เจาะชีวิต “กำปั้นล้างบาป” เจ้าสังเวียนวัย 10 ขวบ ผู้ลบรอยเลือด “เพชฌฆาตคุณพ่อ”



เขาคือนักมวยเด็กที่มีอายุ 10 ขวบ คือคนที่ยอมต่อสู้ แลกหมัด ไม่เอาค่าตัว เพื่อนำเงินที่ได้ทำบุญหวังล้างบาปให้ผู้เป็นพ่อที่มีอาชีพ “เพชฌฆาต” ในเรือนจำ ไม่คิดยอมแพ้ต่อโชคชะตาในสิ่งที่เลือก ตระเวนทำความดี ช่วยเหลือสัตว์-คนยากไร้ ในเส้นทางแห่งความเสียสละ ที่หาได้ยากในสังคมไทยในปัจจุบัน

ต่อยมวย หวัง “ล้างบาป” ให้พ่อ



“ครั้งแรกขึ้นชก ผมก็ชนะเลย และผมได้ค่าตัวทั้งหมด 800 บาท หลังจากนั้นผมก็เอาไปทำไถ่ชีวิตโค กระบือ



เวลาผมต่อยมวยทุกๆ ไฟต์ ผมก็จะบริจาคหมดเลย ถ้าเป็นค่าตัวนักมวย ส่วนทริปผมจะเก็บเอาไว้ เวลาที่ผมบริจาคผมก็จะอธิษฐานเสมอว่าขอให้บุญที่ผมทำในทุกๆ ครั้ง กุศลไปถึงคนที่พ่อผมประหารทั้ง 7”



นี่คือความคิดของเด็กวัยเพียง 10 ขวบ ที่ตั้งปณิธานไว้ว่าจะตั้งใจทำความดีเพื่อหวังล้างบาปให้ผู้เป็นพ่อที่มีหน้าที่เป็น “เพชฌฆาต” ฉีดสารพิษประหารชีวิตนักโทษเรือนจำบางขวาง

“หลังจากที่ผมได้ดูรายการ ผมก็ได้รับรู้ว่าพ่อผมเป็นเพชฌฆาต ผมก็เลยเป็นห่วง แล้วก็รู้สึกกลัวว่าพ่อผมจะบาป ก็เลยลองไปถามพ่อดูก่อนว่าจริงไหม พ่อบอกว่าจริงครับ แต่ผมก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เลยไปถามแม่อีก แม่ก็บอกว่าจริง ผมก็เลยตั้งใจไปทำบุญให้พ่อ

พ่อผมอธิบายว่ามันก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ซึ่งเขาก็บอกผมก่อนว่า ลูก…มันเป็นหน้าที่ที่พ่อจะต้องทำ ครั้งแรกที่ผมได้ยิน ผมก็รู้สึกเศร้า เพราะกลัวว่าถ้าพ่อผมทำต่อไป บาปพ่อผมจะหนัก

แล้วด้วยความที่ว่าครอบครัวผมชอบปลูกฝังผมเสมอเรื่องบาปบุญคุณโทษ ซึ่งการฆ่าคนก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่”



น้องเบน-ระฟ้า อัครเทวา หรือ ฐานทัพ ว.อุรชา เจ้าของฉายา “กำปั้นล้างบาป” เปิดใจถึงเรื่องราวของชีวิต หลังจากได้รับรู้เรื่องราวของคุณพ่อ จึงมีแนวคิดนำเงินค่าตัวจากการชกมวยไปทำบุญ โดยหวังว่าจะช่วยล้างบาปให้ผู้เป็นพ่อ ถึงแม้ความจริงแล้วนั้นเรื่องบาปบุญอาจจะเป็นคนละส่วน และไม่สามารถให้ใครล้างบาปแทนใครได้

“พ่อผมก็เคยให้เหตุผล และบอกผมว่าพ่อภูมิใจในตัวลูกที่ลูกพยายามจะล้างบาปให้พ่อ แต่พ่อก็บอกว่าลูกทำต่อไปนะลูก ลูกทำดีแล้ว หน้าที่ของลูก ลูกได้ความฝันใหม่แล้ว

ผมคิดว่าหน้าที่บนโลกส่วนใหญ่จะมีหน้าที่หลายอาชีพอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องอาชีพกับบาปบุญคุณโทษ ผมคิดว่าคนละส่วนกันเลย อาชีพก็คืออาชีพ บาปก็คือบาป แต่ผมก็คิดว่าการฆ่าคนมันก็บาป ผมก็พยายามจะทำบุญ



