ว่าด้วย “นวมเล็ก-นวมใหญ่” / ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์

ว่าด้วย “นวมเล็ก-นวมใหญ่” / ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ “ริงไซด์ ไฟต์คลับ” โดย “ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์”

เป็นประเด็นกันพอสมควรสำหรับเรื่องการใช้ “นวมเล็ก-นวมใหญ่” ในรายการมวย โดยเฉพาะรายการชื่อดังที่กำลังสร้างความมันส์ให้แฟนๆ อยู่ตอนนี้อย่าง “วัน ลุมพินี” ที่ให้นักมวยในรายการใช้ “นวมเล็ก” ขนาด 4 ออนซ์ขึ้นสู้ ในขณะที่รายการมวยไทยอื่นๆ ใช้ “นวมใหญ่” ขนาดปกติ ว่ากันตั้งแต่ 8 ออนซ์ – 10 ออนซ์ตามพิกัดรุ่น เลยเกิดประเด็นดราม่าแฝงการโจมตีกันเล็กๆ ว่าแบบไหนปลอดภัยหรือแบบไหนเป็นอันตรายมากกว่ากัน

งานนี้ทางฝั่ง “นวมใหญ่” ก็บอกว่านวมใหญ่นั้นหนากว่า ช่วยซึมซับแรงกระแทกได้มากกว่า ทำให้แรงกระแทกต่อศีรษะและสมองถูกลดทอนไปพอสมควร นอกจากนั้นนวมเล็กนั้นทำให้หมัดที่ชกออกมามีขนาดเล็กลง เพราะไม่มีนวมหนาๆ ใหญ่ๆ หุ้ม ทำให้การป้องกันทำได้ยาก นักมวยมีโอกาสโดนหมัดมากกว่า จะเห็นว่ารายการของ “วัน ลุมพินี” นั้นนักมวยหน้าตาบวมปูดไปตามกัน และเกิดการน็อกกันเยอะมาก ซึ่งแสดงว่านวมเล็กนั้นทำให้เกิดแรงกระแทกและเกิดผลเสียกับร่างกายมากกว่า

ฝ่าย “นวมเล็ก” ก็บอกว่า มีการศึกษามาแล้วว่านวมเล็กก็มีความหนาบริเวณสันหมัดพอที่จะซึมซับแรงกระแทกได้พอสมควรอยู่แล้ว มีการสแกนสมองว่าผลกระทบต่อสมองจากการถูกชกด้วยนวมเล็ก ไม่ได้ต่างจากการถูกชกด้วยนวมใหญ่ นอกจากนั้นการชกด้วยนวมเล็กที่ดูเหมือนทำให้พลังกำปั้นรุนแรงขึ้นนั้น ทำให้มีการต่อยน็อกเยอะขึ้น นักมวยที่ถูกชกจะถูกน็อกง่าย ทำให้กระทบกระเทือนแบบ “สะสม” น้อยกว่า คือโป้งเดียวจอด มากกว่าที่จะต้องต่อยกันซ้ำๆ โดนเยอะกว่าจะลง อันนี้รายการ “มวยมือเปล่า” หรือ Bare Knuckle FC – BKFC ที่เคยพยายามมาเปิดรายการในบ้านเราอยู่ไฟต์สองไฟต์ ก็ชี้แจงมาตามนี้เหมือนกัน ว่าการชกด้วยมือเปล่า ถ้าเข้าจุดโฟกัส จะเกิดการน็อกทันที นักมวยเจ็บทีเดียวร่วง ไม่ถูกซ้ำจนเกิดอาการบอบช้ำสะสม

ก็ต้องบอกว่าฟังแล้วมีประเด็นทั้งสองฝ่าย เราคุ้นเคยนวมใหญ่มากกว่า พอเห็นชกกันด้วยนวมเล็ก ก็รู้สึกว่ามันโหด แต่ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว นวมเล็กนี่ก็มีใช้ในแวดวงศิลปะการต่อสู้ระดับโลกใหญ่ๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะรายการ MMA ที่ใช้นวมเล็กกันมาเป็น 10 ปีแล้ว อย่างนวมใหญ่ถ้าพลังหมัดหนักๆ ก็ต่อยร่วงกันมาเยอะแล้ว นักมวยที่โดนต่อยด้วยนวมใหญ่สะสมมาตลอด สุดท้ายแขวนนวมไปแล้วอายุมากขึ้น มีอาการทางสมองก็มีให้เห็นกันอยู่ สุดท้ายน่าจะอยู่ที่ตัวนักมวย ต้องฟิตซ้อมให้ถึง รวมทั้งต้องรู้จักป้องกันตัวดีๆ ไม่ใช่เอาหน้าบล็อกหมัด หรืออาศัยลูกอึดเดินเปิดหน้าแลกตลอด กรรมการก็ต้องช่วยดูแลความปลอดภัยของนักมวยให้ดี ถ้ามีอาการตาลอย หรือซึม หรือช้า ต้องยุติการชกทันที และที่สำคัญที่สุด คือนักมวยต้องมีระยะเวลาพักฟื้นให้เพียงพอ ถ้าโดนน็อก หรือโดนอาวุธเข้าที่ศีรษะซ้ำๆ เยอะๆ ต้องมีระยะเวลาให้พักฟื้นเพียงพอ ต้องยอมรับว่านักมวยเราได้ค่าตัวน้อย ต้องขึ้นชกให้บ่อยที่สุด บางคนต้นเดือนปลายเดือนเลยด้วยซ้ำ แต่มายุคนี้มีความพยายามที่จะยกระดับค่าตัวนักมวยขึ้นแล้ว ควรจัดโปรแกรมให้นักมวยได้มีเวลาพักฟื้นให้เพียงพอ แบบนี้ประเด็นเรื่อง “นวมเล็ก-นวมใหญ่” ก็จะหมดไป แฟนๆ ก็ได้ดูมวยมันส์ๆ ที่ไล่ซัดกันน็อกกันอุตลุด วงการมวยก็จะฟื้นมาครึกครื้นได้จริงๆ