ที่มา | อาทิตย์สุขสรรค์, มติชนรายวัน อาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564, หน้า 13-14 |
---|---|
ผู้เขียน | อนันตชัย วัชรเสถียร / ภูวดล เอี่ยมประไพ ภาพ : อุดมศักดิ์ ภัคธนาพงศ์ |
นับเป็นเวลากว่า 19 ปีแล้วที่ โค้ชเช ยอง ซ็อก เข้ามาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ตั้งแต่เมื่อปี 2545 จวบจนถึงปัจจุบันโค้ชสายเลือดโสมขาวรายนี้ปลุกปั้นทัพจอมเตะไทย ก้าวไปสร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย จนล่าสุด โค้ชเช ยอง ซ็อก ตัดสินใจขั้นเด็ดขาดในการขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย หลังจากที่มีประเด็นนี้เกิดขึ้นมาเป็น 10 ปีแล้ว
ในครั้งนี้ โค้ชเช ยอง ซ็อก เปิดโอกาสให้สัมภาษณ์เจาะลึกถึงเหตุผลสำคัญที่เขาตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย เพราะตามกฎหมายไทยแล้ว ต้องให้ผู้ขอเปลี่ยนสัญชาติจำเป็นต้องแสดงเจตนาที่จะสละสัญชาติเดิม รวมทั้งโค้ชเชยังได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นกับกีฬาเทควันโด และการเดินทางมาเป็นเฮดโค้ชทีมเทควันโดไทย จนทำให้เขาหลงรักเมืองไทย และกลายเป็นคนที่มีหัวใจไทยแท้
ทำไมถึงเลือกกีฬาเทควันโด
จริงๆ ผมเป็นนักกรีฑามาก่อน แต่เพื่อนที่นั่งเรียนข้างๆ เขาเรียนเทควันโด ผมเลยสนใจเล่นกีฬาเทควันโดตามเพื่อน ผมเริ่มเรียนเทควันโดตอนอายุ 12 ขวบ ซึ่งผมรู้สึกว่าเรียนช้าไปนิดนึง เพราะเด็กปกติเขาจะเริ่มเรียนตอนอายุ 7-8 ขวบ ตอนเล่นแรกๆ ที่เล่นก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะบาดเจ็บบ่อย เวลาเข้าคู่ซ้อมก็โดนทั้งหน้าทั้งท้อง ทำให้รู้สึกกลัวจริงๆ ถ้าไม่ใช่เพราะเพื่อน ผมก็น่าจะเลิกเรียนเทควันโดไปแล้ว แต่หลังจากเรียนไปประมาณ 3-4 เดือน ผมไปแข่งได้เหรียญทองแดง รายการชิงแชมป์ประเทศเกาหลีใต้ เลยทำให้มีกำลังใจในการเล่น ก็เลยเริ่มชอบเล่นเทควันโดตั้งแต่ตอนนั้น
กีฬาอื่นที่ชอบนอกจากเทควันโด
ตอนเด็กๆ ผมชอบอยู่ 3 กีฬาครับก็จะมี กรีฑา, เทควันโด และเบสบอล ผมชอบดูเบสบอล ชอบมากจริงๆ ชอบมากกว่าเทควันโดเสียอีก แต่ว่าเทควันโดเป็นกีฬาที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ลงทุนซื้อแค่ชุดอย่างเดียว ถ้าเป็นเบสบอลต้องซื้ออุปกรณ์หลายอย่าง ซึ่งมีราคาแพงมาก เพราะตอนเด็กที่บ้านของผมก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ไม่กล้าไปบอกกับคุณแม่ว่า ขอไปเรียนเบสบอลได้ไหม เพราะผมรู้ว่า ถ้าเรียนคงซื้ออุปกรณ์ไม่ไหว ก็เลยเลือกเล่นเทควันโดดีกว่า แต่ว่าตอนนี้ก็ยังชื่นชอบดูกีฬาเบสบอลอยู่
จุดเริ่มต้นเป็นโค้ชทีมชาติไทย
หลังจากที่ผมได้เป็นโค้ชเทควันโดได้ประมาณ 1 ปีกว่า ผมก็มีความฝันว่า อยากเป็นโค้ชทีมชาติ ที่ไม่ใช่เกาหลีใต้ อยากไปคุมทีมในต่างประเทศ และเมื่อปี 2001 ผมก็ได้ไปเป็นโค้ชเทควันโดที่ประเทศบาห์เรน จากนั้นต่อมาปี 2002 มีแข่งเอเชี่ยนเกมส์ ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี แล้วตอนนั้นทีมชาติไทยกำลังมองหาโค้ชเทควันโดอยู่พอดี เขาก็เลยชวนมาคุมทีมชาติไทย