ผมเคยคิดว่าบาปมันทดแทนกันไม่ได้ ผมก็จะต้องช่วยคน และเอากุศลส่งไปให้ถึงดวงวิญญาณทั้ง 7 และให้บุญติดตัวพ่อผมด้วย ทำบุญเยอะๆ ให้บุญมันมากกว่าบาป”



เมื่อศาลพิพากษาปลดชีวิตผู้กระทำความผิดคนนั้น แน่นอนว่า ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานของ พ่อพงษ์ อัครเทวา เป็นสิ่งที่เขาปฏิเสธไม่ได้

“ผมก็เคยห้ามพ่อไม่ให้ทำนะครับ แต่พ่อบอกว่าไม่ได้ลูก มันเป็นหน้าที่ พ่อผมก็เคยสอน เขาบอกว่าเขาเป็นนักโทษที่ทำผิด โดนศาลตัดสิน พอตัดสินเสร็จแล้วก็ถึงวาระจะต้องเสีย แต่พ่อผมก็ไม่ค่อยอยากจะทำ”

คำตอบที่ชัดเจนของเด็กวัย 10 ปี เอาเงินที่ได้จากการชกมวยทุกครั้ง ไปช่วยเหลือผู้คนที่ลำบาก รวมไปถึงสัตว์จรจัด เพราะเขามีความเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชีวิตมีความสุข และช่วยแบ่งเบาบาปจากพ่อได้

พร้อมทั้งเปิดเผยประสบการณ์ขนหัวลุก เคยสัมผัสวิญญาณ หลังจากที่เข้าไปยังห้องประหาร สถานที่ทำงานของผู้เป็นพ่ออีกด้วย

“ผมเคยเห็นวิญญาณ หลังจากที่ไปหาพ่อที่โรงเย็น ผมก็เข้าไปดูแล้วก็เข้าไปดูห้องประหารด้วย ผมก็รู้สึกวังเวงแปลกๆ ไฟกะพริบๆ แล้วกลับบ้านมาผมก็นอนไม่หลับเลยครับ ภาพมันติดตา หลังจากนั้นผมก็ทำบุญ เพราะว่าด้วยความที่ผมเป็นเด็ก ผมกลัวผีด้วย จิตใจดีขึ้น หลังจากที่เริ่มทำบุญ ช่วงนี้ก็ไม่ค่อยเห็นแล้วครับ



(ชีวิต) เปลี่ยนไปเยอะเลย หลังจากที่ผมเริ่มทำบุญช่วยเหลือพ่อ ผมรู้สึกว่า เอ๊ะ! เรื่องบาปบุญคุณโทษมันมีจริง

ผมก็รู้สึกว่าผมก็มีความสุขขึ้นเยอะเลย เพราะด้วยความที่ว่าเป็นเส้นทางที่ผมเลือก แล้วผมก็ชอบทำบุญ”

พักยก! หวังเปิดมูลนิธิช่วยสัตว์-ผู้ป่วยยากไร้



“แรงบันดาลใจผมก็จะมีอยู่ประมาณ 2 อย่าง อย่างแรก คือ ผมอยากชกมวยและเอาเงินทำบุญ ผมก็เคยคิดว่าอยากสร้างมูลนิธิกำปั้นล้างบาป เพราะว่ามูลนิธิมันจะสร้างช่วยคนได้เยอะครับ”



เจ้าของฉายากำปั้นล้างบาป บอกเล่าแรงบันดาลใจผ่านถ้อยคำที่สัมผัสถึงความสุข เผยแววตาที่เห็นชัดว่าเขารักกับสิ่งที่เลือก

นอกจากจะนำเงินค่าตัวไปทำบุญแล้วนั้น เขายังนำเงินที่ได้จากการชกมวย ที่ต้องแลกด้วยความเจ็บปวด ไปซื้อของใช้ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ ผ้าอ้อม หรือของใช้สำหรับเด็กและใหญ่ ก่อนนำไปบริจาคตามสถานที่ต่างๆ

“ด้วยความที่ว่าพ่อผมปลูกฝังผมมาตั้งแต่เด็กๆ เรื่องการพอเพียง พอชกมวยมีเงิน แล้ว เอาเงินที่เก็บเริ่มซื้อของ แต่ตัวเองรู้สึกว่าพอแล้ว ก็เลยมีเหลือ พอมีเหลือผมก็แบ่งปันคนอื่นได้ครับ

