หมอไพศาลส่งแพทย์ครบทีมประกบติด 2 จอมเตะไทย ล่าเหรียญโตเกียวเกมส์

ความเคลื่อนไหวการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคมนี้ โดยทัพนักกีฬาไทยคว้าโควต้าเข้าร่วมชิงชัยรวมทั้งสิ้น 41 คนใน 14 ชนิดกีฬา

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ หัวหน้าแพทย์ประจำทีมนักกีฬาไทยชุดทำศึกโอลิมปิกเกมส์ 2020 อัพเดทผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ของคณะเจ้าหน้าที่และนักกีฬาไทย โดยระบุว่ายังคงไม่มีใครมีผลตรวจเป็น “บวก” หรือติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งในส่วนขทีมไทยตนเอง และ “บิ๊กต้อม” นายธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาไทย ยังคงกำชับให้ทุกคนระมัดระวัง และดูแลตัวให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19

หมอไพศาลกล่าวว่า ในวันที่ 22 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. เวลาท้องถิ่น จะมีการประชุมฝ่ายแพทย์ของแต่ละชาติร่วมกับทางฝ่ายจัดการแข่งขัน ซึ่งคาดว่าจะพูดคุยเรื่องโควิด-19 รวมถึงมีการยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นทางการทั้งจำนวนตัวเลข หรือคนที่ติดว่าเป็นใคร มีกลุ่มเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งที่ 2 หลังจากเคยเรียกประชุมมาแล้ว 1 หน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา

คุณหมอไพศาล กล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมา ที่กองอำนวยการนักกีฬาไทย ภายในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก ซึ่งมีฝ่ายประสานงาน รวมถึงฝ่ายแพทย์ ยังไม่พบเรื่องอะไรที่น่ากังวล ในส่วนฝ่ายแพทย์ ก็มีนักกีฬาบาดเจ็บบ้างเล็กน้อยจากการฝึกซ้อม เข้ามาให้ช่วยนวด ช่วยดูอาการกัน ยังคงไม่มีเคสหนัก ซึ่งในส่วนของฝ่ายแพทย์ก็ได้มีการปรึกษาหารือถึงแผนการทำงานโดยตลอด โดยวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นการแข่งขันวันแรกอย่างทางการ นักกีฬาไทยมีคิวลงแข่ง 4 ชนิดกีฬา ได้แก่ เทควันโด, เทเบิลเทนนิส, มวยสากล และ แบดมินตัน ก็ได้คุยถึงแผนการทำงานเอาไว้คร่าวๆ แล้ว พร้อมส่งทีมแพทย์แบบครบทีม ทั้ง หมอ พยาบาล นักกายภาพประกบติด 2 จอมเตะไทย “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ และ “จูเนียร์” รามณรงค์ เสวกวิหารี ในวันชิงเหรียญทองเทควันโด 24 กรกฎาคมนี้ หวังช่วยทั้งคู่ร่างกายสดและสะบักสะบอมน้อยที่สุด หากผ่านถึงรอบชิงชนะเลิศ

“ต้องบอกว่าโอลิมปิกครั้งนี้ ไม่เหมือนการแข่งขันกีฬามหกรรมอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะมีการระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าส่งผลต่อเรื่องการเดินทาง การเข้าสนามแข่งขันต่างๆ และวันแรก 24 กรกฎาคมนี้ ที่มี 4 กีฬาแข่งขัน เราจึงบริหารจัดการทีมแพทย์ของเราที่มี 7 คน รวมผม ประกอบด้วย แพทย์ 4 คน, บุรุษพยาบาล 1 คน และนักกายภาพ 2 คน เพื่อให้สามารถเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ทุกสนาม ซึ่งเมื่อไล่เรียงจากความเสี่ยงและความสำคัญ เราได้ส่งทีมแพทย์ และนักกายภาพแบบครบทีมเพื่อไปตามติดกีฬาที่มีการปะทะกันอย่างเทควันโดตั้งแต่แมตช์แรก เพื่อช่วยดูอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ ดูแลนักกีฬาให้สดชื่นมากที่สุด ส่วนอีก 3 กีฬา เราก็บุคลลากรไปประจำสนามครบเช่นกัน แต่อาจไม่เต็มทีมเท่าเทควันโด” หมอไพศาลกล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่