การปรับตัวในเมืองไทยช่วงแรก
จริงๆ ลำบากมากเรื่องภาษาไทย เพราะไม่เคยได้ยิน หรือรู้จักภาษาไทยมาก่อน ตอนที่ผมทำงานที่บาห์เรน ผมก็เคยเรียนภาษาอังกฤษ ครั้งแรกที่มาก็พยายามคุยกับคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ อย่าง “วิว” เยาวภา บุรพลชัย และจิ๊บ ชลนภัส เปรมแหวว หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ผมก็เริ่มอยากเรียนภาษาไทย คอยถามนักกีฬาตลอดว่า คำนี้ภาษาไทยเรียกว่าอะไร ซึ่งผมเองก็อยากคุยกับนักกีฬา แต่ว่าบางคนพูดอังกฤษไม่ได้ ผมเลยคิดว่าต้องเรียนภาษาไทย
การสอนนักกีฬาไทยสไตล์เกาหลี
ผมก็สอนแบบคนเกาหลี ตอนแรกๆ ก็มีปัญหาเรื่องภาษาอยู่บ้าง อธิบายอะไรก็ยาก จึงต้องคอยแสดงท่าทางในสื่อสารแทน ซึ่งก็เป็นปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่หนักเท่าไหร่ ส่วนฉายาที่ผมได้รับว่าเป็นโค้ชจอมเฮี้ยบนั้น จริงๆ ก็รู้สึกเสียดาย และเสียใจ เพราะผมเป็นคนที่ทำอะไรก็ทำด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น ทำอะไรเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้เอามาคิดมากเท่าไหร่ในเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายของผมก็แค่อยากเห็นนักกีฬาได้พัฒนา และตั้งในใจการซ้อม
ความผูกพันยาวนานในเมืองไทย
อันดับแรกเลยครอบครัวของผมรักเมืองไทย ผมอยู่เมืองไทยมานานเกือบ 20 ปี อยู่ตั้งแต่นักกีฬาบางคน ที่เข้ามาติดทีมชาติตั้งแต่ชุดเยาวชน จนไปติดทีมชาติชุดใหญ่ พออยู่นานๆ ไปก็เริ่มมีความผูกพัน ซึ่งในตอนแรกความรู้สึกผมก็เหมือนว่าเป็นนักกีฬากับโค้ช แต่พออยู่ไปสักพัก เวลาไปแข่งขันแล้วชนะ ผมก็รู้สึกดีใจด้วย แพ้ก็เสียใจ ร้องไห้ด้วยกัน รู้สึกเศร้า จนทำให้วันหนึ่งผมรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่แค่นักกีฬากับโค้ช แต่เป็นเหมือนลูกชาย และลูกสาวของผม ที่ไม่ใช่เป็นนักกีฬา ไม่ใช่เป็นสต๊าฟโค้ช แต่เป็นครอบครัวของผม
ปฏิเสธชาติอื่นที่ทุ่มเงินค่าจ้างสูงกว่า
ถึงแม้ว่าชาติอื่นจะยื่นข้อเสนอที่ดีมาให้ ผมก็ยอมรับว่า ผมก็อยากได้เงินเยอะๆ เพราะสิ่งที่สำคัญ ผมไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ผมยังมีครอบครัว มีลูก มีภรรยาที่ต้องรับผิดชอบ แต่ผมก็รู้สึกทำใจไม่ได้ หากต้องไปเป็นโค้ชให้ทีมชาติอื่น เป็นอะไรที่ตัดใจยาก เพราะว่าในใจของผม นักกีฬาไม่ได้เป็นนักกีฬาอย่างเดียว พวกเขายังเป็นเหมือนลูกชาย และลูกสาวของผม ผมเลยตัดสินใจไม่ไปดีกว่า เพราะอยากอยู่ที่ประเทศไทยนานๆ อยากสร้างชื่อให้ประเทศไทย และอยากอยู่กับลูกศิษย์ของผมนานๆ
สิ่งที่ทำให้อยากอยู่ในเมืองไทยตลอด
