“การต่อสู้มีอยู่ในสังเวียน ส่วนสงครามมีอยู่บนกระดาน”
ประโยคแสนเร้าใจนี้ คือคำขวัญขององค์การมวยหมากรุกโลก ส่วนกลางที่ทำหน้าที่ดูแลการแข่งขันกีฬาสุดแปลกที่คนไทยอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน
แต่สำหรับชาวตะวันตก มวยหมากรุกเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นกีฬาที่เป็นโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันทดสอบความสามารถ ทั้งทางร่างกายและมันสมอง ผ่านองค์ประกอบของ 2 กีฬาที่แตกต่างกันสุดขั้ว
“หมากรุก” และ “มวยสากล” ไม่ควรจะรวมเป็นกีฬาเดียวกัน แต่ด้วยมันสมองของชายผู้มีใจรักทั้งสองกีฬา แต่ขาดพรสวรรค์ เขาจึงสร้างกีฬามวยหมากรุก ที่สามารถทำลายอคติที่มีต่อนักสู้บนผืนผ้าใบลงอย่างราบคาบ
แรงบันดาลใจจากการ์ตูน
มวยหมากรุก ปรากฎขึ้นครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Mystery of Chessboxing (1979) หนังฮ่องกงที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ต้องการล้างแค้นให้บิดา จึงฝากตัวเป็นศิษย์กับเซียนหมากรุก ที่มีเบื้องหลังเป็นปรมาจารย์กังฟู
ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชื่นชอบกีฬาต่อสู้ในกรุงลอนดอน ในช่วงปลายยุค 1970s มีหลักฐานว่า เจมส์ และ สจ็วร์ต โรบินสัน สองพี่น้องนักมวยชาวอังกฤษ ชื่นชอบที่จะชกมวยและเล่นหมากรุกไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม พี่น้องโรบินสันไม่ได้แผ่ขยาย หรือคิดจะพัฒนามวยหมากรุกให้เป็นกีฬาชนิดใหม่
ต้นกำเนิดที่แท้จริงของมวยหมากรุกในปัจจุบัน จึงมาจาก เอนกี บีลาล นักวาดการ์ตูนชาวฝรั่งเศสที่เขียนการ์ตูนเรื่อง Froid Équateur ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของมวยหมากรุก การต่อสู้ที่จับนักมวยสองคนซึ่งต่อสู้กันจนไม่เหลือสภาพความเป็นคน มาเผชิญหน้าบนสมรภูมิหมากรุก เพื่อวัดว่าใครจะเป็นสุดยอดทั้งด้านพละกำลัง และมันสมอง
เรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อที่ปรากฎในหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ กลายเป็นภาพฝังใจใครหลายคน หนึ่งในนั้นคือ อีเป รูบิง ศิลปินชาวดัตช์ที่ไร้พรสวรรค์ แต่มีใจรักในการชกมวย วันหนึ่ง เขาได้พบกับเพื่อนที่เคยเล่นหมากรุกด้วยกันในสมัยเรียน รูบิงจึงเกิดไอเดียสุดบรรเจิด ในการสร้างกีฬามวยหมากรุกให้เป็นรูปร่างขึ้นมา
“ผมนึกถึงการ์ตูนเล่มนี้ (Froid Équateur) ที่เคยอ่านตั้งแต่อายุ 17 ปี ผมเลยบอกกับเพื่อนของผมว่า เราเล่นหมากรุกกันอยู่แล้ว และตอนนี้เราก็ต่อยมวยกันทั้งคู่ ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราไม่ลองรวมมันเข้าด้วยกัน” อีเป รูบิง ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของสถาบัน WCBO บอกเล่าต้นกำเนิดของมวยหมากรุก
ปี 2003 การแข่งขันมวยหมากรุกถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน กีฬาชนิดนี้เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรูบิง เขารีบก่อตั้งสถาบันที่จะรับรองการแข่งขันในชื่อ องค์การมวยหมากรุกโลก หรือ WCBO และยื่นเรื่องต่อสมาคมมวยดัตช์ รวมถึงสมาพันธ์หมากรุกดัตช์ เพื่อจัดทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกในปีเดียวกัน
รูบิง ประสบความสำเร็จในการสร้างทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกดั่งใจหวัง การแข่งขันจัดขึ้นในปี 2003 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยแชมป์โลกคนแรกไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก อีเป รูบิง หลังเอาชนะคู่แข่งในยก 11 ของการแข่งขัน เนื่องจากคู่แข่งขันใช้เวลาในการคำนวณหมากรุกเกินเวลา
การคว้าแชมป์โลกมวยหมากรุกของ อีเป รูบิง สร้างความสนใจให้แก่กีฬามวยหมากรุก เนื่องจากชัยชนะของเขาไม่ได้มาจากกำปั้นอันหนักหน่วง หรือ ร่างกายที่แข็งแรงกำยำ แต่มาจากมันสมองที่เหนือกว่าคู่ต่อสู้บนกระดานหมากรุก ด้วยกติกาและวิธีการต่อสู้ที่แตกต่างออกไป
พละกำลัง และ มันสมอง
มวยหมากรุกแบ่งการต่อสู้ออกเป็น 11 ยก แบ่งเป็นหมากรุก 6 ยก มวยสากล 5 ยก โดยการแข่งขันจะเริ่มต้นด้วยเกมหมากรุกในยกแรก จากนั้นในยกที่สองจึงเป็นการแข่งขันชกมวย และจะสลับกันไปเรื่อย ๆ ระหว่างหมากรุกและมวย จนกว่าการแข่งขันจะสิ้นสุด
การตัดสินหาผู้ชนะมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น น็อคคู่ต่อสู้บนเวทีมวย, รุกฆาตคู่แข่งขันบนกระดานหมากรุก, คู่ต่อสู้ใช้เวลาในการคำนวณหมากรุกเกินเวลา, คู่แข่งขันไม่สามารถเดินหมากรุกในยกดังกล่าว และ คู่ต่อสู้ยอมแพ้ในการต่อสู้ (มวย หรือ หมากรุก)
ในกรณีที่นักชกทั้งสองฝ่ายไม่สามารถน็อคคู่ต่อสู้บนเวทีมวย และไม่มีฝั่งใดเพลี่ยงพล้ำบนกระดานหมากรุก การแข่งขันจะถูกตัดสินโดยการนับแต้มคะแนนแบบมวยสากล แต่ถ้าแต้มทั้งสองฝ่ายเท่ากันอีก ฝั่งที่ใช้หมากสีดำจะถือเป็นผู้ชนะ เนื่องจากหมากรุกของฝ่ายขาวมีข้อได้เปรียบจากการเดินหมากก่อน
กฎกติกาที่แตกต่าง ทำให้บุคคลจำนวนมากต้องการมีส่วนร่วมกับมวยหมากรุก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสเข้าสู่สังเวียนกีฬาสุดแปลกนี้ เพราะ WCBO ได้กำหนดข้อบังคับเพื่อให้แน่ใจว่า นักกีฬามวยหมากรุกทุกคนจะเพียบพร้อมทั้งความสามารถทางร่างกาย และมันสมองที่ปราดเปรื่อง
ด้วยเหตุนี้ นักมวยหมากรุกทุกคน จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์ชกมวยสากล หรือศิลปะการต่อสู้ที่คล้ายคลึงกัน ไม่ต่ำกว่า 50 ยก และมีค่า Elo rating หรือคะแนนในกีฬาหมากรุกไม่น้อยกว่า 1600 แต้ม จึงมีสิทธิเข้ามีสิทธิ์ร่วมแข่งขันในระดับอาชีพ
กฎกติกาและข้อบังคับที่เข้มข้น ส่งผลให้มาตรฐานของกีฬามวยหมากรุกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่นานนัก มวยหมากรุกกลายเป็นกีฬาที่เล่นกันอย่างแพร่หลายในทวีปยุโรป
ปี 2005 มีการจัดทัวร์นาเมนต์เพื่อหาแชมป์มวยหมากรุกยุโรป โดยผู้นะได้แก่ ทีโฮเมอร์ ดอฟรามาดีเยฟ เซียนหมากรุกชาวบัลแกเรียนที่คะแนนหมากรุก FIDE Master สูงกว่า 2300 แต้ม ก่อนที่ในปี 2008 กีฬามวยหมากรุกจะเข้าสู่สหราชอาณาจักรในปี 2008 ตามด้วยสหรัฐอเมริกาในปี 2009 ตามลำดับ
ทำลายอคติที่มีต่อนักมวย
