เว็บไซต์กีฬาชื่อดัง SPORTBible พาดหัวทันทีหลังจบยกแรกว่า “โลแกน พอล ยิงไป 25 หมัดใส่ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ในยกที่หนึ่ง แต่กลับไม่มีหมัดไหนเลยเข้าเป้า”
นั่นคือสิ่งที่เกิดบนเวทีในแมตช์ที่ถูกจัดไว้เป็นคู่เอกมวยโลก ระหว่าง “โลแกน พอล” นักมวยสมัครเล่น กับ ฟลอยด์ เมย์เวเธอร์ จูเนียร์ สุดยอดแชมป์โลก 5 รุ่นไร้พ่าย ผู้ทำสถิติชนะ 50 ไฟต์รวด
หากเป็นสมัยก่อนไม่มีทางเลยที่คู่นี้จะถือกำเนิดขึ้นได้ เพราะคงไม่มีใครยอมให้ คนที่ดูต่างระดับกันมากขนาดนี้ ขึ้นมาเป็นคู่ต่อกรกับ ฟลอยด์ แชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่ได้ และแมตช์แบบนี้จัดไปก็คงโดนต่อต้านแน่ ๆ
แต่ยุคสมัยปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ในวงการมวยสากลโลก แชมป์โลกหลายคนไม่สามารถสร้างแมตช์ที่ขายไฟต์ได้เงินมหาศาลเหมือนยุคก่อน มวยรุ่นใหญ่อย่าง เฮฟวี่เวต เริ่มไม่ใช่มวยแม่เหล็กแบบที่คนยุคอดีตคุ้นเคยแล้ว ที่เวลานึกถึงสุดยอดคู่มวย ต้องเป็นมวยรุ่นใหญ่เฮฟวี่เวต เจอกันเท่านั้น
แต่ตอนนี้กลับเป็น มวยรุ่นกลางและขนาดเล็กที่สร้างมูลค่า และทำเงินได้มากกว่า เมื่อตลาดผู้ชมเปลี่ยนไป คู่มวยแปลกจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ขายได้สำหรับโปรโมเตอร์
ฟลอยด์ อาจเคยมีประสบการณ์ในการเจอกับนักสู้ต่างสาย อย่างเช่น เทนชิน นาสึกาวะ แชมป์คิกบอกซิ่งชื่อดังชาวญี่ปุ่น และ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ อดีตแชมป์โลก MMA ชาวไอริช แม้ผลการชกจะจบลงด้วยการชนะน็อกของ ฟลอยด์
แต่สิ่งที่พอยอมรับได้จากแฟนมวย ก็คือ เทนชิน-คอเนอร์ ต่างเป็นนักสู้อาชีพ ที่เก่งในสายตัวเอง
ดังนั้นการนำคนเก่งจากต่างศิลปะการต่อสู้มาดวลกัน ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจและมีมูลค่ามากพอ เหมือนดั่งในอดีตที่ มูฮัมหมัด อาลี แชมป์โลกตลอดกาล เคยดวลกับ อันโตนิโอ อิโนกิ ปรมาจารย์นักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่น มาแล้ว
กรณีของ โลแกน พอล นั่นแตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ประการแรก โลแกน ไม่ใช่นักมวยอาชีพ จึงไม่ควรขึ้นเวทีมาเจอกับ ฟลอยด์ อยู่แล้ว
เขาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจากการเป็น “ยูทูบเบอร์” เพิ่งเคยต่อยมวยสากลไปแค่ไฟต์เดียว ในแมตช์ที่เจอกับ โอลาจิเด โอลาตุนจิ หรือ KSI ที่เป็นยูทูบเบอร์เหมือนกัน
