วันที่ 09 ส.ค. 2564 เวลา 18:16 น.
การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นที่มณฑลเหอหนาน ถือเป็น ‘โรงผลิตเหรียญกษาปณ์’ เก่าแก่สุดในโลก
เจิ้งโจว, 9 ส.ค. (ซินหัว) — คณะนักโบราณคดีของมหาวิทยาลัยเจิ้งโจว ซึ่งตั้งอยู่ที่มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ยืนยันผลการตรวจสอบอายุของซากโบราณสถานกวนจวงที่เมืองสิงหยางของเหอหนานด้วยวิธีคาร์บอน-14 บ่งชี้ว่ามีการหล่อเหรียญทองแดงในช่วง 640-550 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ผลการตรวจสอบข้างต้นถือเป็นการกำหนดกรอบเวลาของการผลิตเหรียญกษาปณ์ในจีนอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก และส่งผลให้ซากโบราณสถานกวนจวงเป็นที่ตั้งของโรงผลิตเหรียญกษาปณ์ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบในโลก
โบราณสถานกวนจวงเป็นซากเมืองเก่าแก่อันสมบูรณ์พร้อม ซึ่งปรากฏอยู่ในยุคราชวงศ์โจวตะวันตก (1046-771 ปีก่อนคริสตกาล) ถึงช่วงกลางยุควสันตสารทหรือยุคชุนชิว (770-476 ปีก่อนคริสตกาล) ก่อสร้างขึ้นเมื่อราว 800 ปีก่อนคริสตกาล และถูกทิ้งร้างเมื่อราว 450 ปีก่อนคริสตกาล
ปฏิบัติการขุดสำรวจซากโบราณสถานกวนจวงเริ่มต้นเมื่อปี 2010 นำไปสู่การค้นพบพื้นที่ขนาดใหญ่ของโรงผลิตงานหัตถกรรมหลากหลายประเภท อาทิ การหล่อเหรียญกษาปณ์ การทำเครื่องปั้นดินเผา และการแกะสลักกระดูก
ศาสตราจารย์หานกั๋วเหอ หัวหน้าภาควิชาโบราณคดีของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าโรงผลิตเหรียญกษาปณ์ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ทางเหนือตอนกลางของซากเมืองเก่าแก่แห่งนี้ และมีการค้นพบซากเหรียญปู้ปี้ (Spade money) รูปทรงคล้ายใบจอบ 4 แบบ ได้แก่ เหรียญคงโส่วปู้ปี้สภาพสมบูรณ์ เหรียญซินฟ่านที่ยังไม่ถูกใช้งานและใช้งานแล้ว และเหรียญไว่ฟ่าน
เนื้อหาข่าวและภาพด้วยความร่วมมือกับสำนักข่าวซินหัว