ศบค.จับตาการแพร่ระบาด COVID-19 ในบ้านเด็กอ่อนรังสิต จ.ปทุมธานี หลังพบติดเชื้อ 39 คน เป็นเด็ก 33 คน ผู้ดูแล 6 คน ขณะที่ กทม.เฝ้าระวัง 99 คลัสเตอร์ ล่าสุดพบ 3 คลัสเตอร์ใหม่ แคมป์ก่อสร้าง 2 แห่ง บริษัท 1 แห่ง ติดเชื้อรวม 450 คน
วันนี้ (24 มิ.ย.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 4,108 คน ยอดติดเชื้อสะสม 232,647 คน เสียชีวิตเพิ่ม 31 คน เสียชีวิตสะสม 1,775 คน หายป่วยเพิ่ม 1,578 คน หายป่วยสะสม 191,355 คน อยู่ระหว่างรักษาตัว 39,517 คน อาการหนัก 1,564 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 445 คน
สำหรับผู้เสียชีวิต 31 คน เป็นชาย 16 คน หญิง 15 คน อยู่ใน กทม. 28 คน, พระนครศรีอยุธยา 2 คน และลพบุรี 1 คน มีความเสี่ยงโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง 22 คน เบาหวาน 12 คน โรคไต 7 คน ไขมันในเลือดสูง 8 คน หลอดเลือดสมอง หัวใจ โรคปอด ภาวะอ้วน 2 คน และไม่มีโรคประจำตัว 1 คน
ทั้งนี้ กทม.พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 1,359 คน ยอดสะสมระลอก เม.ย. 63,835 คน โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ 3 คลัสเตอร์ รวมเฝ้าระวัง 99 คลัสเตอร์ กระจายใน 42 เขต
- คลัสเตอร์ใหม่ แคมป์ก่อสร้าง ซอยรามคำแหง 7 เขตบางกะปิ ตรวจหาเชื้อ 241 คน พบติดเชื้อ 164 คน หรือคิดเป็น 68%
- คลัสเตอร์ใหม่ แคมป์ก่อสร้าง สีลม ซอย 9 เขตบางรัก ตรวจหาเชื้อ 257 คน พบติดเชื้อ 126 คน หรือคิดเป็น 49%
- คลัสเตอร์ใหม่ บริษัทผลิตหมวกกันน็อก เขตบางขุนเทียน ตรวจหาเชื้อ 600 คน พบติดเชื้อ 160 คน หรือคิดเป็น 27.50% โดยผู้ป่วยรายแรกไม่มีอาการ แต่ตรวจหาเชื้อเพื่อเข้ารับการผ่าตัด จากนั้นได้ตรวจคัดกรองเชิงรุกในบริษัทดังกล่าว
ห่วงคลัสเตอร์ “บ้านเด็กอ่อนรังสิต”
พญ.อภิสมัย เปิดเผยว่า จ.สมุทรสาคร พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง ติดเชื้อ 9 คน และโรงงานกุ้ง ติดเชื้อ 9 คน นอกจากนี้ พบคลัสเตอร์ใหม่ เป็นโรงงานสาหร่ายแปรรูป จ.นนทบุรี ติดเชื้อ 11 คน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก หารือสถานการณ์ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี หลังพบคลัสเตอร์ใหม่บ้านเด็กอ่อนรังสิต อ.ธัญบุรี โดยมีเด็กทั้งหมด 164 คน พบติดเชื้อ 39 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 3-6 ปี 33 คน ผู้ดูแล 6 คน ซึ่งการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นพนักงานขับรถ โดยติดเชื้อเพียง 1 คน และกระจายเชื้อเป็นกลุ่มก้อน
ทั้งนี้ ที่ประชุม ศปก.ศบค. หารือและพิจารณากรณีการติดเชื้อจำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค โดยเสนอว่าจากเดิมกลุ่มดังกล่าวลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม อาจได้คิวฉีดวัคซีนเดือน ก.ค. ส.ค. หรือหลังจากนั้น จึงหารือพิจารณาให้กลุ่มดังกล่าวฉีดวัคซีนเร็วขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น โดยขอให้ติดตามประกาศจากโรงพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนไว้
ขยายเตียงผู้ป่วยสีเหลือง-แดง
ส่วนกรณีการจัดการเตียงในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงและเน้นย้ำให้ช่วยเหลือในการเพิ่มศักยภาพการขยายเตียง โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองและแดง ซึ่งที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือข้อเสนอ เช่น ยกระดับ รพ.บางขุนเทียน และ รพ.ราชพิพัฒน์ รวมทั้งหารือ รพ.เอกชน เช่น รพ.มงกุฎวัฒนะ รพ.ธนบุรี เพื่อปรับพื้นที่รองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการรุนแรง
นอกจากนี้ หารือให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวชิรพยาบาล ระดมบุคลากรเปิดเตียงรองรับผู้ป่วยอีก 50 เตียง ภายในเดือนนี้