เวลาที่ผมไปเจอส่วนใหญ่ ผมก็จะรู้สึกเศร้า แต่ถ้าถามว่าผมไปเจอได้ยังไง ก็จะมีพี่ๆ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือที่เราเรียกว่า อสม.ทักมาทางเพจ เรื่องการให้ผมเอาของไปช่วยเหลือคนในชุมชนต่างๆ อย่างผู้ป่วยติดเตียง คนที่ยากไร้ ผมก็จะไป แล้วผมก็ไปเจอจริงๆ ก็สงสารมาก คิดว่าเดี๋ยวอาทิตย์หน้า หรือเดือนหน้ามาทำอีกดีกว่า



ตอนนี้เคสที่ผมดูแลอยู่ จะมีประมาณ 10 กว่าเคส แต่ก็เศร้าอยู่เหมือนกัน เพราะว่าเสียไป 4 เคส ตอนนั้นที่ไปผมก็ตกใจ เพราะว่าเขาเป็นทั้งโรคเบาหวานหรือพิการ แขน ขาก็ไม่มี แขนก็มีอยู่ข้างเดียว ผมก็สงสารมาก

ผมจะตั้งเอาไว้แบบนี้ อย่างเคสหลังบ้านผม ทุกเดือนผมก็จะไปเยี่ยมทีหนึ่ง แล้วอาหารแมวหรือน้ำดื่มเอาไปให้ ในแต่ละเคส ผมจะได้รับของที่ผู้ใหญ่ใจดีส่งมาให้ผม ไม่ว่าจะเป็นแพมเพิส หรือกางเกงผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ น้ำดื่ม ข้าวกล่อง”

ไม่เพียงแค่นั้น ในสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทางด้านน้องฐานทัพ และคุณพ่อยังนำเงินไปซื้อข้าวกล่องและน้ำดื่ม เอาไปบริจาคตามชุมชนต่างๆ เพื่อเผื่อแผ่ไปยังคนตกงาน ที่ประสบปัญหาปากท้องด้วย

“บางทีเขาหลับอยู่ ผมก็แอบ เพราะไม่อยากให้เขาตื่น เซอร์ไพรส์เขา ผมก็แอบเอาไว้ไปให้เขา และผมก็ขับรถไปอีกสักนิดนึง แล้วมองดูอาการเขา พอเขาตื่นมาเขาก็ตกใจ อยู่ดีๆ ก็มีข้าวมา แล้วผมก็เห็นเขายิ้ม ผมก็รู้สึกว่ารอยยิ้มนี่แหละที่ทำให้ผมมีความสุข



ในเรื่องโควิด ผมรู้สึกว่าโควิดมันทำลายทุกอย่างจริงๆ มันทำลายการชกมวยของผมด้วย เพราะว่าในช่วงโควิดมวยจะไม่ค่อยได้จัด ผมจะไม่ค่อยมีรายได้

แต่ก็ยังโชคดีอยู่ ที่ก่อนเริ่มจะโควิดระบาด ผมก็ยังชกมวยสนุกและได้ทริปมา และผมก็จะเก็บทริปเอาไว้ หลังจากนั้นผมก็จะใช้ทริปซื้อของบริจาค

เวลาผมไปแจกข้าวกล่องตามที่อื่น ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผมแจกส่วนใหญ่จะเป็นคนตกงานเพราะว่าโควิด เวลาผมไปจะมีครูไปด้วย ครูคนนี้จะเป็นครูสอนว่ายน้ำ ชื่อครูดล อยู่ที่สระใกล้ๆ นี้ เขาก็บอกว่าเวลาไปแจก ต้องทำจริงใจ ออกมาจากใจ และอธิษฐานทุกครั้งเวลาทำอะไรสิ่งต่างๆ”



เมื่อถามฐานทัพ ถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าไปช่วยเหลือสังคม คำตอบในครั้งนี้ ทำให้สะท้อนถึงการปลูกฝังจากครอบครัว ในเรื่องการมีน้ำใจ และช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน “ผมก็รู้สึกดีใจที่ได้เห็นเขายิ้ม และรู้สึกดีใจที่เขามีความสุขด้วย” เขาตอบ

“ผมจะคาดหวังไว้ก่อนเลยว่าอนาคตข้างหน้า ต้องขอให้ดีขึ้น หรือขอให้เขาหายไวๆ จะได้อายุยืนๆ

