‘โลกใหม่-โลกเก่า’ โดย ปราปต์ บุนปาน – มติชน

ชัยชนะและการคว้าเหรียญทองจากกีฬาเทควันโดในโอลิมปิกที่โตเกียวของ “เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้แก่วงการกีฬาไทย

ทั้งเพราะการได้เหรียญทองจากชนิดกีฬาใหม่

ทั้งเพราะนี่คือดอกผลอันงดงามที่เกิดจากการเพาะปลูกดูแลของสมาคมกีฬารุ่นใหม่ ซึ่งผู้บริหารมีพื้นเพมาจากการเป็นนักธุรกิจ-นักการเมือง (ในระบบเลือกตั้ง) และมิได้ถูกจัดการด้วยวัฒนธรรมแบบ “บิ๊กทหาร” มากนัก

นอกจากนั้น ความสำเร็จของนักกีฬาเทควันโดชื่อ “เทนนิส” ยังตอกย้ำให้เห็นถึงแนวโน้มที่ว่าประเทศไทยกำลังมี “วีรสตรีโอลิมปิก” ในจำนวนที่มากกว่า “วีรบุรุษโอลิมปิก” อย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

การคว้าเหรียญทองของนักกีฬาเทควันโดไทยยังอาจบ่งชี้ถึงการมี “ฮีโร่โอลิมปิกจากชนชั้นใหม่”

ถ้าเหรียญทองจาก “นักมวยสากลสมัครเล่น” และ “นักยกน้ำหนัก” ช่วยย้ำเตือนให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า เรายังมีประชากรที่เป็น “คนชั้นล่าง” จากชนบท ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจอันยากลำบาก จนต้องเลือกใช้ร่างกายของตนเองเป็นทุน ต้องทนเจ็บตัว ต้องทนแบกเหล็กหนักๆ ต้องทนลดน้ำหนักตัว

โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิกเพื่อ “โอกาสที่ดีขึ้น” ของชีวิต ซึ่งอาจลอยเข้ามาในรูปของหน้าที่การงานยศตำแหน่งในกองทัพ และเงินอัดฉีดก้อนใหญ่

ความสำเร็จต่อเนื่องจากฝีมือ (และฝีเท้า) ของ “เทนนิส” และนักเทควันโดไทยจำนวนหนึ่ง ก็ดูจะเผยให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของ “ลูกหลานคนชั้นกลาง” ซึ่งเริ่มต้นฝึกฝนกีฬาชนิดนี้ในฐานะงานอดิเรก ก่อนจะเกิดความเชี่ยวชาญ กระทั่งสามารถพัฒนาตนเองเป็นนักกีฬาระดับชาติ หรือระดับโลก

ต้องหมายเหตุว่า แม้กีฬาเทควันโดจะพึ่งพาความแข็งแรงและความทรหดอดทนของนักกีฬา (ที่ต้องแข่งขันแบบให้รู้ผลภายในวันเดียว) ร่วมด้วยสภาพจิตใจอันมั่นคงและกลยุทธ์อันแพรวพราว

ทว่ากีฬาประเภทนี้ก็ไม่ต้องมีการเข้าปะทะกันหนักๆ แบบ “มวยสากลสมัครเล่น” และไม่ต้องตรากตรำร่างกายมากเท่า “ยกน้ำหนัก”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือ “โลกใหม่” ที่ “เทนนิส พาณิภัค” มีส่วนร่วมสร้างและโลดแล่นอยู่ในนั้น

อย่างไรก็ตาม “เหรียญทองประวัติศาสตร์” ไม่สามารถฉุดดึงสังคมไทยให้หลุดพ้นออกจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดได้

แม้ในคืนวันเสาร์ หลายคนที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์/คอมพิวเตอร์/โทรศัพท์ อาจ “ดีใจ” ยามได้เป็นประจักษ์พยานในชัยชนะยิ่งใหญ่ของ “เทนนิส”

ทว่าพอเข้าเช้าวันอาทิตย์ ทุกคนก็ต้องตื่นขึ้นมารับรู้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่ยังพุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากังวล และตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ยังเกินหลักร้อย พร้อมเกิดความรู้สึก “ไม่มั่นใจ” กับการดำเนินชีวิตในโลกความเป็นจริงกันต่อไป

เป็นความไม่มั่นใจในชีวิตที่ล้อมรอบด้วยความมืดมนเคว้งคว้าง

เริ่มจากเรื่องการสรรหาวัคซีนคุณภาพดีมาฉีดให้ประชาชน ซึ่งยังไม่มีอะไรคืบหน้าชัดเจน

ไปสู่การตั้งคำถามว่าเมื่อรัฐดำเนินมาตรการ “ล็อกดาวน์” ในหลายจังหวัดมาได้ระยะหนึ่ง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตยังพุ่งสูง แล้วเราจะเอาอย่างไรกันต่อดี?

พลเมืองไทยจำนวนมากต่างรู้สึกว่าพวกตนกำลังดำรงชีวิตอยู่ในรัฐราชการที่ “ไม่ฟังก์ชั่น” ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร (ในเสื้อคลุมประชาธิปไตย) และระบอบปิตาธิปไตยซึ่งมีสภาพเหมือน “ม้าศึกง่อยเปลี้ย” จนกลายเป็นภาระหนักอึ้งบนบ่าประชาชนผู้อมโรค (ขอยืมแนวคิดนี้มาจากการ์ตูนการเมืองอันคมคายของ “อรุณ วัชระสวัสดิ์”)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือ “โลกเก่า” ที่กักขังพวกเราอยู่

เอาเข้าจริง โลกสองใบข้างต้นนั้นไม่ได้อยู่คนละมิติประหนึ่ง “ทวิภพ”

หากเป็นโลกสองแบบที่ค่อยๆ ซ้อนทับกัน เมื่อ “โลกใหม่” ค่อยๆ รุกคืบเข้าแทนที่ “โลกเก่า”

จากความเปลี่ยนแปลงในสนามกีฬา ไปสู่ความผันแปรในพื้นที่ทางสังคม

ชนิดอื่นๆ

ปราปต์ บุนปาน