มีหลายเรื่องมากครับ ที่ทำให้ผมอยากอยู่ที่ประเทศไทย เพราะผมรู้สึกว่าเวลาที่อยู่ที่นี่สบายจริงๆ ถ้าเมื่อไหร่ที่ผมอยากกลับบ้านไปประเทศเกาหลีใต้ ผมก็นั่งเครื่องบินไปแค่ 5 ชั่วโมง ไม่ได้ไปอยู่ไกลเหมือนอยู่ยุโรป หรืออเมริกา รวมถึงสังคมที่เมืองไทยก็มีคนเกาหลีอยู่เยอะ ผมเลยมีเพื่อนเวลาอยู่ที่ไทย และก็ชอบอาหารไทย ถ้าวันไหนรู้สึกเหนื่อยก็จะไปนวด ซึ่งจริงๆ แล้วอยู่ที่ประเทศไทย ผมก็ไม่ได้ลำบากสักเท่าไหร่ คนหลายๆ ชาติก็รักเมืองไทย หลายๆ คนก็อยากมาสร้างชีวิตที่ประเทศไทย
อาหารไทยที่ชื่นชอบและไม่ชอบ
ทุกๆ ครั้งเวลาสั่งอาหารก็มักจะสั่งส้มตำมารับประทาน เช่น ตำไทย ตำปู และแน่นอนว่าก็ต้องเป็นต้มยำกุ้งด้วย และเมนูอย่างอื่นอีก เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดง ปูผัดผงกะหรี่ ซึ่งตอนแรก พูดตรงๆ ผมก็ไม่ค่อยชอบรับประทานเท่าไหร่ แต่ตอนนี้เริ่มชอบอาหารไทย เริ่มทานได้บ่อยขึ้นแล้ว เพราะอาหารเกาหลีก็จะเผ็ดคล้ายๆ กับอาหารไทย เรื่องกินเลยไม่ได้มีปัญหามากนัก
แต่ผมยังไม่เคยทำอาหารไทยครับ ขณะที่ภรรยาของผม เขาเคยทำผัดผักบุ้งไฟแดงที่บ้าน แต่ว่ารสชาติไม่ค่อยเอาอะไรสักเท่าไหร่ ผมเลยสั่งภรรยาของผมว่า ไม่ให้ทำอาหารไทย ถ้าอยากทำอาหารเกาหลีทำเลยเต็มที่ แต่ถ้าอยากกินอาหารไทย เราไปหารับประทานร้านอาหารข้างนอกดีกว่า
ส่วนอาหารไทยที่ไม่ชอบ ผักชีครับ จริงๆ รับประทานได้ แต่ไม่ใส่ดีกว่า เพราะว่าที่เกาหลีไม่มีผักชี ครั้งแรกที่ทานเข้าไปผมก็รู้สึกไม่ค่อยโอเคสักเท่าไหร่ ไม่ค่อยชอบ และอีกอย่างที่ไม่ชอบทานก็คือ ปลาร้า เพราะมีกลิ่นเหม็นมาก ซึ่งเวลาไปสั่งอาหารก็จะบอกแม่ค้าเสมอว่า ไม่ใส่ผักชีนะครับ ส่วนเวลากินส้มตำก็จะสั่งว่า ไม่ใส่ปลาร้า
สถานที่่ท่องเที่ยวโปรดในเมืองไทย
จริงๆ ตอนเด็กผมเป็นคนชอบไปเที่ยวทะเล ผมเลยชอบจังหวัดกระบี่ เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทีมชาติไทยมีรายการแข่งขันชิงแชมป์โลก ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ นักกีฬาเราก็ต้องไปเก็บตัวที่จังหวัดกระบี่ พอได้ไปอยู่ที่นั่นผมก็รู้ว่าทะเลที่นี่สวย ไม่เหมือนกับพัทยา กับภูเก็ต ที่จะมีโรงแรมอยู่เยอะ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่าจังหวัดกระบี่ ผมเลยชอบไปเที่ยวที่กระบี่มากกว่า
มองถึงเรื่องการซื้อบ้านในไทย
เรื่องบ้านก็ต้องดูอีกครั้งหนึ่งก่อน ซึ่งครอบครัวของผมเองก็รักเมืองไทย อยากสร้างชีวิตที่ประเทศไทยไปนานๆ อยู่แล้ว บวกกับตอนนี้ลูกชายของผมก็อายุ 12 ปี เริ่มโตเป็นหนุ่ม ถ้าอยู่คอนโดต่อไป ผมก็รู้สึกว่ามีขนาดเล็กเกินไป เพราะฉะนั้นในอนาคต ถ้าผมซื้อบ้านในไทยได้ก็อยากจะซื้อบ้านให้ครอบครัวได้อยู่กันอย่างสบายๆ
ครอบครัวสนับสนุนเป็นโค้ชในไทย
ครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ครับ แม้ว่าช่วงแรกๆ ภรรยาผมจะมีปัญหาเรื่องที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ ไม่มีเพื่อน ไม่มีคนรู้จักที่นี่ มีแต่ครอบครัว แถมมีบางช่วงที่ผมต้องออกเดินทางไปที่อื่นอยู่ประมาณครึ่งปี ภรรยาผมเลยต้องอยู่คนเดียว เลี้ยงลูกคนเดียว แต่พออยู่มาประมาณ 2-3 ปี เขาก็เริ่มพูดภาษาไทยได้ เริ่มมีเพื่อนฝูง จนตอนนี้ภรรยาผม เขาชอบเมืองไทยมากกว่าผมไปแล้ว เพื่อนก็มีเยอะขึ้น เขาเลยสนันสนุนในเรื่องนี้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์