โลแกน พอล VS ฟลอยด์ เมย์เวเธอร์ จูเนียร์ จึงเป็นคู่มวยที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ ด้วยประการทั้งปวง เพราะระดับความห่างชั้นนั้นมากเกินไป น้ำหนักตัว ส่วนสูงก็เปรียบกันไม่ได้ แต่สุดท้ายทั้งคู่จะได้โคจรมาเจอกันจริง ๆ ด้วยเหตุผลหลักข้อเดียวคือ “เงิน”
หากมองแง่ดี “วงการมวยโลก” ที่ซบเซาลงไปจากเดิม อาจต้องการจุดกระแส รวมถึงขยายฐานความนิยมไปสู่คนรุ่นใหม่
จึงมองว่าถ้าเปิดทางให้ “โลแกน พอล” นักมวยสมัครเล่นที่เป็นยูทูบเบอร์ ผู้มีฐานผู้ติดตามจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ และเลื่องชื่อในในโลกออนไลน์ จะสามารถช่วยเรียกเรตติ้งจากกลุ่มทาร์เก็ตใหม่ ๆ และสร้างไฟต์ที่ทำเงินได้มหาศาลจากผู้ชม
ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ที่มีมาอย่างรุนแรงตั้งแต่ก่อนขึ้นชก เพราะสำหรับแฟนมวยดั้งเดิม มันเป็นเรื่องยากจะยอมรับได้ที่จะให้ “ยูทูบเบอร์” ที่ไม่ได้เก่งด้านมวย ขึ้นมาเจอกับ ยอดกำปั้นแชมป์โลก เพราะมันทำให้ความขลัง ความคลาสสิคของมวยโลก หดหายไป
การดูมวยมันจะสนุกอะไร หากคุณรู้ว่าแมตช์นี้ใครจะเป็นผู้ชนะ ? สิ่งที่ทำให้ผู้คนตกหลุมรักมวยโลก คือ การที่เราคาดเดาไม่ได้ว่า บนเวทีจะเกิดขึ้นอะไร ใครน็อกใคร ? ใครจะโชว์ชั้นเชิงความสามารถด้านการต่อยหมัดได้เหนือชั้นกว่ากัน ?
แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ดำเนินต่อไปข้างหน้าตามแผนที่วางไว้ ทั้งการเลื่อนกำหนดไฟต์ออกมาเพื่อให้สถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาเบาบางลง จนสามารถจัดคู่มวย “โลแกน พอล” เจอกับ เดอะ มันนี่ ได้วันที่ใน ฮาร์ด ร็อก สเตเดียม เปิดให้ผู้ชมเข้ามาดูได้เต็มความจุของสนาม
คู่นี้กำหนดชก 8 ยก แม้ว่า ฟลอยด์ จะเสียเปรียบรูปร่างและน้ำหนัก เพราะเขาชั่งได้แค่ 155 ปอนด์ สูง เพียง 173 เซนติเมตรเท่านั้น ขณะที่ โลแกน พอล ที่อ่อนด้อยด้านมวยแบบคนละระดับ ก็ได้เปรียบสรีระ เพราะเขาชั่งน้ำหนักได้ถึง 189.5 ปอนด์ และมีส่วนสูงถึง 188 เซนติเมตร
แต่ไม่มีใครคิดหรอกว่า โลแกน พอล จะสามารถเอาชนะ ฟลอยด์ วัย 44 ปีได้ เพราะความเป็นมวยห่างกันลิบลับ คนหนึ่งต่อยมวยทั้งชีวิต ได้รับการซูฮกว่า ดีที่สุดแห่งยุค ส่วนอีกคนมีตัวตนมาจากการทำคลิปลงบน YouTube ต่อให้จะตัวสูงใหญ่กว่าแค่ไหน ก็ยังดูห่างชั้นกันมากเกินไป