ทุกวันนี้ มวยหมากรุกจัดการแข่งขันขึ้นในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เยอรมัน, สหราชอาณาจักร, รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, สเปน, ลิทัวเนีย, เบลารุส และอินเดีย นอกจากนี้ มวยหมากรุกยังจัดการแข่งขันสำหรับผู้หญิงมาตั้งแต่ปี 2009 โดยมีการแบ่งเป็น 4 รุ่นน้ำหนักไม่ต่างจากผู้ชาย
นักชกแต่ละคนที่อยู่ในวงการมวยหมากรุกก็ค่อนข้างหลากหลาย ไล่ตั้งแต่ เซียนหมากรุกซึ่งถือเป็นนักชกรุ่นบุกเบิก มาจนถึง นักชกรุ่นใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนที่มีการศึกษาดี ยกตัวอย่าง อารอน สวีนนีย์ นักกีฬาสเก็ตบอร์ดที่กำลังศึกษาปริญญาเอกในสาขาเคมีการคำนวณ ที่หลงใหลและปันใจให้กับกีฬาสุดแปลกนี้
“ผมกังวลนะ โดยเฉพาะกับการเล่นหมากรุก เพราะว่าตอนชกมวย คุณอาจจะฮึดสู้จนเอาตัวรอดไปได้ แต่สำหรับการเล่นหมากรุก คุณไม่สามารถเก่งขึ้นได้ทันที” สวีนนีย์ให้สัมภาษณ์กับ Huckmag ก่อนการชกไฟต์แรกของเขา
มวยหมากรุกจึงถูกใครหลายคนยกย่องเป็นสุดยอดของกีฬาต่อสู้ทั้งปวง เพราะถือเป็นการรวบรวมสองศาสตร์ของการต่อสู้ด้วย “พละกำลัง” และ “มันสมอง” เข้าด้วยกัน แบบที่ไม่มีกีฬาไหนสามารถทำได้
“มวยหมากรุกคือความบ้าคลั่ง แต่มันก็มีเหตุผล เพราะนี่คือการรวบรวมกีฬาทางความคิดอันดับหนึ่ง เข้ากับกีฬาต่อสู้อันดับหนึ่ง จนกลายเป็นกีฬาไฮบริดที่แตกต่างราวกับสร้างจักรวาลใหม่ขึ้นมา” อีเป รูบิง กล่าวถึงความพิเศษของมวยหมากรุก
“มวยหมากรุกไม่ใช่กีฬาสำหรับนักหมากรุกที่ตัวผอมแห้ง หรือ นักมวยที่ไร้สมอง เพราะวันนี้เราสร้างนักสู้ที่มีทั้งสมองและกำปั้น และเราทำลายอคติที่คนทั่วไปมีต่อนักมวย”
โชคร้ายที่ผู้สร้างอย่าง อีเป รูบิง เสียชีวิตอย่างกระทันหันเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2020 การจากไปของเขาสร้างความโศกเศร้าให้แก่วงการมวยหมากรุก ถึงอย่างนั้น จิตวิญญาณของรูบิงไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงอยู่ในกีฬามวยหมากรุกซึ่งยังคงเป็นที่นิยม และพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทวีปยุโรป
มวยหมากรุก อาจเป็นกีฬาที่เริ่มต้นจากมันสมองของผู้ชายหนึ่งคน แต่ปัจจุบัน มวยหมากรุกกลายเป็นกีฬาในดวงใจของใครหลายคน เพราะมันได้ทำลายความเชื่อเก่าของกีฬาต่อสู้จนหมดสิ้น และพิสูจน์ให้เห็นว่า คนที่ไม่มีพรสวรรค์ด้านการชกมวย ก็สามารถเป็นแชมป์โลกได้เช่นเดียวกัน
“ผมหวังว่าสักวันหนึ่ง มวยหมากรุก จะเข้าไปอยู่ในโอลิมปิก หรือไม่ก็มีอีเวนต์ประจำที่เมืองซานฟรานซิสโก เหมือนกับที่มวยสากลปักหลักในลาสเวกัส ผมยังมีความฝันที่จะสร้างแชมป์โลกให้กับพนักงานออฟฟิศที่ฉลาดที่สุดในโลก”
“แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมคิดว่าเป้าหมายที่แท้จริงของมวยหมากรุก คือการสร้างความเชื่อและคุณค่าแก่บางสิ่ง เหมือนกับที่เราเชื่อมั่นในกีฬามวยหมากรุก” อีเป รูบิง กล่าวถึงความหมายแท้จริงของมวยหมากรุก
ระเบิดความมันของสุดย…
สนามมวยลุมพินี ประกา…
This website uses cookies.