ทุกคนในครอบครัวชอบทำบุญหมดเลย พี่ชายผมก็ชอบ แม่ผมก็ชอบ แต่พี่ชายผมเขาจะไม่ค่อยออกสื่อ จะอยู่เป็นเบื้องหลัง”

อย่างที่ทราบกันดีถึงความมีน้ำใจ การช่วยเหลือสัตว์ หรือการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ ในอนาตตข้างหน้า ของน้องฐานทัพยังมีแรงปรารถนาเปิด “มูลนิธิกำปั้นล้างบาป” เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ ช่วยเหลือสังคมต่อไปอีกด้วย

“มูลนิธิ ข้อมูลที่ผมจะทำเป็นโครงการใหญ่ๆ คือ มูลนิธิที่ผมจะเปิด มีไว้เพื่อช่วยเหลือคนที่ตกงาน คนยากไร้ ผู้ปกครอง ผู้ป่วยติดเตียง และช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ที่พิการหรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

ผมคิดว่าสังคมน่าจะดีขึ้นในหลายๆ ด้าน คือผมอยากจะให้ทุกคนรู้จักการแบ่งปัน และช่วยเหลือกัน มีเรื่องลำบากก็ช่วยเหลือกัน ให้ทุกคนมีเท่าเทียมหมดทุกคน รู้จักพอเพียงครับ”

ฟิตหุ่น-ซ้อมหนัก เพื่อขึ้นสังเวียน!!



ย้อนกลับไปเด็กชายวัย 7 ปี…เริ่มเข้าสู่วงการนักมวยเด็ก แทนที่การเที่ยวเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันอย่างเด็กๆ ทั่วไป แรกเริ่มฐานทัพยอมรับว่ายากอยู่พอสมควร แต่ความโชคดีคือการเริ่มต้นตั้งแต่ยังอายุยังน้อยจึงทำให้ได้ฝึกฝีมือ และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

“ผมรู้สึกว่าตอนแรกที่ชกมวยใหม่ๆ ก็รับไม่ค่อยได้ เพราะอยากไปเล่น ด้วยความที่ชินกับการเล่นมาตั้งแต่เด็ก แต่พอโตมาผมก็รู้สึกว่ามันเป็นเส้นทางที่ผมเลือก คือ มาถึงตรงนี้แล้วเลิกไม่ได้



บางทีเวลาทำการบ้านเสร็จ เวลาเขาเล่นอยู่ข้างล่าง ผมก็ไม่กล้าลงไปครับ แต่ผมก็ยังมีเพื่อนสนิทที่อยู่ข้างๆ คอยสอนการบ้านผม พอเสร็จแล้วก็เล่นกับผม”

สำหรับการแบ่งเวลา เรื่องเรียน และการชกมวยนั้น น้องฐานทัพจะปรับเวลาให้สมดุล เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนให้มากที่สุด

“ตอนพักเที่ยงผมก็ไม่ค่อยได้วิ่งเล่นเหมือนเด็กคนอื่น ผมจะต้องทำการบ้านครับ เพราะว่าเย็นกลับมาผมไม่ค่อยว่าง ต้องไปซ้อมมวย

ตอนแรกๆ ผมก็คิดว่า(ซ้อม)หนักนะครับ ตอนนี้เริ่มชินกับทุกอย่างแล้วครับ และมีความสุขกับเส้นทางที่เลือกด้วย เลยคิดว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับผมแล้ว”



ก่อนจะเป็น “ฐานทัพ ว.อุรชา” ที่มีสไตล์การชกแนวบู๊ จุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้หนุ่มน้อยคนนี้ได้เข้ามาสนใจมวยแบบจริงจัง นอกจากเรื่องราวของพ่อแล้วนั้น คือการมีพี่ชายเป็นนักมวยทีมชาติ

จากครั้งนั้นทำให้เขาสนใจกีฬาในด้านนี้มากยิ่งขึ้น ในที่สุดเด็กชายวัย 7 ขวบในตอนนั้นก็ได้ปรับเข็มทิศชีวิตเดินเข้าสู่เส้นทางวงการมวยอย่างจริงจัง

“ผมมีพี่ชายคนหนึ่งซึ่งผมกับพี่รักกันมาก แต่พี่ผมซ้อมมวยหนักก็เลยไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่ด้วยกัน ผมก็เลยคิดว่าจะต้องทำยังไงถึงจะได้อยู่กับพี่ ก็เลยถามพี่ พี่ผมก็เลยชวนให้ผมซ้อมมวย ผมก็เลยได้มีโอกาสมาซ้อมมวยตอนอายุ 7 ขวบครับ

