สคช.เร่งเครื่องจัดทำ 5 มาตรฐานอาชีพ เขย่าอีก 125 อาชีพ รองรับความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานอนาคต ล่าสุดกับสาขาอนุรักษ์งานพื้นบ้านฯ สืบสานงานศิลป์สู่สายตาทั่วโลก
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เร่งจัดทำมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานพื้นบ้านและศิลปหัตถกรรม กลุ่มผ้าทอ กลุ่มดินเผา กลุ่มจักสานและกลุ่มเครื่องถม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดให้กับบุคลากรที่อยู่ในอาชีพ ได้พัฒนาตัวเอง เข้าสู่การรับรองเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการในระดับสากล ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนและเยาวชนรุ่นหลังหันมาสนใจใส่ใจศึกษาและสืบทอดงานศิลป์แผ่นดินให้มากยิ่งขึ้น
ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ระบุว่าช่างศิลป์ของไทย เป็นงานที่ทำโดยผู้ชำนาญในการฝีมือ อาศัยสติปัญญาและผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก ซึ่งคนไทยด้วยกันอาจจะเห็นจนชินตา แต่ผลงานของช่างศิลป์ ในสายตาของชาวต่างชาติเป็นที่ยอมรับถึงคุณค่าแห่งความงามในเชิงศิลปะอย่างแท้จริง ทั้งนี้พบว่ามรดกทางศิลปะวัฒนะธรรมของชาติไทยในสาขานี้ ไม่มีการสอนโดยตรงจากสถาบันการศึกษาและกำลังจะขาดช่วงในการสืบทอด สคช. จึงจับมือกับผู้เชี่ยวชาญ และคนในอาชีพ เดินหน้าจัดทำมาตรฐานอาชีพ งานช่างที่เกี่ยวข้องกับงานศิลป์แผ่นดินในแต่ละสาขา เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้สามารถ สืบทอดกระบวนการงานช่างต่อไป โดยนอกจาก 4 กลุ่มสาขาวิชาชีพที่แล้วเสร็จไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังเตรียมเพิ่มระดมความคิดเห็น ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ เพื่อสืบสานงานศิลป์แผ่นดิน ในสาขา ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างหัวโขน ช่างทำหัวโขน ช่างสนะไทย ช่างพัสตราภรณ์และช่างรัก ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นในปีนี้ สคช. ยังได้มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพใหม่ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือไปจาก 835 อาชีพ ใน 52 สาขาวิชาชีพ เพื่อเป็นการรองรับให้การรับรองคนในอาชีพตามความต้องการของตลาดแรงงานอนาคต อาทิ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขางานระบบส่งกระแสไฟฟ้า สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาจิตวิทยา สาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า ระยะที่ 2 และสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์การกีฬา อาชีพมวยไทย รวมทั้งยังได้มีการทบทวนมาตรฐานอาชีพเดิมที่จัดทำแล้ว ตั้งเป้าในการทบทวนมาตรฐานอาชีพในปี 2564 ทั้งหมด 125 อาชีพด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้แต่ละมาตรฐานสอดรับ และตอบโจทย์ สถานการณ์ ภาวการณ์ต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่