ถ้าเป็นภาษามวยไทยก็คงเรียกว่า “ประกบหลุด” ซึ่งตลอด 8 ยก มีเพียงสิ่งเดียวที่ผิดคาดไปจากผู้คน คือ ฟลอยด์ ไม่สามารถเอาชนะน็อก โลแกน พอล ได้
นอกนั้นก็เป็นไปตามคาดหมด คือ โลแกน พอล สู้ไม่ได้ด้วยเชิง พยายามใช้ความใหญ่กอดรัด เหวี่ยงหมัดวืดวาด ส่วน ฟลอยด์ ก็ใช้ความเร็วเอาตัวรอด และอาศัยความเป็นมวยที่เหนือกว่าเยอะ ยิงหมัดต่อยแบบสอนมวยไป โดย โลแกน พอล สามารถยืนได้จนจบเกม แม้ออกอาการหมดแรงตั้งแต่ยก 3
หลังเกมคู่นี้ก็เกิดกระแสดังสนั่นโซเชียลมีเดีย ทันที เพราะแฟนมวยยอมรับไม่ได้จริง ๆ ที่สุดท้ายก็เป็นแค่ มวยโชว์ ไม่มีผลการตัดสินออกมา
ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ทุกอย่างจัดขึ้นในไฟต์นี้ก็เพียงแค่เพื่อ “เงิน” อย่างเดียว ฟลอยด์ ได้ค่าตัวมโหฬาร์ราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 300 ล้านบาท และส่วนแบ่งจาก เพย์-เพอร์-วิว มหาศาลถึง 50 เปอร์เซนต์ ขณะที่ โลแกน ได้ค่าตัวเพียง 250,000 เหรียญสหรัฐ และส่วนแบ่ง เพย์-เพอร์-วิว แค่ 10 เปอร์เซนต์ แต่เขาก็ได้ชื่อเสียงจากการเจอกับ ฟลอยด์ ไปต่อยอดทำคอนเทนต์ไปอีกบานเบอะ
ดังเห็นได้จากแฮชแท็ค #MayweatherPaul ใน Twitter ผู้ใช้งานหลายคนวิจารณ์ว่า นี่คือไฟต์ที่น่าผิดหวังอย่างมาก เพราะ โลแกน มุ่งแต่จะกอดอย่างเดียว ต่อยมวยแบบใช้แต่พละกำลัง ไม่ได้มีทรงมวยที่คู่ควรจะไปยืนบนเวทีนั้นเลย ส่วน ฟลอยด์ ก็ดูเหมือนไม่ได้เอาจริง เน้นป้องกันตัว อาศัยเทคนิค จังหวะฝีมือที่มวยเหนือกว่า เล่นงานโต้กลับ
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการมวยโลกยุคปัจจุบันที่คุณไม่จำเป็นนักมวยอาชีพ ต่อยมาเป็นหลายสิบไฟต์ ค่อย ๆ ไต่เต้าในเส้นทางนี้ ทำฟอร์มเอาชนะนักมวยเกรดดี ๆ มากมาย จึงสามารถสร้างไฟต์ไปเจอกับ ยอดนักชก เพื่อทำเงินทำทอง
เพราะแค่คุณมีชื่อเสียงจากวงนอก ไม่ต้องเป็นนักกีฬาก็ได้ แต่หากชื่อของคุณขายไฟต์ได้ ก็มีคนสนใจอยากดู เหมือนดั่งที่ โลแกน พอล ได้ขึ้นลิฟท์จากนักมวยสมัครเล่น มาเจอกับ ฟลอยด์ เมย์เวเธอร์ จูเนียร์
ถึงจะโดนวิจารณ์หนักแค่ไหนตั้งแต่ก่อนชกจนถึงหลังเกม แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้สนใจใยดี เพราะผลประโยชน์ที่ตกถึง 2 คนนี้ มีมากเกินกว่าจะปฏิเสธได้
ก็อยู่ที่ว่าหลังจากนี้ วงการมวยโลก จะเลือกอะไร “เงินตรา” หรือ “ศรัทธา”
ระเบิดความมันของสุดย…
สนามมวยลุมพินี ประกา…
This website uses cookies.