โบ๊ท – ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ อาจเป็นบุคคลจากสายมวยไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ปรากฏตัวตามหน้าสื่อกระแสหลักบ่อยที่สุด ในช่วงระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา
ด้วยบุคลิกที่ตรงไปตรงมา กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ เขาจึงเป็นหัวหอกในการเรียกร้อง ส่งเสียงของคนมวยให้ดังไปถึงสังคม รวมไปถึงกรณีล่าสุดเคส “การล้มมวย” ซึ่งเขาเป็นคนแรกที่ออกมาเปิดโปงขบวนการนี้อย่างจริงจัง
Muay Thai Stand ขอประเดิมบทสัมภาษณ์ชิ้นแรกของเรา ด้วยการพูดคุยกับ “ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์” ถึงช่วงเวลา 1 ปีครึ่งของคนทำงานโปรโมเตอร์ ที่ยอมขาดทุนจัดมวยในช่วงวิกฤตโควิด-19 และสิ่งที่เขาอยากเห็นจากวงการมวยไทยหลังจากนี้
นี่เป็นครั้งแรกที่วงการมวยไทยเจอโรคระบาดแบบ โควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานมาเกิน 1 ปีครึ่งแล้ว ในฐานะโปรโมเตอร์ผู้จัดศึกเพชรยินดีและหัวหน้าคณะ ช่วงเวลาที่ผ่านมาต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง?
ปี 2563 ทั้งปีเราได้ทำงานกันได้แค่ 6 เดือน ส่วนปี 2564 ในช่วงครึ่งปีแรก เราก็ทำงานกันแค่ 1 เดือนครึ่งเท่านั้น
ถึงแม้ว่ามวยจะหยุดแข่ง แต่พนักงานเราไม่หยุด พนักงานเราต้องกินต้องใช้ ทุกคนอยู่หมด เราไม่ได้ไล่ใครออก นักมวยอีก 50 ชีวิต พนักงาน 50-60 คน เราก็กัดฟันสู้ เพราะหวังว่าในอนาคตจะดีขึ้น
นั่นเป็นเหตุผลที่คุณและโปรโมเตอร์ท่านอื่น ๆ ต้องหันมาจัดมวยแบบระบบปิด? ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
ใช่ เราต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเอง พยายามจัดมวยระบบปิด ถ้าเราไม่จัดเด็กนักมวยก็ไม่มีรายได้ ซึ่งจัดไปก็มีแต่ขาดทุนกับขาดทุน
เพราะในอดีตเรา (โปรโมเตอร์) มีรายได้จากค่าตั๋วเข้าชม แต่ตอนนี้เราต้องควักเงินออกมาใช้ เพื่อให้ระบบได้รันต่อไป กัดฟันครับ เรายอมเจ็บเพื่อให้ทุกอย่างเดิน
ปกติจัดมวย 10 คู่ต่อ 1 วัน เราจัดศึกเพชรยินดี เป็นประจำทุกวันพฤหัสบดีกับวันศุกร์ เฉพาะค่าตัวนักมวยก็ 4-5 แสนบาทแล้ว ถ้ารวมค่าถ่ายทอดสดกับค่าตัวนักมวยก็ 7-8 แสนบาท อันนี้คือเรตราคาประหยัดที่สุดแล้ว
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เราจัดนักมวยที่มีค่าตัวแพงรวม ๆ ต่อ 1 นัดค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 1.2 – 1.3 ล้านบาท ตกแล้วยังได้กำไรนิดหน่อย พอมามีโควิด ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมแต่รายได้ไม่มี เก็บค่าตั๋วไม่ได้ ผู้สนับสนุนทางทีวีก็หายอีก
และถ้าในภาพกว้าง วงการมวยไทยได้รับผลกระทบและความเสียหายรุนแรงแค่ไหนจากวิกฤตครั้งนี้?
นับตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาด คนวงการมวย ไล่มาตั้งแต่นายสนามมวย, คนจัดมวย และนักมวย ได้มีระยะเวลาทำงานประกอบอาชีพกันไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็ไม่มีงาน ไม่มีรายได้
แม้ตอนนี้เริ่มกลับมาจัดได้แล้วและดูเหมือนว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่เราไม่ได้มองแค่ตรงนั้น เพราะต่อให้โควิดจบความเสียหายก็ยังคงอยู่
บางบาดแผลไม่ได้ออกฤทธิ์ภายในวันเดียว แต่อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีผลกระทบตามมาอีกเพียบ เช่น พัฒนาการของมวยเด็ก นี่คือจุดได้เปรียบของเราที่เหนือกว่าต่างประเทศ
ได้เปรียบอย่างไร?
ปกติถ้าไม่มีโควิด เด็กต่างจังหวัด ตัวเล็ก ๆ ชกกันตามงาดวัดเป็นว่าเล่น เพื่อเสริมสร้างให้กระดูกมวยแข็งแรงต่างกับมวยประเทศอื่นที่มาฝึกฝนตอนโตแล้ว ทำให้เวลาเราไปชกไม่เสียเปรียบ แม้ยุโรปธรรมชาติกระดูกกล้ามเนื้อจะแข็งแรงและมีขนาดใหญ่กว่าของคนเอเชีย แต่ถ้าเป็นมวยไทย ถึงเขาตัวใหญ่กว่า แต่ถ้าเตะเราเขาก็จะเจ็บเอง
นี่จึงเป็นที่มาของคำว่ากระดูกมวย พอมีโควิดมากระทบพัฒนาการตรงนี้ก็หายไป อนาคตเราคงจะไม่ได้เห็นสุดยอดมวยเด็กที่เป็นคนดังมีชื่อเสียงเข้ามาชกในเวทีกรุงเทพอีกแล้ว
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
เพราะที่ผ่านมาทรัพยากรนักมวยเด็กบ้านเรามักถูกปล่อยปละละเลยเรา ไม่ได้รับการสนับสนุนสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะค่ายมวยต่างจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตนักมวยไทยอาชีพ
อย่างน้อยๆ ผมคิดว่าภาครัฐควรสนับสนุนอุปกรณ์มวยให้เขาก็ยังดี หรือช่วยแบบให้เป็นเงินบำรุงสโมสรแบบฟุตบอลที่ให้ไปเลยค่ายละ 5,000-10,000 บาท เป็นตัวเงินที่ไม่มาก แต่เขาจะได้มีกำลังใจทำต่อ เราต้องพัฒนาเส้นเลือดใหญ่ นั่นคือในภาคท้องถิ่น
ซึ่งต้นตอมันก็มาจากการที่วงการมวยไม่เคยมีการพัฒนาที่เป็นแบบแผน ไม่มีโรดแมป แบบ 3 ปี 5 ปี 10 ปี เราจะไปแบบไหน ? อยู่ตรงจุดไหน ? เราต้องร่วมมือกันและทำอย่างเป็นระบบชัดเจน
ที่ว่าชัดเจน ต้องเป็นรูปธรรมแบบไหน?
ผมอยากให้ดูฟุตบอลเป็นตัวอย่าง เขามียุทธศาสตร์ เช่น อีก 20 ปีจะไปบอลโลก แต่มวยไทยไร้เป้าหมาย แม้แต่งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ยังมีไม่ถึง 10 ชิ้นบนโลกใบนี้
มองภาพแบบลีกของฟุตบอลที่ทำลีกภูธรให้แข็งแกร่งก่อน ดูมวยภูธรสิ สนามมวยภูธรหายไป เวทีอดิศร สระบุรีเลิกไปแเล้ว เวทีมวยสุรนารี โคราชก็เลิกไปแล้ว
นี่คือเส้นทางสู่กรุงเทพฯ ทั้งนั้น แต่เวทีปั้นดาวภูธรสู่นครบาลเลิกไปหมด ส่งสัญญาณอันตรายกับวงการแน่นอน เอาเข้าจริงแล้วมวยไทยไม่สาบสูญหรอก แต่จะไปอยู่ในมือของใครเท่านั้นเอง
แสดงว่าคุณต้องการเห็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนามวยไทยอย่างเป็นรูปธรรม ? ถ้าถามคุณในฐานะคนทำมวยที่คลุกคลีกับวงการ คิดว่ามวยไทยควรต้องปฏิรูปไปในทิศทางไหน?
