Thai Boxing Sponsored
Categories: มวยสากล

เปิดบันทึก “ท็อปเท็น” กีฬาไทย สุขปนเศร้าเคล้าดราม่า – บทความกีฬาอื่นๆ – SMMSPORT

Thai Boxing Sponsored
Thai Boxing Sponsored

ต้องยอมรับว่า พ.ศ.2564 เป็นปีแห่งความทุลักทุเลในวงการกีฬา อุปสรรคปัญหาประเดประดังอันเนื่องมาจากสถานการณ์ “โควิด-19” มหกรรมกีฬาหลายรายการต้องยกเลิกและเลื่อน

 หากมีรายการใดที่แข่งขันได้ก็ปราศจาคผู้ชม บรรยากาศของกีฬาอ้างว้างเงียบเหงาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 แต่ทุกอย่างย่อมมีครั้งแรกเสมอ แต่มนุษย์ปรับตัวได้ไม่ยาก ทุกอย่างก็ต้องดำเนินต่อ

 สำหรับความเคลื่อนไหวของการกีฬาของไทย จะอะไรอะไรโด่งดังหรืออื้อฉาว ทาง SMMSPORT รวบรวมมาเป็น 10 อันดับ มีอะไรบ้างมาติดตามกัน
 
 10. ปมปัญหา สมาคมยิงปืน

               

 หนึ่งในสมาคมกีฬาที่มีความหวังเหรียญทุกระดับมหกรรมกีฬา ไม่ว่าจะเป็นซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ แม้กระทั่งโอลิมปิก แต่กลับเกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะเรื่องเงิน 

 เมื่อผู้ปกครอง “กัปตัน” อิสรานุอุดม ภูริหิรัญพัชร์ นักกีฬายิงปืน ประเภทปืนสั้นยิงเร็ว 25 ม. ชาย นักกีฬาไทยที่อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ในวัยทีนเอจที่ได้เข้าร่วมโอลิมปิก “โตเกียว เกมส์”  ด้วยผลงานติดอันดับ 10 ชิงแชมป์เอเชีย ออกมาแฉว่า  ทางสมาคมยิงปืนไม่เคยเหลียวแล ต้องขายบ้านขายรถเป็นค่าใช้จ่ายเงินทั้งหมดกว่า 10 ล้านบาท เพื่อซื้อกระสุน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อม  

 กระทั่ง “บิ๊กเสือ” สกล วรรณพงษ์ นายกสมาคมกีฬายิงปืนฯ ออกมาสวน ระบุ นักกีฬาทำผิดระเบียบ  ด้วยการไม่ยอมมาเก็บตัวฝึกซ้อมร่วมกับนักกีฬาคนอื่นๆ จึงไม่สามารถเบิกจ่ายกระสุนได้ 

 พร้อมลงแส้ ระบุสมาคมฯ จะไม่สนับสนุนนักกีฬาที่ไม่มีระเบียบวินัย เพราะยังมีนักกีฬาอีกจำนวนมากที่ต้องดูแล และสามารถพัฒนาได้ 

9. ยกน้ำหนัก กลับคืนสังเวียน

 หนึ่งในกีฬาความหวังสูงสุดในการคว้าเหรียญทองในยุคที่ผ่านมาอย่าง “ยกน้ำหนัก” กลับถูกแบนห้ามร่วมแข่งขันรายการนานาชาติ พลาดหวังเหรียญทองในโอลิมปิก 2020 หลังร่วมแข่งยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก ที่เติร์กเมนิสถาน 2018 เมื่อผลตรวจโด๊ปในการแข่งขัน ปรากฏว่านักกีฬาไทยหลายรายมีสารต้องห้ามในร่างกาย 

 สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ จึงประกาศแบนทัพยกลูกเหล็กไทยเป็นเวลา 3 ปี พร้อมปรับเงินกว่า 6 ล้านบาท

 ต่อมา สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ยืนอุทธรณ์ ศาลกีฬาโลก และได้พ้นโทษแบนก่อนกำหนด 

 ล่าสุดคือการส่งทีมชิมลางเข้าร่วมแข่งขันในศึกยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2021 เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ กรุงทาซเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ผลการแข่งขันปรากฏว่า นักยกลูกเหล็กไทยกวาดแชมป์มามากมายหลายรุ่น โดยเฉพาะ รุ่น 49 กก.หญิง “ออย” สุรจนา คำเบ้า คว้ามาถึง 3 เหรียญทอง