การตัดสินใจเปลี่ยนสัญชาติไทย
จริงๆ ประเทศไทยเราเคยได้เหรียญโอลิมปิกจากแค่ 3 ชนิดกีฬา คือ มวยสากล, ยกน้ำหนัก และเทควันโด แต่ถ้าเป็นเหรียญทองก็มีแค่ยกน้ำหนักกับมวยสากล ซึ่งคนที่เป็นโค้ชพาทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญล้วนแต่เป็นโค้ชชาวต่างชาติ เช่น ยกน้ำหนักเป็นโค้ชชาวจีน, มวยสากลเป็นโค้ชชาวคิวบา ส่วนเทควันโดก็เป็นผมที่เป็นคนเกาหลีใต้ โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ถ้าหากมีโอกาสคว้าเหรียญทอง ผมเลยคิดว่าอยากเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทยก่อนไปแข่งขัน
เพราะถ้าผมยังไม่เปลี่ยนสัญชาติ ผมก็ยังจะเป็นชาวต่างชาติที่พาทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญทอง ผมเลยอยากสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยว่า ผมเป็นคนไทยคนแรก เป็นโค้ชคนไทยคนแรกที่พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ผมเลยรู้สึกอยากจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ส่วนความคืบหน้าตอนนี้ก็ได้คุยกับ ผศ.ดร.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยบ้างแล้ว และก็ได้พบกับทนายในการเตรียมเอกสารต่างๆ ตอนนี้ก็กำลังดำเนินการเตรียมเอกสารไว้แล้ว และเตรียมตรวจสอบเรื่องเอกสาร จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลไทย
เล่าถึงที่มาของชื่อไทย”ชัยศักดิ์”
ชื่อนี้ได้มาประมาณ 10 ปีที่แล้วครับ นักกีฬาเทควันโดสมัยนั้นเป็นคนตั้งให้เมื่อตอนที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ ผมก็เลยให้พวกเขาตั้งชื่อให้ ชื่อของผม เช-ยอง-ซ็อก พูดไปพูดมาก็เป็น ชัย-ยะ-ศักดิ์ เป็นคำพูดที่ออกเสียงคล้ายๆ กับชัยศักดิ์ ผมก็เลยถามพวกนักกีฬาว่าชื่อนี้มีความหมายว่ายังไง พวกเขาบอกว่าไปไหนมาไหนทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จมีแต่ชัยชนะ ทำให้ผมชอบชื่อนี้ ซึ่งก็ต้องไปพูดคุยกับคุณพิมลก่อนว่านักกีฬาเขาตั้งชื่อนี้มาให้ผม โอเคไหม ถ้าโอเคก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าการตั้งชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
ผมกับคุณพิมลอยู่ด้วยกันทำงานด้วยกันมาประมาณ 17 ปี และเขาก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของสมาคม ถ้าจะตั้งชื่อใหม่มาจริงๆ ผมก็อยากให้คุณพิมลเป็นคนตั้งชื่อให้ โดยตอนนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องชื่อครับ เพราะเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการขอเตรียมเอกสารเปลี่ยนสัญชาติก่อนไปทำการแข่งโอลิมปิกเกมส์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงกลางปีนี้ เลยต้องรีบดำเนินการในเรื่องนี้ก่อน
เป้าหมายเหรียญทองโอลิมปิก
