ที่ประชุมคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ เห็นชอบให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูกฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ แต่ต้องพิจารณาตามความเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว โดยควรฉีดหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
วันนี้ (30 พ.ค.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรง เมื่อติดเชื้อ COVID-19 ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
จากการสำรวจของกรมอนามัย ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2563 – 27 พ.ค.2564 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 288 คน ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จะไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่ก็พบหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ COVID-199 แล้ว 6 คน ทารกเสียชีวิตในครรภ์ 1 คน อัตราคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 18 เด็กทารกคลอดออกมาแล้วติดเชื้อ 17 คน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เลขาธิการแพทยสภา ผู้แทนจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูก สามารถรับการฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ แต่ต้องพิจารณาจัดลำดับตามความเสี่ยงในรายที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หอบหืด ปอด ไทรอยด์ หรืออ้วน รวมถึงในรายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง แนะนำให้ได้รับการฉีดวัคซีนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูกจะต้องได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ ผลข้างเคียงของวัคซีน ความเสี่ยงที่จะติดโรค COVID-19 และความรุนแรงของโรคก่อนการตัดสินใจ โดยสามารถรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ทั้งภาครัฐและเอกชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แม่ตั้งครรภ์ติด COVID-19 ส่งผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่?