 เป็นความหวังให้ยกน้ำหนักไทยกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
 
8. มวยสากล ในยุคที่ต้องยอมรับ (ว่าตกต่ำ)

 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มวยสากลสมัครเล่น คือความหวังเหรียญทองในโอลิมปิก กำปั้นไทยประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ในยุคของ “พเยาว์ พูนธรัตน์” ก่อนที่จะคว้าเหรียญเป็นกอบเป็นกำในทุกยุคสมัยรวม 14 เหรียญ มากที่สุดกว่าทุกชนิดกีฬา

 แต่ใน “โตเกียว 2020” ไทยต้องพลาดหวังในหลายรุ่นสำคัญทำได้เพียง 1 เหรียญทองแดง จากมวยสากลสมัครเล่น “สุดาพร สีสอนดี” มวยสากลสมัครเล่น รุ่นไลท์เวทหญิง

 ส่วนตัวเต็งมากประสบการณ์อย่าง “ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี” ในรุ่นเฟเธอร์เวท ไปไม่ถึงฝัน ในขณะที่ความหวัง ” ธิติสรรค์ ปั้นโหมด” รุ่นฟลายเวทชาย กลับบาดเจ็บจากการฝึกซ้อม  

 การพลาดทุกเหรียญของกำปั้นชาย ถือว่าเป็นความล้มเหลว จากนี้ไปเป็นงานหนักของนายกคนใหม่หน้าเดิม “พิชัย ชุณหวชิร” ผู้ได้รับการเลือกตั้งหมาดๆ เข้ามาสร้างทีมมวยขึ้นมาใหม่

 บทพิสูจน์ “ปารีส เกมส์” จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

7. กอล์ฟสตรีสาวไทย ที่โลกจับตา

  วงการกอล์ฟไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะผลงานของ โปรสาวไทย กระหึ่มโลกมาตั้งแต่ต้นปี

 เมื่อโปรโนเนม มือ 103 ของโลก แข่งขันอาชีพปีแรก และไม่เป็นตัวเต็งในรายการ แต่ “เหมียว” ปภังกร ธวัชธนกิจ สร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์แอลพีจีเอ ทัวร์ ในรายการ “เอเอ็นเอ อินสปิเรชั่น” แบบม้วนเดียวจบ คว้าแชมป์พร้อมเงิน 465,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 15 ล้านบาท

 เป็นการเสริมสร้างความยิ่งใหญ่ให้กอล์ฟสตรีไทย นอกเหนือจากโปรพี่น้อง “เม” เอรียา จุฑานุกาล และ “โม” โมรียา จุฑานุกาล รวมถึง ปาจรีย์ อนันต์นฤการ และ “โปรแหวน” พรอนงค์ เพชรล้ำ

 กระทั่งการถือกำเหนิดของดาวดวงใหม่วัยทีน  “โปรจีน” อาฒยา ฐิติกุล โปรสาววัย 18 ปีชาวไทย เจ้าของรางวัล “เรซ ทู คอสตา เดล โซล” 
 ในฐานะนักกอล์ฟมือ 1 โลกของเลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ 

 ปีหน้า ต้องมาติดตามและจับตากันว่า โปรสาวไทยจะเกรียงไกรแค่ไหนในโลกสวิง 
 
 6. การอำลาของ 7 เซียนลูกยางสาว

 ประวัติศาสตร์การเป็นแชมป์เอเชีย 2 สมัยของทีมวอลเลย์สาวไทย เกิดขึ้นในยุคของยอดนักตบสาวแกนหลักสำคัญ จนเป็นที่มาฉายา 7 เซียน
 นั่นคือ “หน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว, “ซาร่า” นุศรา ต้อมคำ, “อร” อรอุมา สิทธิรักษ์, “แจ๊ค” อำพร หญ้าผา, “ปู” มลิกา กันทอง, “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญาพงศ์ และ “นา” วรรณา บัวแก้ว

 เหล่านี้สร้างความสำเร็จและสร้างชื่อให้เทีมชาติไทยมายาวนาน คว้าแชมป์ซีเกมส์ คว้าเหรียญเอเชี่ยนเกมส์ โลดเล่มล้มทีมยักษ์ในเวิลด์กรังปรีซ์ หรือ เนชั่นลีก ในปัจจุบัน

