โววีนัม ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของเวียดนามที่มีมานานกว่า 100 ปี ไม่ต่างจากที่ประเทศไทยมีมวยไทย เกาหลีใต้มีเทควันโด หรือญี่ปุ่นมีกังฟู คาราเต้
แต่ที่น่าสนใจก็คือศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นกีฬาและเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการจัดแข่งขันมาแล้วทั้งระดับทวีปและระดับโลก รวมถึงในซีเกมส์ครั้งที่ 31 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพด้วยเช่นกัน
และที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือก่อนหน้านี้เมื่อ 15 ปีที่แล้วในสมัยที่เมืองไทยยังไม่มีใครรู้จักโววีนัม ได้มีนักกีฬาชาวไทยรายหนึ่งที่เดินทางไปคว้าแชมป์โลกได้ถึงแผ่นดินต้นกำเนิดมาแล้ว
เรื่องราวทั้งหมดเป็นเช่นไร ติดตามได้ที่ Main Stand
จากเวียดนามสู่เมืองไทย
โววีนัม (Vovinam) ถูกคิดค้นขึ้นโดย มาสเตอร์ เหวียน ลอค ในปี 1938 เพื่อฝึกฝนให้ชาวเวียดนามได้เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวเมื่อครั้งที่พวกเขายังตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส โดยผสมผสานรูปแบบการต่อสู้ที่หลากหลายในแถบเอเชียเข้ากับศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิมของเวียดนาม มีทั้งการเตะ การต่อย ตลอดจนการใช้อาวุธที่เต็มไปด้วยความแข็งแรงแต่ก็แฝงด้วยความอ่อนช้อย รวดเร็ว ว่องไว คล้ายคลึงกับมวยไทย มวยจีน และเทควันโด
Photo : vovinamstmartin.com.au
มาสเตอร์เหวียน ลอค ได้เดินทางเผยแพร่ศิลปะโววีนัมทั่วเวียดนามจนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังนานาประเทศผ่านทางชาวเวียดนามที่อพยพย้ายถิ่นฐานหลังสงครามสงบ จนเกิดเป็นโรงเรียนสอนโววีนัมมากมายกว่า 60 แห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา สเปน เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย อิหร่าน ไต้หวัน กัมพูชา สิงคโปร์ ฯลฯ
เมื่อเริ่มได้รับความนิยมและมีการฝึกสอนมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงศิลปะการต่อสู้ โววีนัมจึงค่อย ๆ ถูกพัฒนาให้กลายเป็นกีฬามากขึ้น โดยมีการจัดชิงแชมป์ทั้งในระดับทวีปและระดับโลก จนกระทั่งในปี 2009 ที่ได้รับการบรรจุเข้าชิงชัยในศึกเอเชียนอินดอร์เกมส์เป็นครั้งแรกที่ประเทศเวียดนาม และนั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวไทยได้เริ่มรู้จักกับกีฬาชนิดนี้