ผมมีพี่ชายเป็นไอดอล พี่ชายผมจะแข็งแรงและอดทน ขยันมาก มีวินัย ตรงต่อเวลา ผมก็เลยชอบพี่ชายผมมาก และด้วยความที่ว่าเป็นพี่ชายแท้ๆ เขาก็รักผมมาก ก็เลยสนิทตั้งแต่ตอนเด็ก

ที่บ้านมีความเป็นห่วงอยู่บ้างครับ แต่สนับสนุนเต็มที่เหมือนกัน เพราะว่าพี่ชายผมก็เป็น เขาก็เลยอยากให้น้องตามพี่ไป

แต่พ่อไม่ได้ห้าม แต่เตือนผมก่อน พี่ผมก็เตือน แล้วพี่ผมก็บอกว่า ถ้าผมจะไปซ้อมมวย ผมต้องตั้งใจซ้อม ขยัน อดทนครับ ส่วนพ่อผมก็เตือนเหมือนกัน ว่ามันเจ็บนะลูก จะไปจริงเหรอ ผมก็บอกกับพ่อแล้วว่าจะไป”



แน่นอนว่า เด็กอายุ 7 ขวบ การฝึกซ้อมเพื่อขึ้นไปสู่บนสังเวียนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการฝึกฝน ดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของเด็กที่อายุยังน้อย

“ส่วนตัวผมคือผมต้องฝึกหนักเป็นพิเศษ เพราะว่าด้วยความที่ผมโตมาสมส่วน แล้วร่างกายของผมต้องแข็งแรง ผมต้องชกกับคนที่อยู่ ม.2, ม.3

ผมต้องทำให้ร่างกายแข็งแรงกว่าเด็กทั่วไป เพราะว่าถ้าผมต้องชกในรุ่นเดียวกัน คือ ผมจะชนะง่าย ก็เลยต้องชกกับรุ่นใหญ่ๆ อายุประมาณ 12-13 ปี

ผมจะตื่นมาประมาณตี 5 จากนั้นก็วิ่งก่อน 40 นาที แล้วก็ทำกิจกรรมช่วงเช้า หลังจากนั้นออกไปโรงเรียนตอนสักประมาณ 8 โมง

เลิกเรียนเสร็จผมก็จะกลับมาประมาณบ่าย 3 โมงครับ แล้วก็วิ่งเหมือนเดิม หลังจากนั้นก็ทำกิจกรรมช่วงเย็น และไปซ้อมค่ายประมาณสัก 4-5 โมง เลิก 2 ทุ่มกว่าๆ”



โดยที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์นักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิตจากการชกมวยไทย ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องวงการกำปั้นมากขึ้น และศิลปะมวยไทย กลับถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องคนนั้นเลือดคั่ง เสียชีวิตบนสังเวียน

จนมีการเสนอให้เปลี่ยน พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้ ครม.พิจารณาห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีชกมวย ถ้าอายุระหว่าง 13-15 ปีต้องใส่เครื่องป้องกัน ฐานทัพยอมรับว่ามีผู้ใหญ่เป็นห่วงเรื่องนี้เช่นกัน

“ผมก็เคยเห็นนะครับ แต่ผมก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้สักเท่าไหร่ครับ แต่พอไปที่โรงเรียนเขาเริ่มรับรู้ข่าวกัน ครูก็เริ่มมาเตือนผมด้วยความเป็นห่วง ผมรู้สึกว่าผมควรจะเลิกดีไหม แต่ผมก็มั่นใจในตัวเองครับว่า เรามาในเส้นทางนี้ถูกแล้ว



แม่ผมเคยห้ามอยู่ครั้งหนึ่ง แต่ด้วยความว่าที่ผมแน่วแน่จริงๆ ผมก็เลยสู้ ไม่ยอมถอย และผมก็รู้สึก เริ่มเป็นห่วงตัวเอง เพราะว่าคนเตือนมาก็เยอะ แต่ผมไม่ค่อยฟังเลย



เวลาผมจะไปชกมวย ผมจะทาน้ำมันวาสลีนก่อน เพราะว่าเผื่อเวลากันศอกจะได้ไม่แตก น้ำมันจะลื่น และพอลงมาเสร็จ เจ็บตรงไหนผมจะรีบประคบร้อนก่อนเลยครับ หลังๆ ไปจะค่อยๆ เย็น