แน่นอนว่าทุกครั้ง ทุกแมตช์ ทุกการแข่งขัน เราก็มีเป้าหมายคือ เหรียญทอง ซึ่งผมยอมรับว่า โอลิมปิกครั้งนี้ประเทศไทยเรามีโอกาสที่จะคว้าเหรียญทองจริงๆ แต่เสียดายที่ปีที่แล้วติดเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้เลื่อนการแข่งขันมาแข่งกันในปีนี้ แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าปีนี้โอลิมปิกยังสามารถจัดแข่งขันได้ตามกำหนดเดิม ก็ตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อยต้องได้ 1 เหรียญทอง ซึ่งผมจะทำให้เต็มที่และคว้าเหรียญมาให้ได้มากที่สุด
จริงๆ ผมไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้เหรียญอะไร เพราะไม่มีใครรู้ผลก่อนทำการแข่งขัน แต่ถ้าให้พูดตรงๆ ก็ยอมรับว่าตอนนี้ ?น้องเทนนิส? พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คือหมายเลข 1 ของโลกในเวลานี้ ซึ่งก็มีโอกาสจริงๆ ที่จะคว้าเหรียญทองโอลิมปิก แต่ว่าตอนนี้เราก็ต้องดูแลในเรื่องร่างกาย และระวังเรื่องอาการบาดเจ็บ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ผมคิดว่าก็มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะคว้าเหรียญทองได้
วางแผนอนาคตในเมืองไทย
ตอนนี้เป้าหมายของผมลำดับแรกเลยคือ พาทัพนักกีฬาทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ส่วนในอนาคตถ้าหากเลิกเป็นโค้ชเทควันโดทีมชาติไทยแล้ว ก็อยากจะทำมูลนิธิ ชื่อมูลนิธิโค้ชเช ยอง ซ็อก หรือไทเกอร์ เช ฟาวน์เดชั่น เพราะผมเกิดปีเสือ อะไรประมาณนี้ ซึ่งก็จะเป็นมูลนิธิที่ช่วยเด็กๆ ชาวไทยในต่างจังหวัดที่อยู่กันอย่างลำบาก เพราะผมอยากจะตอบแทนชาวไทยที่คนไทยรักผม ห่วงใยผม ซึ่งผมก็อยากช่วยจริงๆ และอีกอย่างถ้าหากผมได้เป็นคนไทยแล้ว ผมมีความรู้เรื่องกีฬาเทควันโด ก็อยากจะไปทำงานเรื่องเทควันโด ระหว่างประเทศไทยกับเกาหลีใต้ อะไรประมาณนั้น ถ้าอันไหนผมทำได้ก็ยินดีที่จะทำเต็มที่
จากจุดเริ่มต้นของโค้ชเช ยอง ซ็อก กับการเข้ามาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ผ่านเรื่องราวยาวนานกว่า 19 ปี ที่ทำให้โค้ชสายเลือดโสมขาวรายนี้มีหัวใจเป็นไทยแท้ จนตัดสินใจขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทยด้วยเหตุผลที่น่าประทับใจสำหรับคนไทยทั้งประเทศ เพราะโค้ชเชต้องการที่จะเป็นโค้ชคนไทยคนแรกที่พานักกีฬาไทยสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งเขาไม่ได้มองแค่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังมองถึงคนไทยทั้งประเทศ
ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของทั้งตัวโค้ชเช ยอง ซ็อก รวมทั้งคนไทยทั้งประเทศที่ต้องการได้เห็นความสำเร็จเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์อีกครั้ง หลังจากที่ทัพนักกีฬาไทยไม่เคยได้สัมผัสเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์มายาวนานถึง 13 ปีแล้ว
ระเบิดความมันของสุดย…
สนามมวยลุมพินี ประกา…
This website uses cookies.