แม้เขาจะป้องกันฮุคนั้นได้ แต่เผลอแวบเดียวราวกับเป็นแผนที่วางไว้ อิงโก ปล่อยหมัดขวาตรงที่ได้ฉายาแรงเหมือนกับ “ค้อนของเทพเจ้า” เปรี้ยงใส่หน้าเต็ม ๆ
หนนี้ แพทเทอร์สัน หมดฟอร์มแชมป์ เขาพยายามจะลุกขึ้นมาสู้ต่อแต่ก็ต้องลงอีกถึง 6 ครั้งในยกที่ 3 จนสุดท้ายผู้ตัดสินต้องสั่งหยุดชกและให้ อิงโก เป็นฝ่ายชนะน็อกไปในที่สุด
Photo : boxing King
ไม่เคยมีนักชกสวีเดนคนไหนเคยทำได้แบบที่เขาทำ อิงโก คือคนแรกในประวัติศาสตร์ และการสวมเข็มขัดแชมป์โลกเฮฟวี่เวตนั้น ทำให้เสียงวิจารณ์ที่เคยมี คำด่าที่เคยเจอ หวนกลับลำ 360 องศา กลายเป็นคำชมและคำสรรเสริญยกย่องเขาไปหมดแล้ว
ในวันที่ข่าวหน้าหนึ่งพาดหัวว่าเขาเป็นแชมป์ ชาวสวีเดนเฮกันลั่นประเทศ และพร้อมจะต้อนรับเขาแบบเต็มสตรีม โดยเฉพาะวันที่ อิงโก บินกลับสวีเดนบ้านเกิดนั้น รัฐบาลสวีเดนถึงกับต้องเอาเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวมารับให้เขาไปปรากฏตัวใน อุลเลวี สนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในเมืองโกเธนเบิร์ก ซึ่งมีแฟน ๆ รอดีใจกับเขาเต็มความจุของสนาม
ชีวิตก็เหมือนกับชกการชกมวย … แพ้ไปแล้วก็สามารถกลับมาแก้ตัวใหม่ได้เมื่อพร้อมในไฟต์รีแมตช์ นั่นคือสิ่งที่ อิงโก ตกผลึกในวันที่ทุกคนในประเทศนี้รักเขา จากที่เคยด่าทอด้วยความเกลียดชัง มันทำให้เขารู้ว่าถ้ายอมแพ้และเลิกชกมวย เท่ากับว่าเป็นการจบทุกอย่าง โดยเขาจะเป็นไอ้ขี้ขลาดตลอดไป … อิงเกมาร์ โยฮันส์สัน จะกลายเป็นแค่นักมวยผู้ไม่ยอมเดินหน้าชกคู่แข่งเลยแม้แต่หมัดเดียวจนโดนริบเหรียญเงิน ไม่ใช่แชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตคนเดียวในประวัติศาสตร์มวยสวีเดนเช่นนี้
“มวยน่ะ มันบอกอะไรคุณได้ บางครั้งคุณเหนื่อยสุด ๆ เมื่อนั้นร่างกายอาจจะสั่งให้คุณหยุดเพราะมันก้าวขาไม่ออกแล้ว แต่มันต้องมีอีกสักฮึบนึง … ฮึบของผมคือการกัดฟันสู้ สู้ไปจนถึงยกที่ 15 (สมัยนั้นชกกัน 15 ยก) ให้จงได้” เขาเล่าแนวทางการชกที่เปลี่ยนไป ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางการตัดสินใจและใช้ชีวิตของเขาด้วย
Photo : BR
การสู้จนได้ชัยชนะครั้งนั้นทำให้ อิงเกมาร์ โยฮันส์สัน ถือเป็นนักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในตำนานนักกีฬาชาวสวีเดน หลังเลิกชก แขวนนวมไปแล้ว อิงโก ยังคงเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีจนนาทีสุดท้าย เขากลายเป็นนักวิ่งระยะไกล และจบมาราธอนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง จนถือว่าเป็นคนดังในวงการมาราธอนเลยก็ว่าได้
จนกระทั่งในวัย 76 ปี อิงโก ที่มีอาการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์และสู้กับโรคมาหลายปีสู้ไม่ไหว เขาถอดเครื่องหายใจหลังจากหัวใจหยุดเต้นในปี 2009 และปิดตำนานที่แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีนักชกสวีเดนคนไหนทำได้เหมือนเขาอีกเลย