เริ่มแล้วปรับโฉมเวทีลุมพินี เปิดสังเวียนมวยตู้นัดแรก 13 มี.ค.นี้

กองทัพบกเดินหน้าปฎิรูปธุรกิจสีเทาเปลี่ยนโฉมสนามมวยลุมพินีล้างภาพคาบเกี่ยวการพนันสู่การเป็น“ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี)” อย่างครบวงจรชูศิลปะแม่ไม้มวยไทย พร้อมเปิดสังเวียนมวยตู้ผ่านสื่อออนไลน์-ทีวี.นัดแรกเสาร์ 13 มี.ค.นี้

หลังพล.อ.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศปฏิรูปสวัสดิการเชิงพาณิชย์ที่มีภาพลักษณ์คาบเกี่ยวกับการพนันทั้งสนามมมวยและสนามม้า โดยพลโทสันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบกในฐานะโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพบกได้ดำเนินการพัฒนาปรับรูปแบบการบริหารจัดการสวัสดิการของกองทัพ ให้เกิดประโยชน์ต่อกำลังพลและครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง ยึดถือแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ควบคู่กับแนวทางการพัฒนากองทัพบกตามห้วงระยะเวลา

โดยย้ำว่าสนามมวยเวทีลุมพินีจะยังเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่อยู่ในความดูแลของกองทัพบก และเป็นสนามมวยมาตรฐานที่อยู่คู่ประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 65 ปี เพื่อใช้สำหรับออกกำลังฝึกอบรมกีฬามวยไทย รวมถึงจัดการแข่งขันชกมวยไทยและสากลในนัดสำคัญ เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากนักกีฬาและประชาชนทั่วไปมาโดยตลอด ซึ่งกีฬามวยไทยจัดเป็นศิลปะการต่อสู้ของวัฒนธรรมไทยที่แฝงไว้ซึ่งศาสตร์และศิลป์นำมาซึ่งความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ที่ชาวไทยและชาวต่างชาติให้การยอมรับและให้ความสนใจ

This image is not belong to us

มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ใช้อวัยวะของร่างกายเป็นอาวุธประจำตน สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย ช่วยสร้างเสริมสมาธิ สุขภาพร่างกาย พร้อมการเรียนรู้วิธีการป้องกันตนเองเชิงรุกและรับ

เพื่อให้การบริหารจัดการสวัสดิการสนามมวยเวทีลุมพินี สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากองทัพบกอย่างเป็นรูปธรรม ในการใช้ทรัพยากรของกองทัพให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วนและสอดรับกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะมวยไทยให้ดำรงอยู่ คณะกรรมการอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินีได้มีมติเห็นชอบปรับรูปแบบการให้บริการสนามมวยเวทีลุมพินียกระดับสู่การเป็น “ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี)”

ภายใต้แนวคิดดังกล่าว นอกจากเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายให้กับกำลังพลและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นสถานที่จัดการแข่งขันแล้ว ได้มีการปรับรูปแบบพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านมวยไทย อันประกอบไปด้วยโรงเรียนฝึกสอนกีฬามวยไทย โรงเรียนฝึกอบรมครูมวย และโรงเรียนฝึกอบรมกรรมการผู้ตัดสิน พร้อมมอบใบประกาศให้กับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม อันจะสร้างความภาคภูมิใจและสามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพได้

นอกจากนั้นภายในศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี) ได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์รวบรวมประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและความสำคัญของกีฬามวยไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติ

สำหรับการแข่งขันชกมวยจะปรับรูปแบบใหม่จัดในระบบปิด สอดคล้องตามมาตรการ ศบค. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยงดการจำหน่ายบัตรและอนุญาตเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ได้เท่านั้น ซึ่งจะถ่ายทอดสดให้รับชมผ่านช่องทางออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ทุกวันอังคารและวันศุกร์ เวลา 20.30 – 22.30 น. วันเสาร์เวลา 14.00 – 16.00 น. และเวลา 16.00 – 18.00 น.โดยได้เปิดสังเวียนขึ้นชกครั้งแรกในวันเสาร์ ที่ 13 มี.ค. 64 นี้

ทั้งนี้กองทัพบกมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาการต่อสู้และศิลปะป้องกันตัวของไทย ผ่าน “ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี)” ซึ่งถือเป็นการยกระดับการบริหารจัดการสวัสดิการของกองทัพให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกำลังพลในทุกระดับรวมถึงประชาชนทั่วไป ในการใช้สถานที่และทรัพยากรให้เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นศูนย์รวมการผลิตบุคลากรกีฬามวยไทยที่มีคุณภาพ สร้างชื่อเสียงและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและกีฬาของประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน

This image is not belong to us

แนวคิด พล.อ.ณรงค์พันธ์ มุ่งยกเครื่องสวัสดิการเชิงพาณิชย์ของกองทัพบกทั้งหมดต่อยอดจากแนวทางของพลเอกอภิรชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งสวัสดิการภายในและนอกประกอบด้วย


1.พื้นที่ที่เป็นสนามกอล์ฟทั้ง 36 แห่ง จัดทำเป็นพื้นที่สวัสดิการเชิงธุรกิจ 1 แห่ง คือ สวนสนประดิพัทธ์ อีก 2 แห่งคือที่ รามอินทรา กทม. และ ลานนา จ.เชียงใหม่ อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมเอกสาร คงเหลือ 33 แห่งเป็นสวัสดิการภายใน

2.สนามมวย 3 แห่ง ได้ปิดถาวรไปแล้ว 2 แห่ง คือ ค่ายอดิศร จ.สระบุรี และค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา ส่วนสนามมวยลุมพินีดำเนินการไปแล้วตามที่ ผบ.ทบ.สั่งการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษา

3.สนามม้า จ.นครราชสีมา ผบ.ทบ.สั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการใช้พื้นที่ว่าจะให้รื้อเปลี่ยนจากสนามม้ามาใช้ประโยชน์รูปแบบอื่นหรือไม่ อาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือสวนสาธารณะเพื่อออกกำลังกายได้

4.สถานที่พักฟื้นพักผ่อน 5 แห่ง เข้าสู่สวัสดิการเชิงธุรกิจ 2 แห่ง คือ ไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ จ.เชียงราย และสวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนลานนา มทบ.33 จ.เชียงใหม่ กำลังดำเนินการ ขณะที่อีก 2 แห่งคือ บางปู จ.สมุทรปราการ และหาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี ยังคงเป็นสวัสดิการภายใน


ดังนั้นการชูแนวคิดปฏิรูปกิจการของกองทัพที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งผลประโยชน์ และที่รวมของกลุ่มอิทธิพลคนมีสีจึงเป็นการแสดงภาวะผู้นำและความตั้งใจของพล.อ.ณรงค์พันธ์ที่จะแสดงให้คนภายนอกเห็นถึงการล้างภาพกองทัพบกที่เชื่อมโยงกับธุรกิจสีเทาในอดีตให้ค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม