วธ. แจงผลขับเคลื่อน Soft Power วัฒนธรรม สร้างรายได้เพิ่ม เป็นที่รู้จักของนานาชาติ

วันพฤหัสบดี ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.)มีสมาชิกวุฒิสภา ได้ตั้งกระทู้ถามความคืบหน้ากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เรื่อง นโยบายการส่งเสริมการใช้ Soft Powerเพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศนั้นในฐานะผู้กำกับดูแล วธ. ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม สว. ว่า  ขณะนี้กระแส Soft Powerของไทยที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก เช่น วัฒนธรรมไทย เครื่องแต่งกายชุดไทย อาหารไทย ต้มยำกุ้ง มัสมั่น ข้าวเหนียวมะม่วง ศิลปะไทย โนราห์ มวยไทย ฯลฯ ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ เสริมสร้างภาพลักษณที่ดี ทั้งยัง

เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ทางรัฐบาล จึงให้ความสำคัญกับการใช้ Soft Power เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความมั่นคง และการสร้างเกียรติภูมิ ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีโลก โดยมอบหมายกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกำหนดแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัฒนธรรมไทย ผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมไปสู่ตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชนและประเทศชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่าการบูรณาการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม วธ.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายดำเนินงาน อาทิ โครงการเที่ยวชุมชนยลวิถี และคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ การพัฒนาแอปพลิเคชั่น “เที่ยวเท่ๆ เสน่ห์เมืองไทย” ที่ให้บริการสืบค้นข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวและชุมชนยลวิถี 76 จังหวัด การยกระดับเทศกาลประเพณีสู่ระดับชาติและนานาชาติ การขับเคลื่อนการเสนอแหล่งวัฒนธรรมเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก การจัดงานด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศ “งานมหกรรมศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ 2 Thailand Biennale,Korat 2021” การส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายใต้กรอบแนวคิด “5F” สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ในระดับสากล ประกอบด้วยอาหาร (Food) แฟชั่น (Fashion) ภาพยนตร์ (Film) ศิลปะการต่อสู้/มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี(Festival) งานภาพยนตร์ วีดิทัศน์ สื่อ และอุตสาหกรรมสารัตถะ (Content Industry)โดยจัดทำแผน นโยบาย และมาตรการส่งเสริม Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม


ทั้งนี้ ในภาพรวมรัฐบาลได้ขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจนสำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.มิติเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม อาทิ สินค้าวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์กว่า 1.45 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.9 ของ GDP การส่งออกอาหารไทยกว่า 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นอันดับ 13 ของโลก ผ้าไทยกว่า 8.5 พันล้านบาทผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย (CCPOT) ประมาณ 700 ล้านบาท อุตสาหกรรมสารัตถะ (Content) ของไทย สร้างรายได้ราว 200,000 ล้านบาทต่อปี เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” 786 ล้านบาท/ปี และการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ในปี 2564 จำนวน 5,000 ล้านบาท

2.มิติการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ จากผลสำรวจของสื่อมวลชน นิตยสาร ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ในปี 2564 อาทิ ประเทศไทยเป็นประเทศที่รุ่มรวยด้านมรดกวัฒนธรรมเป็นลำดับที่ 7ของโลกของ US News ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมเป็นลำดับที่ 5 ของโลก รายงานจากนิตยสาร CEO World ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 สุดยอดจุดหมายปลายทางของโลกโดย Mastercard และประเทศไทยยังได้เป็นอันดับ 1 สุดยอดเมือง Workation ของโลก จาก Holidu รวมถึงการประกาศรับรองจังหวัดเพชรบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร อีกทั้งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยได้รับการประกาศจากยูเนสโก และขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปี 2561 2562 และ 2564 ตามลำดับได้แก่ โขน นวดไทย และโนราห์ สำหรับในปี 2565 ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 เมืองที่ดีที่สุดในโลกที่เหมาะสำหรับดิจิทัลโนแมด จาก Instant Offices ประเทศไทยเป็นอันดับ 35 จากการจัดอันดับ Soft Power Index อีกด้วย