ในช่วงต้นของปฏิบัติการรุกรานยูเครน ไมโครซอฟท์ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก พบว่า มีแฮกเกอร์รัสเซีย ได้โจมตีทางไซเบอร์โดยพุ่งเป้าไปยังโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของยูเครน โดยไมโครซอฟท์ ได้เรียกการโจมตีนั้นว่า FoxBlade
นั่นเป็นหนึ่งในการโจมตีอันหลากหลายที่เกิดขึ้นครับ อีกหนึ่งช่องทางที่รัสเซีย ใช้ในการโจมตี เพียงแต่ว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการใช้ข้อมูลข่าวสาร ผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) หรืออาจเรียกว่า เป็นสงครามข้อมูลเต็มรูปแบบคงไม่ผิดนัก
อันที่จริง เทเลแกรม เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เชิงการเมืองมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงในประเทศไทย, เขตปกครองพิเศษฮ่องกง, เบลารุส รวมถึงยูเครนก็ได้ใช้เทเลแกรม เป็นช่องทางการสื่อสารเช่นกัน
ขณะที่ คณะผู้บริหารของประเทศยูเครน ได้มีการใช้ช่องทางเทเลแกรม เพื่อระดมพลให้ออกมาต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย และกระตุ้นให้คนทุกเพศทุกวัยที่มีความพร้อมออกมาจับอาวุธ
ในทางตรงกันข้าม ก็มีชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการข้อมูลอีกด้านที่ไม่ได้มาจากรัฐบาลเครมลิน พวกเขาเลือกใช้ช่องทางเทเลแกรมในการรับสื่อ โดยมีรายงานว่า ชาวรัสเซียใช้เทเลแกรมเพิ่มขึ้น 48 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่การเข้าไปรุกรานยูเครนเริ่มต้นขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า รัฐบาลรัสเซียได้ผ่านกฎหมายควบคุมข่าวปลอม ซึ่งหากข่าวใดก็ตามที่รัฐบาลมองว่า เป็นข่าวปลอม ก็มีสิทธิ์ที่จะมีโทษจำคุกนานถึง 15 ปีเลยทีเดียว นั่นจึงทำให้ช่องทางการรับข้อมูลในประเทศรัสเซียมีอยู่อย่างจำกัด แต่การมีอยู่ของเทเลแกรม ทำให้พวกเขาได้รับข้อมูลอีกทางหนึ่ง และเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เทเลแกรมเป็นแพลตฟอร์มอิสระ อยู่ในมือใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่อยู่ข้างยูเครน ใช่ครับ เทเลแกรมอยู่ในมือของฝ่ายรัสเซียได้เช่นกัน
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเครมลิน พยายามโฆษณาชวนเชื่อทุกประเภทบนแพลตฟอร์มเทเลแกรม ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอม, การปลอมเป็นนักข่าวสงครามเพื่อสนับสนุนการเล่าเรื่องของรัฐบาลเครมลิน ไปจนถึงการจัดทำวิดีโอดีปเฟก (Deepfake)
พร้อมกันนี้ สื่อที่รัฐบาลรัสเซียให้การสนับสนุนทั้งรัสเซีย ทูเดย์ และสปุตนิก นิวส์ ต่างก็มีช่องทางการสื่อสารอย่างจริงจังในเทเลแกรม
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ เทเลแกรม เป็นช่องทางที่รัฐบาลรัสเซียใช้งานเป็นหลัก นั่นเป็นเพราะว่า ความเข้มงวดในการตรวจสอบเนื้อหาของเทเลแกรมมีค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยอาจเป็นเพราะว่า เทเลแกรมมีข้อจำกัดการในการจัดการ หลายครั้งต้องได้รับการแจ้งเตือนจากผู้ใช้งานก่อนที่จะจัดการกับผู้ใช้งานที่ใช้งานผิดกฎหมาย รวมถึงการเข้ารหัสแบบ end-to-end ซึ่งยากที่จะแทรกแซง จนทำให้เป็นพื้นที่ที่ฝ่ายขวา โดยเฉพาะฝ่ายขวาสุดโต่งทางการเมืองนิยมใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารหลัก
ในขณะที่ผู้ใช้งานเทเลแกรมชาวยูเครน ไปจนถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ต่างพยายามที่จะบอกเล่าเรื่องราวการโจมตีนี้ในอีกเรื่องเล่าหนึ่ง ที่ตรงข้ามกับรัฐบาลเครมลิน
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจที่ต้องบอกด้วยว่า อันที่จริงชาวยูเครน มีความคุ้นชินกับการใช้งานเทเลแกรมมานานแล้ว เพราะนับตั้งแต่ปี 2019 ประธานาธิบดีเซเลนสกี ก็เคยใช้ช่องทางเทเลแกรม สื่อสารกับฐานเสียงของเขา ไปจนถึงในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พื้นที่ของเทเลแกรมก็กลายเป็นพื้นที่ของการสื่อสารภายใต้แชนแนล @COVID19_Ukraine
เมื่อกองทัพรัสเซียบุกเข้ามารุกรานอธิปไตย แชนแนลต่างๆ ของรัฐก็มีการเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วฉับพลัน กลายเป็นพื้นที่สื่อสารข้อมูลแบบเรียลไทม์ รวมถึงแชนแนลของเทเลแกรม ยังเป็นช่องที่สามารถรับสมาชิกได้อย่างไร้จำนวนจำกัด นั่นจึงทำให้การบอกต่อ ไปจนถึงการหักล้างข้อมูลข่าวสารจากเทเลแกรมของฝั่งรัสเซีย มีการกระจายออกไปอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้ใช้งานชาวยูเครน
ข้อมูลข่าวสารในประเด็นระหว่างรัสเซียและยูเครน มีการส่งต่อข้อมูลจากรัฐสู่ประชาชนในหลากหลายช่องทาง เช่น ในช่อง @UkraineNOW, ช่องของประธานาธิบดีเซเลนสกี, ช่องของวิตาลี คลิทช์โก้ อดีตนักมวยสากลอาชีพ รวมถึงช่องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลมิไคโล เฟโดรอฟ และมีการแตกย่อยช่องของแต่ละเมืองในประเทศยูเครน เพื่อช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารจำเป็นของท้องถิ่น
จนถึงบรรทัดนี้ คงสามารถกล่าวได้ว่า การโรมรันพันตูระหว่างรัสเซียและยูเครน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเชิงกายภาพ แต่ยังเกิดขึ้นบนโลกโซเชียลมีเดียอีกด้วย โดยมีเทเลแกรมเป็นสมรภูมิสำคัญในสงครามข้อมูลข่าวสาร