“ตอนปี 2007 ผมเห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าในเอเชียนอินดอร์เกมส์ 2009 จะมีการบรรจุกีฬาโววีนัมเข้าไปเป็นกีฬาใหม่ มีรูปแบบคล้ายมวยไทยผสมกับเทควันโด คือสู้แบบมวยไทยแต่ให้แต้มแบบเทควันโด ผมเป็นนักเทควันโดทีมชาติอยู่แล้วเลยอยากลองอะไรใหม่ ๆ ดู เพราะตอนนั้นคนไทยยังไม่มีใครรู้จักโววีนัมเลย” ปราโมทย์ สุขสถิตย์ หรือ “โค้ชปลา” หัวหน้าผู้ฝึกสอนทัพนักกีฬาโววีนัมทีมชาติไทยในปัจจุบัน กล่าว
Photo : facebook.com/Vovinam-Association-of-Thailand
ปราโมทย์ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำโววีนัมเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นคนแรก โดยหลังจากที่เห็นข่าวและอยากจะลองเล่นกีฬาชนิดนี้ เขาได้ค้นคว้าเพิ่มเติมจนเจอข้อมูลบนเว็บไซต์และได้ติดต่อผ่านอีเมลกับทางมาสเตอร์ เหวียน วัง จิว ซึ่งเป็นประธานสมาพันธ์โววีนัมของเวียดนามในขณะนั้น เพื่อขอเดินทางไปร่ำเรียนศาสตร์และซึมซับวิชาการต่อสู้ด้วยตนเองถึงแผ่นดินโฮจิมินห์
เมื่อไปถึงเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี โดยฝึกฝนอยู่ที่สวนหลังบ้านของมาสเตอร์เหวียน วัง จิว อยู่นานกว่า 1 เดือน เพื่อเรียนรู้เทคนิคและทำความเข้าใจกับกฎกติกาของโววีนัมให้กระจ่างแจ้ง ก่อนจะเดินทางกลับมาเมืองไทยเพื่อฟอร์มทีมหาคนที่สนใจมาร่วมเดินบนเส้นทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายคือลงแข่งขันในศึกชิงแชมป์โลก หรือ เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ 2007 ที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ
แชมป์โลกคนแรก
ในขณะที่ปราโมทย์เดินทางกลับถึงเมืองไทยด้วยความฝันและความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม เขาได้ไปเจอกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังฝึกซ้อมมวยไทยอยู่ในฟิตเนสย่านใจกลางเมืองกรุง เมื่อเห็นวี่แววและหน่วยก้านที่เข้าตาจึงไม่รอช้าที่จะบอกเล่าความฝันและชักชวนมาร่วมทีม ก่อนจะรู้ภายหลังว่าเด็กหนุ่มรายนี้มีดีกรีที่ไม่ธรรมดา
ศิริชัย มงคลเสถียรเลิศ หรือ “อั๋น” คือเด็กหนุ่มคนนั้น … ภาพในตอนนั้นเขาอาจดูเหมือนเป็นเพียงพนักงานขายสินค้าที่มาชกมวยเพื่อออกกำลังกายทั่วไป แต่หากย้อนกลับไปสมัยเด็กเขาขึ้นชื่อว่าเป็นนักมวยไทยดาวรุ่งอนาคตไกลรายหนึ่งเลยทีเดียว
อั๋นชกมวยไทยมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ หลังจากที่คุณพ่อพาไปฝากฝังตัวกับค่ายศิษย์ยอดธง ของ “ครูตุ้ย” ยอดธง เสนานันท์ บรมครูมวยของไทย พร้อมผ่านการขึ้นชกบนเวทีลุมพีนีและราชดำเนินมาแล้วภายใต้ชื่อ “ไม้ดัด ศิษย์ยอดธง” และ “มังกรฟ้า ลูกทัพฟ้า” โดยเคยทำสถิติชกชนะ 10 ไฟต์รวด และน็อกถึง 6 ไฟต์ ไม่แพ้ใคร ก่อนจะตัดสินใจหันหลังให้วงการตอนอายุ 14 เนื่องจากเบื่อกับการฝึกซ้อม อยากจะออกไปใช้ชีวิตอิสระเที่ยวเล่นตามประสาวัยรุ่นทั่วไป
