“คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล” นำทัพนักกีฬาฝ่าวิกฤติ “โอลิมปิก โตเกียว2020” – ไทยรัฐ

คงไม่มีมหกรรมกีฬาใดในโลกจะยิ่งใหญ่สำหรับมวลมนุษยชาติ เท่ากับ “โอลิมปิก เกมส์” ซึ่งกำลังจะเปิดฉากขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 23 ก.ค. ถึง 8 ส.ค.นี้ ยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก การจุดคบเพลิงโอลิมปิกเกมส์ให้สว่างไสวขึ้นอีกครั้ง ได้ช่วยจุดประกายความหวังใหม่ให้กับคนทั้งโลก พร้อมสร้างปรากฏการณ์นิวนอร์มอลแก่วงการกีฬาโลก ในฐานะไอโอซีเมมเบอร์หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของไทย “คุณหญิง

ปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล” ยืนกรานว่า “โอลิมปิก โตเกียว 2020” พร้อมเดินหน้าฝ่าวิกฤติร่วมกัน เพื่อเปิดฉากการแข่งขันอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ก.ค.นี้ โดยที่ประชุมสุดยอดผู้นำจี 7 ครั้งล่าสุด ทุกชาติประสานเสียงให้การสนับสนุน “โตเกียว เกมส์” อย่างเต็มที่ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวด เตรียมรับมือกับทุกภาวะฉุกเฉินระหว่างการแข่งขัน

เข้าเฝ้าสุลต่านบรูไน
เข้าเฝ้าสุลต่านบรูไน

“คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และเจ้าภาพญี่ปุ่น พร้อมผนึกกำลังจัดการแข่งขันตามแผนเดิม เพราะหากไม่จัดในปีนี้ มีการคาดการณ์จาก “นายทาคาฮิเดะ คิยุชิ” นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันโนมูระ และอดีตคณะกรรมการบริหารธนาคารแห่งชาติของญี่ปุ่น ไว้ว่า เจ้าภาพญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่ เป็นจำนวนเงินถึง 1.81 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) อีกประการหากไม่จัดการแข่งขันในปีนี้ หลังจากเลื่อนมาแล้วปีหนึ่ง นักกีฬาจากทั่วโลกที่เหน็ด-เหนื่อยผ่านการคัดเลือกจนได้โควตา และมุ่งมั่นฝึกซ้อมเป็นแรมปี จะเสียสิทธิ์เสียโอกาส ขณะที่นักกีฬาบางคนอาจไม่ได้กลับมาแข่งขันอีกเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับนักกีฬา ดังนั้น “โอลิมปิก โตเกียว 2020” จึงต้องเดินหน้าฝ่าวิกฤติ พร้อมเปิดฉากในวันที่ 23 ก.ค.นี้แม้จะต้องจัดการแข่งขันภายใต้มาตรการป้องกันโควิด–19 ที่เข้มงวดก็ตาม” คุณหญิงปัทมาแสดงจุดยืนมุ่งมั่นและจริงใจของไอโอซี

ไอโอซีหญิงไทยมือประสานสิบทิศ บอกเล่าถึงความเข้มข้นในการเตรียมจัดงานโค้งสุดท้ายว่า “คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬา “โอลิมปิก โตเกียว 2020” ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดการแข่งขันครั้งนี้ปลอดภัยสำหรับทุกคน ภายใต้วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด—19 โดย “ดร.ไมเคิล ไรอัน” ผู้อำนวยการฝ่ายภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ องค์การอนามัยโลกย้ำว่า องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามคู่มือการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันครั้งนี้ปลอดภัยในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านนักกีฬา, สนามฝึกซ้อม และสนามแข่งขัน เป้าหมายสำคัญคือ ป้องกันนักกีฬาจากการสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น

หารือไอโอซีแกรนด์ดยุกลักเซมเบิร์ก
หารือไอโอซีแกรนด์ดยุกลักเซมเบิร์ก

โดยการตัดสินใจหลายอย่างยังไม่สามารถทำได้จนกว่าจะใกล้ถึงการแข่งขัน เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์แพร่ระบาดในตอนนั้น ซึ่งเรามีความหวังว่าจะสามารถจัดการแข่งขันโอลิมปิกได้ เพราะส่วนหนึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการแข่งขันกีฬาหลายชนิดที่สามารถจัดได้โดยไม่มีผู้ชม, แข่งขันกันภายในบับเบิล และภายใต้เงื่อนไขพิเศษ อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีการสั่งบังคับให้ฉีดวัคซีนนักกีฬาต่างชาติ เพราะไอโอซีตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าอาจมีนักกีฬาบางประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แม้ไอโอซีจะมีโครงการช่วยจัดหาวัคซีนจากจีน และจากไฟเซอร์ไบโอเอ็นเทค แต่วัคซีนเหล่านี้ต้องได้รับการอนุมัติจากทางการของแต่ละประเทศก่อนว่า สามารถนำไปใช้ได้ จึงจะสามารถนำมาฉีดให้กับนักกีฬาของประเทศต่างๆ กระนั้น ไอโอซีก็ขอความร่วมมือจากทุกคนที่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางมาร่วมโอลิมปิก เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงประชาชนชาวญี่ปุ่น”

กล่าวอบรมเยาวชนนานาชาติเรื่องกีฬาบนเวทีประชุมยูเอ็น
กล่าวอบรมเยาวชนนานาชาติเรื่องกีฬาบนเวทีประชุมยูเอ็น

สำหรับตำแหน่งอันทรงเกียรติในไอโอซี ก่อนหน้านี้ ไทยเรามี “จอมพลประภาส จารุเสถียร” เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการ ของไอโอซี ในช่วงปี 1971-1974 ต่อมาเป็น “พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์” รั้งตำแหน่งระหว่างปี 1974-1989 ตามมาด้วย “ดร.ณัฐ อินทรปาณ” ระหว่างปี 1990-2018 ส่วนในปัจจุบัน “คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล” ได้ทำหน้าที่ไอโอซีเมมเบอร์หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ที่ได้เข้าไปบริหารงานในองค์กรกีฬาใหญ่ระดับโลก นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของประเทศ

ประชุมกับไอโอซีเจ้าชายจอร์แดน
ประชุมกับไอโอซีเจ้าชายจอร์แดน

ย้อนเส้นทางการทำงานตลอด 4 ปีเต็มของ “คุณหญิงปัทมา” กับตำแหน่งใหญ่ดังกล่าว เปิดฉากอย่างเป็นทางการในการประชุมไอโอซี ครั้งที่ 131 ที่มีประธานไอโอซี “โธมัส บาค” เป็นประธาน ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2017 การประชุมครั้งนั้นมีวาระสำคัญคือ การลงมติรับรองสมาชิกไอโอซี ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสรรหา โดยมี “เจ้าฟ้าหญิงแอนน์” พระราชธิดาในควีนเอลิซาเบธที่สองแห่งอังกฤษ ในฐานะไอโอซีเมมเบอร์ ทรงเป็นประธานงานนี้ “คุณหญิงปัทมา” เป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามา และได้รับการรับรองด้วยมติเอกฉันท์จากสมาชิกกว่า 206 ประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกไอโอซี ประเภทบุคคล (อินดิวิดวล เมมเบอร์) ซึ่งเป็นตำแหน่งทรงเกียรติสูงสุด ในฐานะบุคลากรด้านกีฬาของโลก

นำคณะเยี่ยม “ฌอง ทอดต์” ประธานสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ, ควีนฟาราห์ ปาห์ลาวี อดีตจักรพรรดินีอิหร่าน และไดอาน่า ปิกัสโซ
นำคณะเยี่ยม “ฌอง ทอดต์” ประธานสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ, ควีนฟาราห์ ปาห์ลาวี อดีตจักรพรรดินีอิหร่าน และไดอาน่า ปิกัสโซ

ภายใต้คำปฏิญาณตนว่าจะพัฒนากีฬาโลก และขับเคลื่อนกระบวนการโอลิมปิก สมาชิกใหม่ทั้ง 8 คน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการแบบบุคคล, กรรมการสหพันธ์ และกรรมการจากโอลิมปิกแห่งชาติ มีที่มาจากหลากหลายวงการ ทั้งเจ้าผู้ครองนคร, มหาเศรษฐี, นักธุรกิจ, ผู้บริหารกีฬา, นักสังคมสงเคราะห์ และองค์กรพัฒนาเอกชน

ประชุมไอโอซีประมุขโมนาโก
ประชุมไอโอซีประมุขโมนาโก

สำหรับการคัดเลือกไอโอซีเมมเบอร์เข้ามาทำหน้าที่ ทางไอโอซีจะมีกระบวนการที่เข้มข้นมาก ผ่านคณะกรรมการสรรหาหลายขั้นตอน โดยสัดส่วนจะแบ่งออกเป็นไอโอซี ประเภทบุคคล 70 คน มีวาระทำงานถึงอายุ 70 ปี และสามารถต่อได้จนถึงอายุ 80 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นราชวงศ์, เจ้าผู้ครองนคร, ผู้บริหารระดับสูง, นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และเอ็นจีโอ นอกนั้นจะเป็นผู้แทนสหพันธ์กีฬานานาชาติ 15 คน, ผู้แทนจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ 15 คน และผู้แทนนักกีฬาที่เคยเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิก 15 คน โดยจะอยู่ตามวาระที่กำหนด เรียกว่าใครได้มาทำหน้าที่นี้ถือเป็นบุคคลระดับสุดยอดของโลก

เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ต้อนรับคุณหญิงปัทมา
เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ต้อนรับคุณหญิงปัทมา

ตลอดเวลาของการทำงานด้านกีฬากว่า 15 ปี ถือว่า “คุณหญิงปัทมา” ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับวงการกีฬาไทย การได้นั่งตำแหน่งไอโอซีเมมเบอร์ ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ที่สุดด้านกีฬา (หากจะเปรียบก็เหมือนสังคมโลกที่มีองค์การสหประชาชาติคอยกำกับดูแล) ถือเป็นภารกิจเพื่อชาติ ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญให้สามารถทำประโยชน์ได้อย่างอเนกอนันต์ โดยหญิงเหล็กวงการกีฬาไทยให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทสุดกำลังความสามารถ และสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการกีฬาไทย ที่สำคัญจะใช้ประโยชน์จากกีฬาและคุณค่า ของโอลิมปิกในการให้ความรู้ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน โดยยึดถือปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ จะเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองและการค้า

ยินดีกับอดีตเลขาธิการยูเอ็น ได้แต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการจริยธรรมโอลิมปิก
ยินดีกับอดีตเลขาธิการยูเอ็น ได้แต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการจริยธรรมโอลิมปิก

เพราะถือคติทำอะไรต้องทุ่มเกินร้อย ตลอด 4 ปีเต็มของการนั่งเป็นกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จึงได้รับความไว้วางใจจากประธานไอโอซีให้รั้งตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง โดยเมื่อปี 2020 ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและมรดกโอลิมปิก (CULTURE AND OLYMPIC HERITAGE) ช่วยขับเคลื่อนโอลิมปิก ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัฒนธรรมของชาติสมาชิก เพื่อส่งเสริมหลักปรัชญาโอลิมปิกออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ควบคู่ไปกับตำแหน่งประธานคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมของไทย รวมไปถึงเป็นประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านวัฒนธรรม, กีฬา, แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้การทำงานร่วมกับไอโอซีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (OLYMPIC SOLIDALITY) มีหน้าที่กำกับดูแลการใช้เงินของกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่มีงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทในการพัฒนานักกีฬา สู่โอลิมปิกทุก 4 ปี

ยินดีกับไอโอซีใหม่ ประธานฟีฟ่า, ประธานสหพันธ์เทนนิส และประธานโอลิมปิกญี่ปุ่น
ยินดีกับไอโอซีใหม่ ประธานฟีฟ่า, ประธานสหพันธ์เทนนิส และประธานโอลิมปิกญี่ปุ่น

อีกหนึ่งความภูมิใจยังรวมถึงการอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของประเทศไทยจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ระดับสูงสุดของโลกแบบแข่งต่อเนื่องทั้งเดือน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้ระบบบับเบิล ที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้กับการแข่งขันกีฬานานาชาติอีกหลายรายการ ถึงขนาดที่ประธานไอโอซีได้ขอให้สมาคมกีฬาแบดมินตันฯ ภายใต้การนำของ “คุณหญิงปัทมา” สรุปรูปแบบ เพื่อนำไปปรับใช้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น…สมกับเป็นวันเดอร์วูแมนจริงๆ!!

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