รู้จัก 7 เรื่อง “แดเนียล วิลเลียมส์” คู่ปรับรายต่อไปของ “รถถัง จิตรเมืองนนท์”


This image is not belong to us

รู้จัก 7 เรื่องราวของ “แดเนียล วิลเลียมส์” นักสู้หนุ่มลูกครึ่งไทย-ออสซี่ ที่จะเป็นคู่ปรับรายต่อไปของ “รถถัง จิตรเมืองนนท์”

วันที่ 5 เม.ย. 64 รู้จัก 7 เรื่องราวของ แดเนียล วิลเลียมส์ นักสู้หนุ่มลูกครึ่งไทย-ออสซี่ ที่จะเป็นคู่ปรับรายต่อไปของ รถถัง จิตรเมืองนนท์ ในศึก ONE on TNT I

จริงๆ แล้ว แดเนียล เกิดที่เมืองไทย แม่ของเขาอาศัยอยู่ที่ อ.พาน จ.เชียงราย พ่อของ แดเนียล ทำงานเหมืองแร่อยู่ที่ออสเตรเลีย จึงจำเป็นต้องเดินทางมา ๆ ไป ๆ ระหว่างสองประเทศ เขามีพี่ชาย 1 คนอายุห่างกัน 3 ปี แดเนียล ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ไม่นานแม่ก็พาย้ายไปอยู่ออสเตรเลียตอนอายุ 8 เดือน แน่นอนว่า แดเนียล ยังจำความอะไรไม่ได้ เมื่อโตขึ้นเขาไม่ได้สนใจที่จะเรียนภาษาไทยนัก จึงทำให้เขาใช้ภาษาพ่อเป็นหลัก และพูดภาษาแม่ได้เพียงเล็กน้อย ขณะที่พี่ชายพูดภาษาไทยได้มากกว่า

2.) ลุงของเขาเป็นนักมวย

แดเนียล มีโอกาสกลับมาเยี่ยมครอบครัวที่เมืองไทยราว 2-3 ปีครั้ง ตอนอายุ 4-5 ขวบเขามาเมืองไทยหนึ่งเดือน แม้จะไม่นานแต่ก็พอทำให้ แดเนียล จำความสนุกสนานในงานวัดและการร้องรำทำเพลงแบบไทย ๆ ได้บ้าง อีกทั้งยังเอ่ยถึงลุง (พี่ชายของแม่) ที่เป็นอดีตนักมวยนามว่า “ฟ้าทมิฬ ศิษย์ลบลอย” ซึ่งเขาเรียก “ลุงพล…ลุงพล” เขายอมรับว่าเขากลัว ลุงพล คนนี้ขึ้นสมอง แต่ก็ได้ยินเรื่องราวความเก่งของลุงในการชกมวย ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็ก 4-5 ขวบลูกครึ่งไทย-ออสซี่ ได้รู้จักคำว่า มวยไทย ก่อนที่มันจะกลายมาเป็นชีวิตจิตใจเขาทุกวันนี้

3.) เรียนรู้การต่อสู้ตั้งแต่ 6 ขวบ

ย้อนกลับไปสมัย 20 กว่าปีก่อน มวยไทยในออสเตรเลียยังถือเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจมากนัก การจะหาที่เรียนมวยไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แดเนียล ซึ่งชอบเล่นการต่อสู้ตามประสาเด็กผู้ชาย และมี “บรูซ ลี” เป็นขวัญใจ จึงเริ่มเรียนเทควันโดและคาราเต้ตอนอายุราว 6-7 ขวบ เมื่อได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งตอนอายุ 7 ขวบ แดเนียล จำได้แม่นยำว่าเขาได้สวมกางเกงมวยไปดูมวยที่งานวัดซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ บรรยากาศเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ มีเสียงคนเชียร์ เฮ เฮ ดังกึกก้อง ระหว่างที่เล่าไปสายตาของ แดเนียล ก็เป็นประกาย เขาบอกว่ามันสนุกจนแทบจะละสายตาไม่ได้เลย

สามปีให้หลังโชคดีที่มีโค้ชชาวออสซี่มาเปิดสอนมวยไทยในย่านที่เขาอาศัยในเมืองเพิร์ท แดเนียล กับ พี่ชาย จึงจูงมือกันไปเรียน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละชั่วโมงครึ่ง และได้ลองขึ้นชกมวยไทยสมัครเล่นครั้งแรก (สวมเฮดการ์ด สนับแข้ง สนับศอก) ตอนอายุ 15 ปี แม้เขาจะชนะคะแนนในไฟต์นั้น แต่เจ้าตัวยอมรับว่าการฝึกซ้อมและเทคนิคยังไม่ค่อยดีนัก การแข่งขันชกมวยไทยมีจัดไม่บ่อยในออสเตรเลีย ปีหนึ่ง แดเนียล ได้แข่งสักสองครั้งก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว ดังนั้นการสั่งสมประสบการณ์บนสังเวียนจึงทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และความรักในมวยไทยก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ

4.) ฝึกมวยที่เมืองไทย

หลังเรียนจบมัธยมปลาย แดเนียล ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย พร้อม ๆ กับทำงานพาร์ตไทม์รับจ้างเป็นพนักงานเช็ดกระจกเพื่อเก็บเล็กผสมน้อยโดยมีเป้าหมายที่จะมาเรียนมวยที่ประเทศไทย ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองและการสนับสนุนของพ่อแม่ แดเนียล บินลัดฟ้าจากเมืองเพิร์ท ออสเตรเลีย มายังค่ายมวย ว.สันใต้ จ.เชียงใหม่ รอบแรกเขามาฝึกมวยอยู่ได้เดือนเดียว และมีโอกาสขึ้นชกหนึ่งครั้ง ผลชนะน็อกยก 3 รับค่าตัวประมาณ 2,000-3,000 บาทแต่นั่นมันไม่สำคัญเท่ากับประสบการณ์มหาศาลที่เขาได้รับ เมื่อกลับไปบ้าน แดเนียล เก็บเงินมาเมืองไทยอีกครั้ง คราวนี้อยู่นานถึง 6 เดือน ยังดีที่เขาสามารถพักการเรียนที่มหาวิทยาลัยได้ และสามารถกลับไปเรียนต่อจนสำเร็จ อย่างไรก็ตามในช่วง 6 เดือนที่เมืองไทย แดเนียล ได้ขึ้นชก 7 ไฟต์ (ชนะ 5 แพ้ 2)

5.) แกร่งเหมือนแม่

ด้านแม่ของ แดเนียล แม้จะเติบโตมาจากครอบครัวที่มีพี่ชายเป็นนักมวย แต่ก็ไม่ใคร่จะยินดีเท่าไรนักที่เห็นลูกชายหันมายึดมวยไทยเป็นอาชีพ เพราะใจจริงแม่อยากให้เขาเรียนหมอมากกว่า แต่ด้วยความรักและความเข้าใจ รวมถึงพ่อที่คอยให้การสนับสนุน เพราะนี่คือชีวิตของ แดเนียล และเขาควรจะต้องเป็นคนเลือกทางเดินเอง แต่ครั้งใดที่ แดเนียล ขึ้นเวทีก็จะได้ยินเสียงแม่เชียร์ดังลั่นอยู่ข้างเวที เมื่อถาม แดเนียล ว่าเวลาเขาบาดเจ็บจากการชกมวย เขาเคยเห็นแม่ร้องไห้หรือห้ามปรามเขาไม่ให้ชกมวยอีกไหม คำตอบคือไม่ แดเนียล ไม่เคยเห็นแม่ร้องไห้เลย เขาเชื่อว่าแม่เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง และเขาก็อาจจะได้ส่วนดีตรงนี้จากแม่

6.) ชอบอาหารไทย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ แดเนียล จะชอบอาหารไทย ประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” อาหารมีความหลากหลาย ใครได้ลิ้มรสยากจะลืม อาหารไทยที่ แดเนียล โปรดปรานมีหลายอย่าง พูดถึงแล้วก็น้ำลายสอ มีทั้ง ก๋วยเตี๋ยว ลาบไก่ ข้าวเหนียวหมูย่าง ฯลฯ สมัย แดเนียล มาซ้อมมวยอยู่เมืองไทย เจ้าตัวยอมรับว่าบางทีก็ขัดสนเรื่องการเงินอยู่บ้าง ชกมวยได้ค่าตัวมา 2,000-3,000 บาท ไม่ออกไปเที่ยวไหนแต่ส่วนใหญ่จะหมดไปกับการกิน จึงจำเป็นต้องชกมวยบ่อย ๆ เพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายเป็นค่ากินอยู่

7.) เก่งรอบด้าน

อย่างที่บอกแต่เริ่มแรกว่านอกจากมวยไทยแล้ว แดเนียล ยังมีวิชาเทควันโดและคาราเต้เป็นพื้นฐานตั้งแต่วัยเด็ก หลังจากที่เจ้าตัวคลุกลีอยู่ในวงการการต่อสู้ แดเนียล จึงผันตัวไปสนใจกีฬาอื่นอย่าง คิกบ็อกซิ่ง หรือแม้แต่การต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ซึ่งต้องใช้ทักษะความสามารถในด้านยืนสู้และนอนสู้ผนวกเข้าด้วยกัน เรียกว่า ต้องเก่งรอบด้าน แดเนียล ประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการมวยไทย เป็นถึงแชมป์ WMC มวยไทย และในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมาเขาหันทุ่มเทฝึกฝนและลงแข่งขันเก็บประสบการณ์ในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานระดับอาชีพมาแล้ว 4 ไฟต์ จึงอาจจะห่างหายจากเวทีมวยไทยไปบ้าง อย่างไรก็ตาม การต้องกลับมาเปิดศึกกับแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นฟลายเวต อย่าง รถถัง ในกติกามวยไทย 3 ยก นวมเล็ก จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาคุ้นเคยกับมวยไทยและนวมเปิดนิ้ว 4 ออนซ์เป็นอย่างดี ที่สำคัญการชกกับ รถถัง ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและท้าทายตัวเองที่สุดเท่าที่ แดเนียล เคยผ่านมา

Cr.Photo : dan_mini_t