ในมุมผมถ้าผมได้มีโอกาสวางยุทธศาสตร์มวยไทย ขั้นแรกขอ 3 ปีเพื่อการพลิกฟื้นวงการ หรือในอีก 5 ปี 10 ปี เราควรจะมีทัวร์นาเมนต์ระดับโลกเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับ ONE Championship
ลองคิดดูเราไม่ได้เห็น บัวขาว บัญชาเมฆ ต่อยในไทยมากี่ปีแล้ว? บัวขาวไปชกต่างประเทศเพราะในบ้านเราไม่มีเงินจ้าง นี่ไงฝรั่งเขาเอาคุณค่าเอามรดกของเราไปใช้
ประเทศจีนหรือชาติในยุโรป เอามวยไทยของเราไปต่อยอดธุรกิจและดัดแปลงทำเงินได้มหาศาล ทั้งที่เป็นของของเราแท้ๆ แต่เราทำไม่ได้เท่าเขา
ผมจะเล่าให้ฟัง กีฬามวยไทยเป็นประเภทของการต่อสู้ที่ค่าตัวน้อยกว่า MMA = Mixed Martial Arts (กีฬาต่อสู้แบบผสมผสาน) และ คิกบ็อกซิ่ง ทั้งที่นักสู้ MMA มาฝึกวิชามวยไทยที่บ้านเราเยอะมาก ทั้งที่คิกบ็อกซิ่งก็ดัดแปลงไปจากมวยไทย
ถ้าผลประโยชน์ตรงนี้ตกอยู่กับเรา เงินจะอยู่ที่เรา เราจะพัฒนามวยไทยไปได้ ดีกับทุกส่วนของวงการ โปรโมเตอร์ก็ดี สนามมวยก็จะมีเงินมากขึ้น หัวหน้าคณะจะได้ส่วนแบ่งมากขึ้น นักมวยก็ด้วย
เรามีทรัพยากรแต่เราไม่มีองค์ก็รองรับ จริง ๆ แล้วการจะเชื่อมต่อวงการมวยไทยเข้ากับภาครัฐจะต้องมีสมาคม เช่น สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่เขาไปหาเงินจากคนข้างนอกมาบริหารและสนับสนุนวงการ
แต่มวยไทยกำลังถูกผลักดันให้เข้าสู่ โอลิมปิก นะ?
ดีครับ แต่หันมามองตัวเองบ้าง เอาสภาพเราให้มันดีก่อน เรายังไม่มีลีกสมัครเล่นแล้วจะไปโอลิมปิกได้อย่างไร? เราต้องสร้างรากฐานตัวเองให้แข็งแรงเพื่อสอดรับกับระดับโลก
ช่วงชีวิตการทำมวยที่ผ่านมา คุณเคยได้ยินเรื่องการล้มมวย แต่พอวันหนึ่งมาเจอเหตุการณ์แบบนี้กับตัวเอง ในศึกของตัวเองที่จัดดเอง ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ความรู้สึกของคุณเป็นยังไง?