ผมเคยเกือบฟันหลุดบ่อย และเกือบคิ้วแตกครึ่งหนึ่ง ครั้งนั้นคิ้วไม่แตก แต่ก็เจ็บเพราะว่าด้วยความที่มันเกือบ อีกนิดเดียวก็แตกแล้ว”

ตั้งเป้า “ติดทีมชาติไทย – สร้างชื่อให้คนไทย”



“เวลาผมชกแต่ละครั้ง พอลงมาจากเวที ซึ่งผมก็จะรู้ว่าผมต้องชกกับคนนี้อีกใหม่แน่ๆ เพราะว่ามันเป็นวัฏจักร เวลาผมชกมวยเวลาผมชนะหรือแพ้ เขาก็จะให้ผมชกกันใหม่เพื่อแก้มือ เพราะว่าเวลาผมชกมวย มักจะชกมวยสนุก”

แม้จะเจอบททดสอบของชีวิตมาอย่างหนักหน่วง ในระหว่างทางบนสังเวียนแห่งนี้มีสิ่งที่ทำให้เขาเรียนรู้ได้เสมอ แน่นอนว่าระหว่างทางกว่าจะมาถึงตรงนี้ กำลังใจและแรงสนับสนุนจากครอบครัว คือ สิ่งที่สำคัญ

“อาชีพนี้ทำให้ผมได้รับรู้ว่ายังมีอีกหลายคนที่ลำบากเหมือนกับผม ต้องคอยซ้อมหนัก แต่บางคนก็มีเรื่องราวคล้ายๆ กับผม บางคนอยากจะชกมวยและเอาเงินเลี้ยงช่วยครอบครัว



ส่วนผมก็คิดอยากจะล้างบาปให้พ่อ ซึ่งหลายๆ คนที่มาชกมวย ก็จะมีเรื่องแตกต่างกันไปที่มาชก อย่างบางคนชกเพราะความชอบ”

อย่างที่กล่าวตอนต้น เส้นทางกำปั้นที่ไม่ได้เริ่มต้นเพราะความชอบ และต้องการมีชื่อเสียงเหมือนเด็กทั่วไป หากอยากหาเงินช่วยแบ่งเบาบาปจากพ่อได้ และมีพี่ชาย (ทัพฟ้า อัครเทวา) เป็นต้นแบบ

เมื่อผ่านการแข่งขันบนสังเวียน จนมีผลงานติดตัว กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เจ้าของฉายากำปั้นล้างบาป ตั้งเป้าหมายในเส้นทางนี้เอาไว้ว่า จะเจริญรอยตามพี่ชาย โดยการติดทีมชาติไทย

“เป้าหมายชีวิตผมก็มีอยู่ 2 อย่างครับ อย่างแรก คือ ผมอยากจะชกมวยต่อไป แล้วก็เอาเงินค่าตัวนักมวยช่วยเหลือสังคม ซึ่งผมก็เคยคิดว่า โตขึ้นมาผมจะสร้างเป็นมูลนิธิกำปั้นล้างบาปและเป้าหมายอย่างที่ 2 คือ ผมอยากชกมวยให้เก่ง และติดทีมชาติ หลังจากนั้นสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย



ทีมชาติส่วนใหญ่จะเป็นมวยสากล แต่ผมมามวยไทย ผมคิดว่าผมอยู่เส้นทางมวยไทยก่อนดีกว่า และพอไม่ไหวจริงๆ ค่อยเปลี่ยน

ส่วนผลงานผมก็ได้แชมป์มา 2 เส้น ก็จะมีศึกวันเดือนแดงภาคตะวันออก และแชมป์ทีมมวยชิงดาว และได้คู่มวยดุเดือด 3 เวทีครับ”



อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการแข่งขันบนสังเวียน เป็นเพียงการเริ่มต้นในวงการนี้ อนาคตการชกมวยของเด็กชายที่มีความคิด ศรัทธาในสิ่งที่ทำ และลงมือทำตามความเชื่อของตัวเองคนนี้จะเป็นอย่างไร

รวมทั้งความคิดที่จะล้างบาปให้ผู้เป็นพ่อ จะถูกปลดเปลื้องลงไปได้หรือไม่คงไม่มีใครตอบได้ แต่เชื่อว่าเด็กคนนี้ จะการสร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนทำความดีเพื่อคนที่เรารักต่อไป แม้ผลของมันจะยังไม่ปรากฏเห็นในทันทีก็ตาม

สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live

เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์

ภาพ : พลภัทร วรรณคดี

** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **