เด็กชายคนหนึ่งหวังจะไปโอลิมปิกในฐานะนักมวยตัวทีมชาติสหรัฐอเมริกามาทั้งชีวิต ทว่าอีกก้าวเดียวแท้ๆ ความฝันกลับไม่เป็นจริงเพราะเกิดเหตุบางอย่าง
อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวในครั้งแรกทำให้เขาเปลี่ยนเส้นทางสายหมัดมวยเสียใหม่ และกลายเป็นคนที่โลกจดจำ เพียงแต่ว่าเส้นทางทั้ง 2 แบบ ไม่สามารถมาบรรจบกันได้ในโลกแห่งความจริง และทำให้เขาฝันค้างไปตลอดกาล
นี่คือเรื่องราวของ คีธ ลิดเดลล์ นักชกที่ตั้งใจทำลายสถิติโลกจนบ้าคลั่ง.. แม้กระทั่งโอลิมปิกก็ไม่ได้ไป
ชิคาโก แดนคนมวย
ย่านบร็องซ์ แห่งมหานครนิวยอร์ก อาจจะขึ้นชื่อในเรื่องการสร้างแชมป์โลกในวงการมวยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ยุค เจค ลาม็อตตา มาจนถึง ชูการ์ เรย์ โรบินสัน และแม้แต่ ไมค์ ไทสัน ก็มีถิ่นกำเนิดมาจากย่านบร็องซ์ทั้งหมด ซึ่งทำให้ที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า “บ้านของแชมป์” อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่งที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ พวกเขาก็มีวัฒนธรรมมวยและเป็นบ้านของแชมป์โลกอีกที่หนึ่งด้วย
แม้ ชิคาโก จะไม่ขึ้นชื่อเท่า บร็องซ์ ที่พวกเขาก็สร้างนักชกอย่าง โทนี่ ซาเล เจ้าของฉายา “แมน ออฟ สตีล” แชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวตในยุค 40s นอกจากนี้ยังมียอดมวยมากมายที่เกิด, โต และเป็นความภาคภูมิใจของชิคาโก ทั้ง เออร์นี่ เทอร์เรลล์, แจ็คกี้ ฟิลด์ส, เอ็ดดี้ เพอร์กินส์, จอห์นนี่ โคลอน หรือแม้แต่กระทั่งเจ้าของรางวัลนวมทองอย่าง แฮโรลด์ เดด ก็เกิดและโตที่ชิคาโกเช่นกัน
สิ่งที่แตกต่างระหว่าง บร็องซ์ กับ ชิคาโก คือ เหล่าฮีโร่วงการมวยจากชิคาโกนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักมวยรุ่นเก่า อยู่ในยุคทีวีขาวดำทั้งนั้น ทว่าชิคาโกขาดโคตรมวยในยุค 70s เป็นต้นมา นั่นจึงทำให้พวกเขาไม่ได้ถูกจดจำในฐานะ “บ้านของแชมป์” เท่าไรนัก อีกทั้งในยุคหลังๆ ความนิยมในการเป็นนักมวยตามรอย “ความภาคภูมิใจของเมือง” ยังลดน้อยถอยลงไป เพราะเจอกระแสจากทีมบาสเกตบอล NBA อย่าง ชิคาโก บูลส์ ในยุค 90 นำโดย “GOAT” อย่าง ไมเคิล จอร์แดน ที่ทำให้ ชิคาโก เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เด็กๆที่ชิคาโกหลายคนมีความฝันที่จะเป็นนักมวยไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยลักษณะของคนชิคาโกนั้นถูกเรียกว่า “เมืองที่แข็งขันที่สุด” หรือเรียกอีกชื่อว่า “ชาวญี่ปุ่นแห่งอเมริกาเหนือ” เหตุผลเกิดจากปี 1871 ที่เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ จนเมืองโดนทำลายไปครึ่งเมือง แต่คนที่นี่ก็สร้างเมืองกันใหม่ขึ้นมาอย่างแข็งขัน และถือโอกาสจัดระเบียบเมืองขึ้นมาใหม่ มีการแบ่งโซนต่างๆชัดเจน และนั่นทำให้โซนตอนใต้ของชิคาโก กลายเป็นถิ่นของ “คนผิวดำ” ที่รวมตัวกันขึ้นมาจนเป็นสังคมใหญ่และเป็น “เจ้าถิ่น” ในย่านนั้นขึ้นมา ซึ่งหลายคนอยากจะเป็นนักมวย
“มวยคือโอกาสที่ทำให้เราได้ออกจากที่นี่ การเติบโตในชิคาโก ทำให้คุณเห็นการซื้อขายยาเสพติด การโจมตีกันระหว่างแก๊ง ถ้าคุณไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของภาพชินตาเหล่านี้ คำตอบของคุณคือ ชกมวย” เด็กหนุ่มวัย 15 ปี ชาวชิคาโกคนหนึ่ง กล่าวในสารคดีเรื่อง “A Fighting Chance” ซึ่งเป็นสารคดีที่ว่าด้วยวัฒนธรรมของการชกมวยในเมืองชิคาโก
สารคดีเล่าว่า ชิคาโกเป็นเมืองที่มีลมหายใจแห่งการต่อสู้ พวกเขามีโรงยิมรองรับนักมวยมากมายทั่วทั้งเมือง บางที่ถูกสร้างขึ้นมาและเปิดให้ใช้แบบไม่คิดเงินด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในช่วงปลายยุค 90s เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาที่ย่านตอนใต้ของชิคาโก เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน พวกเขาใช้มวยเป็นกีฬาที่ดึงเด็กๆออกจากความรุนแรง และสุดท้ายถ้าโชคดีพอ พวกเขาจะได้เด็กคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจจริง และพร้อมจะเป็นนักมวยที่ดีในอนาคต และเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนรุ่นต่อๆไป
ซึ่งชื่อของ คีธ ลิดเดลล์ คือ 1 ในนั้น
The Windy City
ชิคาโก ได้รับฉายาว่าเป็น “The Windy City” เพราะเป็นเมืองที่มีลมพัดจากทะเลสาบมิชิแกนตลอดเวลา และในขณะเดียวกัน สายลมนี้เองที่ทำให้ คีธ ลิดเดลล์ ลืมตาตื่นแต่เช้าทุกวันออกมาวิ่งวอร์มร่างกายก่อนฟ้าจะสว่าง และหลังกินข้าวเช้าเสร็จเขาจะออกไปซ้อมมวยทันที
ความตั้งใจเดียวของ คีธ ลิดเดลล์ คือการไต่เต้าพาตัวเองขึ้นไปเป็นเส้นทางยอดมวย โดยปกติแล้ว เส้นทางจะเริ่มจากการเป็นนักมวยในระดับเยาวชน เริ่มชกในแบบมวยสากลสมัครเล่น คัดตัวเข้าทีมชาติ ไปชกในโอลิมปิก และสุดท้ายก็เทิร์นโปรเป็นนักชกอาชีพ นี่คือเส้นทางที่นักมวยระดับโลกแทบทุกคนเคยผ่านมาทั้งสิ้น และ คีธ ก็มั่นใจว่าเขาจะสามารถทำเช่นนั้นได้
ในระดับเยาวชน คีธ เป็นเด็กระดับหัวแถวของรัฐอิลลินอยส์ เขาคว้าแชมป์ของรัฐในระดับเยาวชนมาแล้ว ความเก่งกาจเล่าลือเกี่ยวกับเด็กที่ชื่อว่า คีธ ลิดเดลล์ คือ เด็กหนุ่มที่ออกหมัดได้ไวกว่าการกระพริบตา ซึ่งนั่นคือจุดเด่นที่ทำให้เขาเอาดีบนเส้นทางหมัดมวยได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งมาถึงในช่วงปี 2006 ที่เริ่มมีการคัดตัวนักชกระดับสมัครเล่นเพื่อติดทีมชาติสหรัฐอเมริกา ไปแข่งโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน คีธก็เข้าร่วม ด้วยความเก่งกาจและชื่อเสียงเรื่องหมัดความเร็วแสงที่หลายคนกล่าวถึง ทำให้ใครต่อใครต่างบอกว่า “เขาจะได้ไปโอลิมปิกแน่นอน”
ทว่าชีวิตคนบทจะหมดดวงมันก็ดวงกุดไปแบบไม่น่าเชื่อ คีธผ่านรอบคัดตัวมาจนถึงเกือบรอบสุดท้าย ทว่าก่อนจะขึ้นชกคัดตัวติดทีมชาติไม่กี่วัน เขาเกิดอาการไส้เลื่อนอักเสบอย่างกระทันหัน จนต้องเข้ารับการผ่าตัดในทันที และนั่นทำให้ฝันการไปโอลิมปิกครั้งแรกของเขาจบลง
4 ปีที่พยายามมาแทบสูญเปล่า นั่นทำให้สภาพจิตใจของเขาย่ำแย่มาก และโค้ชของเขาที่ชื่อว่า แลร์รี่ แทงค์สัน ต้องการปลอบประโลมให้เขามีเป้าหมายต่อไป แม้จะไม่ได้ไปโอลิมปีก แต่ก็ยังสามารถเป็นที่ 1 ของโลกได้ในสิ่งที่เขาโดดเด่นที่สุด นั่นคือ “การเป็นเจ้าแห่งหมัดความเร็วแสง”
“โค้ชมาบอกว่าผมว่า ถ้าหมัดของแกอัดเข้าหลอดลมของใครสักคน ใครคนนั้นจะต้องตายคาสนามแน่นอน ตอนแรกผมก็คิดว่าเขาปลอบใจผม ผมเองก็ไม่ได้คิดอะไรลึกล้ำขนาดนั้นหรอกนะว่าหมัดของผมจะไวปานสายฟ้าอย่างที่ใครเขาว่า” คีธ ว่าเช่นนั้น
ทั้งสองคนปิดคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าเว็บไซต์ของ กินเนสส์ เวิลด์ เร็คคอร์ดส์ ดู และพบว่ามีบางสถิติที่เขาทำได้ เขาเปิดเจอว่า ณ ปี 2008 ชายผู้ถูกบันทึกว่าปล่อยหมัดได้เร็วที่สุดในโลกคือ จอห์น โฮซูมา นักมวยจาก ซาน โฮเซ สหรัฐอเมริกา ความเร็วที่โฮซูมาทำไว้คือ 43.3 ไมล์ต่อชั่วโมง (70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และโค้ชของ คีธ บอกกับเขาเพียงสั้นๆว่า “แกต่อยได้เร็วกว่านั้นอีกไอ้หนู”
“โค้ชเริ่มบอกว่า แกเองก็เร็วใช่เล่นนะ ทำไมไม่ลองทำลายสถิติโลกดูล่ะ? จากนั้นเรื่องทั้งหมดก็เริ่มขึ้น” คีธ เล่าแบบไม่อาย เขาอยากจะทำลายสถิตินั้น เขารู้ว่า ชิคาโก คือดินแดนของยอดมวย และจะปล่อยให้สถิติที่ยอดเยี่ยมและคู่ควรกับชาวชิคาโกแบบนี้ไปอยู่ที่เมืองอื่นๆไม่ได้เด็ดขาด คนที่ชกเร็วเหมือนกับสายลมต้องมาจาก The Windy City เท่านั้น
เอาจริงจนกลายเป็นอัจฉริยะ
แม้จะเป็นแคมเปญสั้นๆที่โค้ชส่วนตัวเสนอ แต่สำหรับ คีธ ลิดเดลล์ การทำลายสถิติโลกในหมวดหมู่การปล่อยหมัดที่เร็วที่สุดในโลก ทำให้เขา “อิน” เป็นพิเศษ รู้ตัวอีกทีเขาก็กลายเป็นคนบ้าเรื่องการวิเคราะห์และหาวิธีทำลายสถิตินั้นอย่างจริงจังไปเสียแล้ว
“ชิคาโก ต้องเป็นเมืองของคนมีแฮนด์สปีดสูงที่สุดในโลก นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการให้คนอื่นๆเห็น” เขาว่ากับ Chicago Tribune
“ผมมีทีมงานวิเคราะห์เป็นของตัวเอง พวกเขาทำงานหนักและส่งบททดสอบมากมายให้ผมทำ หมัดที่ปล่อยออกไปจะแค่เร็วอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหนักและเข้าเป้าด้วย”
1 ปีเต็มๆกับการไล่หวดกระสอบทรายแบบวัดความเร็วและความแม่นยำ ในขณะที่ โอลิมปิก 2008 จบลงไปนานแล้ว แต่ คีธ ลิดเดลล์ ยังคงทำงานหนักในแบบของตัวเอง เมื่อเวลาผ่านไป หมัดที่เคยเร็วและแรงเป็นทุนเดิมก็เร็วยิ่งขึ้นไปอีกจนหลายคนคิดว่า “พร้อมแล้วสำหรับสถิติโลก”
“เรามีถุงที่คล้ายกับโล่ถุงหนึ่งที่เอาไว้ใช้คอยรับหมัดแย็บของผม โดยมี แทงค์สัน จับถุงนั้นอยู่ด้านหลัง จนกระทั่งวันหนึ่งเขาบอกว่าพอแล้ว ได้ที่แล้วล่ะ เพราะเขารู้สึกว่าเหมือนกับแขนเขาจะหัก นั่นแสดงว่ามันเร็วและแรงขึ้นจนพร้อมสำหรับการทำลายสถิติโลก”
หลังจากทุกอย่างพร้อมแล้ว พวกเขาก็เชิญผู้บันทึกสถิติจาก กินเนสส์ บุค มาเฝ้าดูการทดสอบของ คีธ ลิดเดลล์ ซึ่งแน่นอนว่าการฝึกต่อยเร็วๆอย่างเดียวมาเป็นปีๆ มีหรือที่จะทำไม่ได้ คีธ ถอยไกลจากระยะทดสอบราว 2 เมตร จากนั้นก็เหวี่ยงหมัดดังเปรี้ยง! เครื่องจับความเร็วจับได้ที่ 44 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือเท่ากับ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายสถิติเดิมอย่างเป็นเอกฉันท์ เขาพาสถิติโลกกลับสู่ “The Windy City” เรียบร้อยแล้ว
ติดแล้วเลิกยาก
หลังจากทำลายสถิติโลกได้แล้ว แทนที่ คีธ จะกลับมาฝึกชกมวยอีกครั้งเพื่อเตรียมตัวไปโอลิมปิก 2012 กลับกลายเป็นว่าเขาไม่ทำแบบนั้นอีกแล้ว เพราะการเจอเคล็ดลับการต่อยเร็วที่สุดในโลก ทำให้เขาอยากจะทำลายสถิติของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
“เคล็ดลับคือคุณต้องเคลื่อนไหวและบิดตัวด้วยเร็วสูงมาก ต้องสร้างแรงบิดเหมือนเหมือนกับการออกตัวของรถมอเตอร์ไซค์ พุ่งทะยานไปข้างหน้าและเหวี่ยงไปแทบทั้งตัว” เขาเปิดเผยเคล็ดลับนั้น
“ความเร็วนี้แหละที่จะทำให้ผมทำลายสถิติโลก แต่ผมก็ไม่แน่ใจนะว่า คนโดนหมัดนี้เข้าไปจริงๆจะเป็นยังไง? และผมหวังว่าผมจะไม่โดนใครชกด้วยความเร็วขนาดนี้เหมือนกัน”
สิ่งที่ คีธ พยายามทำลายสถิติตัวเองมายาวนาน สถิติความเร็ว 44 ไมล์ต่อชั่วโมงยังคงอยู่ไม่มีใครทำลายได้ จนกระทั่งในปี 2013 เขาสามารถทำลายสถิติเดิมได้อีกครั้งด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นเป็น 45 ไมล์ต่อชั่วโมง (72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งความสำเร็จนี้ทำให้เกิดการอิ่มตัว และเริ่มกลับมาโฟกัสกับการไปโอลิมปิกปี 2016 แทน เพราะนี่คือรถไฟขบวนสุดท้ายของเขาแล้วในฐานะนักมวยทีมชาติสหรัฐอเมริกา
แต่สุดท้าย ร่างกายที่ผ่านการตรากตรำ เหวี่ยงและบิดตัวมาซ้ำๆอยู่ 6-7 ปี ก็ทรุดโทรมจนไม่พร้อมที่จะมาชกมวยที่ต้องยืนระยะให้ครบยกอีกต่อไป คีธ ลิดเดลล์ กล่าวยืนยันด้วยตัวเองว่า การฝึกหมัดที่เร็วเป็นสถิติโลกนั้นทำให้ทั้งร่างกายและสมองทำงานหนักมากๆ ซึ่งเมื่อประกอบกับในปี 2016 นั้นสภาพร่างกายของเขาเลยจุดพีกไปแล้วด้วย จึงทำให้สุดท้ายความหวังในการไปโอลิมปิกของเขาก็สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบัน คีธ ลิดเดลล์ มีอาชีพเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์และนักเขียน นอกจากนี้ยังทำคลิปเกี่ยวกับเรื่องการชกมวยด้วยความเร็วลงใน YouTube ที่ช่อง Keith Liddell อีกด้วย
สุดท้ายแล้วความฝันของเด็กหนุ่มจากชิคาโกก็ไปได้ไม่สุดทาง ทำได้แค่ “เกือบๆ” เท่านั้น แต่อย่างไรเสีย แม้การแข่งขันชกมวยในโอลิมปิกจะไม่เคยได้บันทึกสถิติของ คีธ ลิดเดลล์ แต่อย่างน้อย ชื่อของเขาก็ถูกบันทึกไว้ใน กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ ที่ไม่มีใครสามารถทำลายมันได้จนกระทั่งทุกวันนี้
ระเบิดความมันของสุดย…
สนามมวยลุมพินี ประกา…
This website uses cookies.