จริง ๆ แล้วเรื่องล้มมวยมีมานานมาก ๆ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เพราะวงการมวยไทยคงแยกกันไม่ออกกับการพนัน แต่ถ้าไม่มีการพนันมวยไทยก็คงไม่อยู่รอดมาถึงวันนี้เช่นเดียวกัน
ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผมที่จับมวยล้มได้ด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นการจับแบบคาหนังคาเขา สืบได้ถึงผู้ว่าจ้างวาน ส่วนตัวผมรังเกียจเรื่องของมวยล้มเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะการล้มมวยถือว่าเป็นเรื่องบ่อนทำลายวงการมวยไทย
สำหรับคนมวยคนอื่น ๆ อาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับผมเองถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดในวงการมวยไทย ถ้าเราปล่อยผ่านหรือไม่รีบที่จะควบคุม แน่นอนที่สุดมันก็จะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกและวงการมวยไทยที่ตกต่ำอยู่แล้วก็จะยิ่งตกต่ำจนหาจุดกลับตัวไม่เจอแน่นอน
คุณเปิดหน้าออกมาลุยเต็มตัว และเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก แสดงว่าการล้มมวยไม่ได้มีแค่ 1-2 คู่เท่านั้นที่คุณจับได้
ผมเปิดหน้าเป็นศัตรูกับขบวนการมวยล้มทุกรูปแบบ เพราะผมรู้ดีว่าการล้มมวยถือว่าเป็นหายนะของวงการมวยไทย
ที่ผ่านมามวยล้มมีมาตลอด แต่เป็นพวกเราเองในสังคมมวยต่างหากที่ปล่อยผ่าน ไม่เอาจริงเอาจัง กับการป้องปรามหรือเอาผิดผู้กระทำผิด
พอถึงเวลาก็มาขอกัน มีสินไหมตอบแทนกัน จนในที่สุดเรื่องมวยล้มก็ยังคงเป็นปัญหาของวงการมวยไทย ที่แก้ไม่ตกกันสักที
การล้มมวยจะหายไปจากวงการได้ไหม และหนทางแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการล้มมวยอีก ในมุมมองของคุณต้องจัดการ หรือมีใครเข้ามาดูแลตรวจสอบไหม?
ผมเชื่อว่าทุกปัญหามันสามารถถูกกำจัดออกไปจากสังคมได้ ถ้าเราเอาจริงเอาจังกับการแก้ไข ไม่ใช่พอมีเรื่องทีก็ตื่นตัวทีหนึ่ง
สำคัญที่สุดคือการปลุกจิตสำนึกของนักมวยให้รักและซื่อสัตย์ต่ออาชีพ อย่าคิดชั่วทำลายอาชีพของตัวเอง
สุดท้ายแล้วเราทุกคนในวงการมวยไทยต้องช่วยกัน ใช้กฎหมายที่เรามีอยู่เป็นเครื่องมือในการขจัดมวยล้มให้สิ้นซาก ถ้าสังคมมวยเอาจริงเอาจังมากกว่านี้ ผมเชื่อว่าปัญหาที่ว่ายากหรือไม่มีทางเป็นไปได้ มันก็สามารถที่จะกำจัดไปได้ในที่สุด
อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ปี 2565 สิ่งที่ ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในวงการมวยไทยคืออะไร?
อย่าเพิ่งพูดถึงปีหน้า เอาปีนี้ให้รอดและเจ็บน้อยที่สุดก่อน ผมย้ำและพูดมาหลายปีแล้ว เราต้องรีบทำยุทธศาสตร์วงการมวยไทยได้แล้ว
ตามจริงแล้วผมอยากช่วยทั้งวงการนะ แต่ผมช่วยไม่ไหว ผมยังมีฝันเดิมที่อยากเห็นนักมวยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรถแพง ๆ ขับ ใส่เสื้อผ้าดี ซึ่งภาครัฐควรมีสวัสดิการดูแลเขาบ้าง ไม่ใช่สนใจแค่ตอนมีชื่อเสียง พอเลิกมวยมาไม่มีใครแยแส ไปเป็นเดินโต๋เต๋ถือขวดเหล้าขาวอยู่กลางทุ่งนา