 เดิมแผนการอำลาจะมีขึ้นหลังศึกใหญ่ เนชั่นลีก ที่ไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดจึงต้องยกเลิก การแข่งขันและการเป็นเจ้าภาพจึงถูก “อิตาลี” กินรวบ

 กระทั่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน สมาคมวอลเลย์บอลฯ ได้จัดพิธีอำลา ปิดตำนาน 7 เซียนไปแบบเงียบเหงา

5. ปีทองวงการแบดมินตันไทย

 ต้องยอมรับว่ามสำเร็จของ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่ผสมมือ 1 ของโลก เป็นตัวยกระดับความสำเร็จให้กับกีฬาแบดมินตัน

 ในรอบปีที่ผ่านมาคู่ผสมของไทยลงทำการแข่งขันรวม 12 รายการ มีเพียง 3 รายการที่เข้าไม่ถึงรอบชิงชนะเลิศ

 และการจากชิงชนะเลิศ 9 รายการ “บาส-ปอป้อ” คว้าไปถึง 8 แชมป์ รายการเดียวที่ “บาส-ปอป้อ” ต้องอกหัก ได้เพียงรองแชมป์จากทั้ง 9 รายการที่เข้ารอบชิงดำ คือ เดนมาร์ก โอเพ่น 2021 ที่ประเทศเดนมาร์ก 

 น่าเสียดาย 3 รายการที่ไม่ถึงรอบชิงดำคือ เฟรนช์ โอเพ่น 2021, สุธีรมาน คัพ 2021 และสำคัญสุดคือ โอลิมปิกเกมส์  

 แต่หลังจากนั้น “บาส-ปอป้อ” สลัดความผิดหวังระเบิดฟอร์มสุดยอด โดยเฉพาะ 5 รายการท้ายปี “บาส-ปอป้อ” กวาดเรียบ นำร่องด้วย ไฮโล โอเพ่น 2021 ที่ประเทศเยอรมนี บนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ใน 3 รายการ อินโดนีเซีย มาสเตอร์ส 2021, อินโดนีเซีย โอเพ่น 2021 และ บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์ 2021  

 ปิดท้ายคือการคว้าแชมป์โลก สร้างประวัติศาสตร์ให้กับแบดมินตันไทย

 4. วาด้า แบนไทย เรื่องใหญ่ที่ถูกเมิน

 องค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือวาดา ออกคำสั่งเด็ดขาด ลงโทษแบนไทย 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2564 เป็นต้นมา

 ข้อกล่าวหา ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือ ทำผิดกฎเรื่องสารต้องห้าม โดยในส่วนของไทยถูกระบุความผิดไว้ว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญสารกระตุ้นของวาดา ในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่อินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือผิดกฎในด้านการไม่ส่งนักกีฬาเข้ารับการตรวจสารต้องห้าม

 พร้อมบทลงโทษ 4 ข้อ โดยย่อคือ งดรับทุนสนับสนุนจากวาดา ข้อ 2 กรรมการชาวไทยในสหพันธ์กีฬานานาชาติ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ข้อ 3 ห้ามจัดกีฬานานาชาติระดับภูมิภาค  และข้อ 4 ห้ามใช้ธงชาติไทย 

 หลังโทษออกมา ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)  ยืนยันไม่ได้นิ่งนอนใจรุดหารือกับรัฐบาล โดย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเสนอต่อคณะ รัฐมนตรี เป็นปัญหาฉุกเฉิน รวมทั้งประสานงานกับคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ติดข้อจำกัดในการแก้กฎหมายที่มีกระบวนการต่างๆ จึงเกิดการล่าช้า

 เดิมหลายคนนิ่งเฉยและไม่รู้สึก กระทั่ง “บาส-ปอป้อ” คว้าแชมป์คู่ผสม แบดมินตันชิงแชมป์โลก ผ่านการถ่ายทอดสดและมีพิธีมอบรางวัลกลับไม่มีธงชาติไทยให้ภูมิใจ กระแสโซเซี่ยลจึงกระหน่ำผลักดันขับเคลื่อน 

 ล่าสุดผู้เกี่ยวข้องจึงร่างกฎหมายแก้ไขสารต้องห้าม ให้ครม.พิจารณา ออกเป็น พ.ร.ก. แล้วส่งให้วาด้าพิจารณา คาดเสร็จกุมภาพันธ์ 2565

3. โควิด ตัวปัญหา กีฬาชะงัก

                  

 จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ “โควิด-19” ส่งผลอย่างยิ่งต่อโลกกีฬา

 หลายรายการต้องยกเลิก เลื่อน และห้ามผู้ชมเข้าสนาม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว กระทั่งมีวัคซีนมาป้องกัน แต่ วัคซีน ป้องกันอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตให้ทุเลาเบาบาง แต่หาได้ป้องการการติดเชื้อ ทำให้ข้ามมากว่าสองปีสถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่

 โชคดีที่มหกรรมกีฬายิ่งใหญ่สุดของโลก อย่างโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2020” ไม่ถูกยกเลิกแต่เลื่อนมาเป็นปี เจ้าภาพญี่ปุ่นทุ่มทุนสู้จนสามารถจัดการแข่งขันได้ แต่สุดเศร้าที่ไร้กองเชียร์และผู้ชม เหงาอย่าที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 ใกล้ตัวบ้านเราใน ซีเกมส์ ประเทศเวียดนาม เป็นเจ้าภาพ เดิมคือวันที่ 21 พ.ย.-2 ธ.ค. 2021 ต้องเลื่อนไปเป็น 12-23 พฤษภาคม 2022

 และในกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตสเกมส์ ครั้งที่ 6 ไทยเป็นเจ้าภาพกำหนด มี.ค.64 ต้องโยกไปเป็น มี.ค.65 ล่าสุด คือการเลื่อนไปเป็นวันที่ 17-26 พ.ย. ปี 66 เรียกได้ว่าเลื่อนมาสามรอบและยาวนานถึง 2 ปีเลยทีเดียว

2. ฟุตบอล(กลับมา)ฟีเวอร์

 หลังจากผิดหวังและล้มเหลวมายาวนานหลายปี ในที่สุด “ช้างศึก” กลับมาสร้างศรัทธาให้กองเชียร์ได้โห่ร้องอย่างสะใจอีกหน

 โดยเฉพาะผลงานในฟุตบอล เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ผลงานทองส่งท้ายปี โดยการคว้าแชมป์ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ด้วยการถล่ม “อิเหนา” อินโดนีเซีย ในัดแรก 4-0 ก่อนมาเสมอในนัดที่สอง 2-2 แต่ก็เพียงพอในประตูรวม 6-2 คว้าแชมป์สมัยที่ 6 อย่างยิ่งใหญ่

 คีย์แมนสำคัญในความสำเร็จนี้ต้องยกให้ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีม “มาโน่ โพลกิ้ง” กุนซือที่มีแต่เสียชม รวมถึงนักเตะในทีมที่ทุ่มเท นำโดย “กัปตันเจ” ชนาธิป สรงกระสินธุ์

ผลงานคว้าแชมป์โดยไม่แพ้ใคร เขี่ยทีมเวียดนาม แชมป์เก่าที่เป็นคู่ปรับตกรอบ ล้วนทำให้กองเชียร์ไทยชูคอได้อย่างภาคภูมิในช่วงปีใหม่

1. ไทยได้เหรียญโอลิมปิก

 ความสำเร็จของ “เทนนิส” เรืออากาศตรีหญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เจ้าของเหรียญทองเทควันโดรุ่น 49 กิโลกรัมหญิง และ สุดาพร สีสอนดี กำปั้นหญิงทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองแดง ในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 60 กก. จากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก “โตเกียว 2020” สร้างความสุขให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก

 แม้ว่าก่อนหน้านี้ ไทยมีความหวังอย่างน้อย 5 เหรียญทอง นอกเหนือจากเทควันโด ยังมี มวยสากลสมัครเล่น กอล์ฟ และ แบดมินตัน สุดท้ายทำได้ 1 ทองก็ถือว่าไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะเหรียญทรงคุณค่าจาก “เทนนิส” ที่คว้ารทองแทบจุะวินาทีสุดท้ายแบบสะใจกองเชียร์ยิ่งนัก

Thai Boxing Sponsored
มวยไทย

มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและใจ สำหรับการต่อสู้ที่ใช้ร่างกายเป็นอาวุธ โดยเป็นที่รู้จักว่าเป็น "นวอาวุธ" ซึ่งประกอบด้วยการโจมตีจากร่างกายทั้ง หมัด, ศอก, เข่า และเท้า หากมีการเตรียมพร้อมด้านร่างกายดี จะก่อให้เกิดอาวุธที่มีอานุภาพ

This website uses cookies.