การที่เขาได้มาเจอกับโค้ชปลาและได้รู้จักกับกีฬาโววีนัมจึงเหมือนเป็นการปลุกจิตวิญญาณนักสู้ให้กลับมามีความท้าทายอีกครั้ง
“ตอนนั้นผมอายุ 24 แล้ว หลังจากเลิกชกมวยไทยก็ไม่เคยชกรายการอะไรเลย โค้ชปลาเขาคงเห็นแววเราเลยชวนไปคัดตัวเป็นนักกีฬาโววีนัม ตอนแรกผมไม่รู้จักเลย โค้ชปลาก็บอกว่ามันเหมือนมวยไทยเลยแค่ห้ามตีเข่ากับฟันศอก เลยลองเปิดคลิปดู มีการกระโดดหนีบ กระโดดถีบขาคู่ด้วย เหมือนเทควันโดผสมมวยไทยผสมกังฟู คิดว่ามันน่าสนใจดี ผมชอบกีฬาต่อสู้อยู่แล้วด้วย คิดว่าน่าจะไปได้ เลยตัดสินใจว่าจะลองไปคัดตัวดู” ศิริชัย เผยถึงวินาทีแรกที่ทั้งคู่ได้มาพบเจอกัน
เด็กหนุ่มตัดสินใจไปคัดตัวที่มหาวิทยาลัยมหิดลตามคำเชิญก่อนจะได้ติดทีมเข้าเก็บตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเดินทางไปแข่งขันศึกชิงแชมป์โลก 2007 ที่เมืองโฮจิมินห์ ซึ่งนักกีฬาส่วนใหญ่ที่ติดมาด้วยล้วนแต่เป็นนักมวยไทยอาชีพและนักเทควันโด อาทิ บิ๊กเบน ช.พระราม 6 กำปั้นดีกรีแชมป์เวทีราชดำเนิน และ วิชิต สิทธิกัณฑ์ หรือ “โค้ชชิต” ผู้ฝึกสอนกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยในปัจจุบัน
“เป็นนักมวยไทยปรับตัวง่ายเลย ต่อยเหมือนกัน มีอัปเปอร์คัท มีเตะหัวเหมือนกัน ถีบก็ได้ แค่ห้ามเตะขา ห้ามตีเข่า ห้ามฟันศอก และมีท่าเฉพาะของโววีนัมที่ต้องบังคับใช้ในการแข่งขันด้วยเท่านั้น ตอนนั้นผมเอาจริงเอาจังเลย ถึงแม้จะเป็นกีฬาที่ไม่นิยม ยังเป็นแค่ชมรมไม่มีสมาคมรองรับ ไม่มีเบี้ยเลี้ยงฝึกซ้อม ค่าเครื่องบิน ค่าอาหาร ต้องสปอนเซอร์ตัวเองหมด ไปด้วยใจล้วน ๆ แต่ก็ได้ไปแข่งในนามทีมชาติไทย ได้ความภาคภูมิใจและได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วย”
“พอไปถึงเวียดนาม ตื่นเต้นมาก เขามีการโปรโมต ติดธงตามถนน คนดูให้ความสนใจเข้ามาดูเป็นร้อย มีการถ่ายทอดสดด้วย ส่วนนักกีฬาที่เข้าแข่งขันก็มีหลายประเทศทั้ง เวียดนาม เยอรมนี รัสเซีย เบลเยียม ฝรั่งเศส บูร์กินาฟาโซ” ศิริชัย เล่าย้อนถึงความหลัง
แม้จะแข่งโววีนัมอย่างเป็นทางการครั้งแรก แต่ทักษะด้านมวยไทยที่มีติดตัวมาตั้งแต่เด็กของอั๋นก็ทำให้เขาโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม โดยรอบแรกพลิกสถานการณ์ทำแต้มแซงเฉือนชนะรัสเซียไปอย่างหวุดหวิดทั้งที่ตอนออกสตาร์ทเป็นฝ่ายโดนไล่ถลุงอยู่ข้างเดียวจนเมาหมัดสะบักสะบอม
ก่อนที่รอบสองจะโชว์เตะก้านคอชนะน็อกคู่แข่งจากเบลเยียมไปอย่างไม่ยากเย็น ผ่านเข้าสู่ตัดเชือกไปเจอนักกีฬาไทยด้วยกันเอง แต่รุ่นน้องได้เสียสละให้เจ้าตัวชนะบายเข้ารอบเพื่อที่รักษาความสมบูรณ์ของร่างกายเอาไว้ เนื่องจากรอบชิงชนะเลิศต้องพบกับเจ้าตำรับอย่างเวียดนาม
