เคบียู สปอร์ต โพล โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต เผยผลสำรวจ “ปรากฎการณ์ล้มมวย ปัญหาทางออก” ชี้คนไทยมองปัญหาการล้มมวยมีมาอย่างต่อเนื่อง รับกระทบต่อวิกฤติศรัทธาของวงการวงการมวยไทย เชื่ออนาคตเกิดอีก ระบุสาเหตุมาจากการพนันและเซียนมวยบางกลุ่ม รวมถึงอิทธิพลมืด แนะภาครัฐเข้ากำกับและบังคับใช้กฎหมายเข้มข้มเพื่อดูแล
จากกรณีปรากฎการณ์การล้มมวยของนักมวยไทยอาชีพรายหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ก่อให้เกิดผลกระทบและวิกฤตอศรัทธาต่อวงการมวยไทยในหลากหลายมิติ เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปะการต่อสู้ประจำชาติให้อยู่คู่กับสังคมและประเทศชาติสืบไปตลอดไปจนเป็นที่ยอมรับของวงการกีฬาโลก เคบียู สปอร์ต โพล ( KBU SPORT POLL) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “ปรากฎการณ์ล้มมวย ปัญหาทางออก” เพื่อสะท้อนมุมมองในมิติต่างๆของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องในวงการกีฬาไทย
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 17- 19 ต.ค. 64โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจและติดตามข่าวสารทางการกีฬาซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,209 คน แบ่งเป็นเพศชาย 746 คน คิดเป็นร้อยละ 61.70 เพศหญิง 463 คน คิดเป็นร้อยละ 38.30 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่า ความคิดเห็นที่มีต่อปรากฎการณ์การล้มมวยในเมืองไทย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 69.71 เห็นว่ามีมาอย่างต่อเนื่อง รองลงมาร้อยละ18.60 มีเป็นครั้งคราว และร้อยละ11.69 ไม่แน่ใจ และจากปรากฎการณ์ล่าสุดคาดว่าในอนาคตการล้มมวยในเมืองไทยยังจะมีอีกหรือไม่ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.03 คาดว่าจะมี รองลงมาร้อยละ 12.89 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 6.08 คาดว่าจะไม่มี
สาเหตุของการล้มมวย ส่วนใหญ่ร้อยละ 32.01 การพนัน รองลงมาร้อยละ 24.57 เซียนมวยบางกลุ่มและอิทธิพลมืด ร้อยละ19.88 นักมวยและผู้ว่าจ้างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ร้อยละ14.63 นักมวยขาดจิตสำนึกและความพอเพียง ร้อยละ 5.33 นักมวยขาดสวัสดิการและรายได้ที่ดีพอและอื่นๆร้อยละ3.58 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการพนันมวยไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 29.08 ค่านิยมและความชอบ รองลงมาร้อยละ 24.65 โอกาสและการเข้าถึงการแข่งขันผ่านช่องทางต่างๆ ร้อยละ18.80 การแพร่หลายของการจัดการแข่งขัน ร้อยละ13.07ปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ร้อยละ10.05 ขาดความพอเพียงและไม่เคารพกฎหมาย และอื่นๆร้อยละ 4.35
ปัญหาและผลกระทบที่มีต่อการล้มมวย ส่วนใหญ่ร้อยละ 34.88 กระทบต่อวิกฤติศรัทธาของวงการวงการมวยไทย รองลงมาร้อยละ 25.02 กระทบต่อชื่อเสียงของศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ ร้อยละ 21.73 ส่งผลให้เกิดคดีอาชญากรรม ร้อยละ12.77 กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมร้อยละ3.11 กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอื่นๆร้อยละ 2.49 ขณะที่มาตรการการป้องกันและแก้ไขการล้มมวย ส่วนใหญ่ ร้อยละ37.11 ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้นและจริงจัง รองลงมาร้อยละ24.95 ใช้มาตรการทางสังคม ห้ามผู้เกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวกับวงการตลอดชีวิต ร้อยละ12.09 จ่ายค่าตอบแทนและจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับนักมวย ร้อยละ11.51 หัวหน้าค่ายและนักมวยหลีกไกลจากการพนัน ร้อยละ 9.44 สร้างความรู้ความเข้าใจและความรับผิดชอบต่อวิชาชีพให้กับนักมวยและผู้เกี่ยวข้อง และอื่นๆร้อยละ 4.9
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่าจากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าปรากฎกาณ์การล้มมวยในสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่องโดยสาเหตุหลักมาจากการพนันภายใต้การประสานงานดำเนินการของเซียนมวยบางกลุ่มรวมทั้งผู้มีอิทธิพลมืด อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงการพนันสำหรับสังคมไทยหรือมูลเหตุที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับวงการกีฬาบางชนิดโดยเฉพาะมวยไทยนั้นจะสอดคล้องกับผลการสำรวจที่มาจากค่านิยมและความชอบเป็นลำดับต้นๆ และที่น่าสนใจกลุ่มตัวอย่างยังสะท้อนไปในทางเดียวกันว่าการล้มมวยจะส่งผลกระทบและเกิดปัญหาต่อวิกฤติศรัทธาของวงการมวยไทยตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต ยังเผยอีกว่า เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดความฉาวโฉ่ตลอดจนซ้ำเติมต่อวงการมวยไทยซึ่งถือว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติที่สำคัญที่บรรพชนได้รังสรรค์และถ่ายทอดกันมา จากนี้ไปหากต้องการจะอนุรักษ์ไว้ซึ่งภูมิปัญญาและมรดกอันสำคัญยิ่ง ผู้เกี่ยวข้องในวงการมวยไทยทุกภาคส่วนโดยเฉพาะนายสนาม โปรโมเตอร์ หัวหน้าค่าย ตลอดจนนายทะเบียนซึ่งได้แก่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของกกท.จะต้องเคร่งครัดกับการใช้มาตรการทางกฎหมายให้เป็นไปตามพ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 อย่างเข้มข้นและจริงจังอย่างต่อเนื่อง
Add friend ที่ @Siamsport