“พวกยุโรปจุดเด่นคือใช้หมัดได้ดีและตัวใหญ่ ส่วนเวียดนามเขาจะครบเครื่องทั้งหมัดทั้งเตะ และมีลูกเล่นมีเทคนิคที่เยอะกว่า เพราะเขาฝึกมาทางนี้โดยเฉพาะ เช่น การกระโดดหนีบ หมัดกลับหลังชก ซึ่งเขาจะทำได้ดีกว่าพอสมควร”
“พอถึงรอบชิงฯ สิ่งที่ผมคิดคือถ้าไม่ชนะน็อกก็คงแพ้อยู่ดี เพราะเขาเป็นเจ้าภาพด้วยเป็นต้นตำรับด้วย ตอนแข่งปกติเราต้องใส่สนับแข้งกันเจ็บเอาไว้ แต่ผมถอดออกเลย เพราะคิดว่าแมตช์สุดท้ายแล้วเป็นไงเป็นกัน”
“ปรากฏว่าไอ้แข้งของผมที่ต่อยมวยไทยมาเนี่ยมันแข็งกว่า พอเขาเตะมาผมยกบังแล้วก็เตะสวนไป ขาเขาเหมือนจะกระดูกแตกจนลุกมาสู้ต่อไม่ไหว ผมก็เลยชนะน็อกตั้งแต่ยกแรก ได้เหรียญทองมา ดีใจมาก” อั๋น กล่าวด้วยในหน้าภาคภูมิใจ
หลังจากสร้างชื่อเป็นนักโววีนัมไทยคนแรกที่คว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ อั๋นเฝ้าฝันถึงอนาคตอันสดใสที่รออยู่ข้างหน้าเพราะนอกจากจะมีแข่งในเอเชียนอินดอร์เกมส์ 2009 แล้ว ยังมีบรรจุในซีเกมส์ 2011 ที่อินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพด้วยเช่นกัน … แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่คิด
ความฝันพังทลาย
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น “แชมป์โลก” แต่อั๋นและวงการโววีนัมไทยก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เขาไม่ได้รับรางวัลหรือเงินอัดฉีดใด ๆ จากภาครัฐและเอกชน แต่เจ้าตัวก็ยังไม่ย่อท้อมุ่งมั่นฝึกซ้อมต่อเพื่อรอเข้าชิงชัยใน 2 ทัวร์นาเมนท์ที่รออยู่ข้างหน้า
“หลังจากคว้าแชมป์โลกกลับมาก็ไม่มีโปรแกรมแข่ง ผมได้แต่ฝึกซ้อมและต้องทำงานควบคู่กันไปด้วย ระหว่างซ้อมก็คิดตลอด เอาเว้ย อีก 2 ปีก็จะได้แข่งแล้ว จนถึงช่วงก่อนเปิดเอเชียนอินดอร์เกมส์ ซึ่งทางเวียดนามก็ส่งหนังสือเชิญเราไปแข่งพร้อมเตรียมออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป”
“ตอนนั้นเราเป็นเพียงชมรมไม่ได้เป็นสมาคม ยังไม่มีสมาคมโววีนัมแห่งประเทศไทย ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยจะส่งเราไปแข่งในนามชมรมมันไม่ได้ ก็เลยไม่ได้ให้เราไปแข่ง ผมเลยผิดหวัง ก็ไม่รู้จะเล่นไปทำไม ไม่มีเงินสนับสนุน ไม่มีอนาคต ก็เลยเลิกเล่นไปเลย” ศิริชัย เผยถึงวินาทีที่ยุติเส้นทางการเป็นนักโววีนัมของตัวเอง
การตัดสินใจเลิกเล่นโววีนัมของอั๋นซึ่งมีดีกรีเป็นถึงแชมป์โลกได้สะท้อนภาพของกีฬาชนิดนี้ในเมืองไทยเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากเลิกเล่นเจ้าตัวก็แทบจะปิดรับข่าวสารทุกอย่างไปเลยเช่นกัน โดยเปลี่ยนไปลองเล่น MMA ต่ออยู่พักหนึ่ง ก่อนผันตัวมาทำธุรกิจเปิดศูนย์ฟิตเนสเพื่อสุขภาพ ดูแลรักษาอาการบาดเจ็บโดยการออกกำลังกาย สำหรับ บุคคลทั่วไป ผู้สูงวัย คนท้อง ตลอดจนคนที่มีโรคประจำตัว ในชื่อ “โค้ชอั๋น Exclusive Rehab Gym” บริเวณแยกอสมท. ถนนพระราม 9 จนถึงปัจจุบัน
Photo : facebook.com/Vovinam-Association-of-Thailand
เช่นเดียวกับ “โค้ชปลา” เขาผิดหวังไม่ต่างจากลูกศิษย์ แม้จะพยายามยื้อเพื่อหวังก่อตั้งสมาคมต่ออยู่อีก 2 ปีแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและต้องเลิกเล่นไปเช่นกัน … ทั้งผู้บุกเบิกและนักกีฬาแชมป์โลกต่างเลิกเล่นกันหมดเพราะไร้การสนับสนุน โววีนัมในเมืองไทยจึงแทบจะสูญสลายหายไปเลยเช่นกัน
กระทั่งในปี 2014 สันติภาพ อินทรพัฒน์ อดีตนายกสมาคมมวยไทยแห่งประเทศไทย และประธานสหพันธ์มวยไทยแห่งเอเชีย (ฟามา) ได้ให้ความสนใจและต้องการที่จะฟื้นฟูกีฬาโววีนัมในเมืองไทยให้กลับมามีการแข่งขันอีกครั้ง จึงได้เชิญ “โค้ชปลา” มาร่วมงานในฐานะผู้ฝึกสอน
ทั้งคู่พยายามเดินหน้าทำเรื่องจัดตั้งสมาคมต่อทันที ควบคู่กับการจัดแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อเฟ้นหานักกีฬาส่งแข่งขันในระดับนานาชาติทั้งชิงแชมป์อาเซียน ชิงแชมป์เอเชีย จนถึงชิงแชมป์โลก ตลอดจนระดับเยาวชนอย่างกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน จนเริ่มมีผลงานต่อเนื่องและได้รับการจดทะเบียนก่อตั้งเป็น “สมาคมกีฬาโววีนัมแห่งประเทศไทย” สำเร็จในปี 2018 โดยมีเป้าหมายคือส่งชิงชัยในศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม
Photo : facebook.com/Vovinam-Association-of-Thailand
“หลังก่อตั้งสมาคมได้สำเร็จ ได้รับการสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย โววีนัมในเมืองไทยก็เหมือนก้าวกระโดด เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ซึ่งเราต้องส่งแผนการทำงานให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีการจัดอบรมผู้ฝึกสอน จัดชิงแชมป์ประเทศไทยเพื่อคัดเลือกนักกีฬาอันดับ 1-3 มาเก็บตัวเข้าแคมป์ทีมชาติ”
“ถัดมาในปี 2019 เราส่งนักกีฬาไปแข่งขันชิงแชมป์โลกอีกครั้ง ได้มา 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง ได้อันดับ 4 จาก 27 ประเทศ ซึ่งถือว่าดีกว่าปี 2007 ที่ได้เพียง 1 เหรียญทองจากอั๋นแค่คนเดียว และได้อันดับ 6 จาก 24 ประเทศ ทุกอย่างพัฒนาขึ้นมากก่อนจะมาชะลอเพราะโควิด” โค้ชปลา กล่าว
แม้จะมีการพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน แต่คำถามที่ทุกคนคงอดสงสัยไม่ได้ก็คือ กีฬาชนิดนี้จะยั่งยืนขนาดไหน เพราะแม้จะมีการจัดแข่งระดับโลกแต่ก็ไม่ได้เป็นกีฬาอาชีพ แถมยังไม่มีชิงชัยในเอเชียนเกมส์และโอลิมปิก … หรือพูดง่าย ๆ ว่าเราจะมาเล่นโววีนัมไปเพื่ออะไรเพราะยังมีกีฬาอีกหลายประเภทที่ดูมีอนาคตสดใสมากกว่า ?
เส้นทางที่ต่อยอด
อย่างที่กล่าวไปในว่าเวียดนามถือเป็นต้นตำรับของกีฬาโววีนัม ดังนั้นพวกเขาจึงไม่พลาดที่จะบรรจุกีฬาชนิดนี้ลงบนผังชิงชัยในศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ตนเองเป็นเจ้าภาพ โดยจัดชิงชัยมากถึง 15 เหรียญทอง (แถมยังจัดแข่ง 5 วันสุดท้ายเพื่อหวังโกยเหรียญทองในช่วงปลายเสียด้วย) มีทั้งประเภทต่อสู้ 6 เหรียญทอง และการแสดงโชว์ทักษะ ท่ารำมือเปล่า รำประกอบอาวุธ ตลอดจนการแสดงคิวบู๊แบบคู่และกลุ่ม 4 คน อีก 9 เหรียญทอง
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือการเป็นเจ้าครั้งนี้ของเวียดนามอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กีฬาโววีนัมถูกต่อยอดอย่างยั่งยืนมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งต่อไปปี 2023 คือ กัมพูชา ที่มีความนิยมในกีฬาชนิดนี้ไม่แพ้กัน ต่อด้วยปี 2025 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตามกฏมนตรีซีเกมส์กีฬาชนิดไหนที่ถูกจัดแข่งต่อเนื่อง 3 ครั้งติดต่อกันก็มีโอกาสสูงที่จะได้บรรจุในผังซีเกมส์ไปตลอด
“ในปี 2025 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ เราซึ่งเป็นสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยแล้วก็คงบรรจุกีฬาโววีนัมด้วยแน่นอน ตรงนี้จะเป็นก้าวสำคัญอย่างมาก เพราะหลังจากนั้นหากได้มีบรรจุในซีเกมส์อย่างถาวรก็จะมองถึงเอเชียนเกมส์ต่อได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องอยู่ที่ประเทศเจ้าภาพและประเทศสมาชิกที่อยู่ในสหพันธ์โววีนัมเอเชียว่าแข็งแรงพอไหม” โค้ชปลา กล่าว
เฮดโค้ชโววีนัมไทยยังเผยต่อว่าปัจจุบันนี้กีฬาโววีนัมได้รับการพัฒนาขึ้นมาก มีการแสดงแต้มบนสกอร์บอร์ดไฟฟ้าชัดเจน ต่างจากแต่ก่อนที่อาศัยเพียงการชูธงหลังจบยกโดยที่นักกีฬาไม่รู้เลยว่าตนเองมีแต้มนำหรือตามอยู่เท่าไหร่ เช่นเดียวกับกฏกติกาต่าง ๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น จนเริ่มมีผู้สนใจเริ่มต้นฝึกเบสิคของโววีนัมล้วน ๆ แล้วเช่นกัน
จุดเด่นและจุดขายของโววีนัมก็คือท่าเฉพาะตัวที่เรียกว่า “ดอง ชิง ถัง กัง” เช่นการกระโดดใช้ขาหนีบ หรือการกระโดดถีบขาคู่
ชมท่าทางได้ที่ :
ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ทั้งโค้ชปลาและอั๋นมองว่าสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ในการเป็นนักแสดงหรือสตั๊นท์แมนในอนาคต และสามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็กจนถึงอายุ 50-60 ปี
“พวกท่าบังคับต่าง ๆ นี่ถือเป็นจุดขายเลย แต่ละท่าสวย ๆ ทั้งนั้น ยิ่งถ้าได้ดูการแข่งประเภทโชว์เพอร์ฟอร์แมนซ์ที่มีบทมีคิวบู๊ยิ่งตื่นตาตื่นใจ ผมมองว่าท่าพวกนี้สามารถต่อยอดไปใช้ในการแสดงหรือเป็นสตั๊นท์แมนได้เลย มันมีเสน่ห์เฉพาะตัวจริง ๆ เป็นแนวใหม่ที่ไม่ค่อยมีใครเห็นการต่อสู้สไตล์นี้”
“กีฬาทุกอย่างมันก็ดีหมดแหละ เราไปเล่นก็ได้สุขภาพเป็นอันดับแรก ถือเป็นกำไรแล้ว ยิ่งถ้าเป็นกีฬาต่อสู้ก็ได้ใช้ป้องกันตัวเองได้ด้วย ทำให้ร่างกายตัวเองแข็งแรง อย่าเพิ่งไปคิดว่ามันจะต้องได้เงินทองชื่อเสียงกลับมาอย่างเดีย แค่เราชอบและสนุกก็พอแล้ว” อั๋น แชมป์โลกโววีนัมคนแรกของไทยทิ้งท้าย