ใกล้จะครบรอบวันประวัติศาสตร์ของไทยเรากับกีฬาโอลิมปิกวันหนึ่ง ย้อนไปเมื่อ 4 ส.ค. ปี 1996 หรือ พ.ศ.2539 ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เกือบจะ 25 ปีเต็มๆ เกริ่นอย่างนี้แฟนๆกีฬาหลายคนคงจะจำกันได้ และเช่นกันก็มีมากมายที่ไม่รู้
นั่นคือวันที่ประเทศไทยได้เหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ ก็จาก สมรักษ์ คำสิงห์ จากกีฬามวยสากลสมัครเล่น (ชื่อเรียกในยุคนั้น ปัจจุบันเป็นมวยสากลเฉยๆไม่มีคำว่าสมัครเล่นแล้ว) ในรุ่นเฟเธอร์เวท
หลังได้เหรียญทองในวันนั้น ที่นำความสุขความภาคภูมิใจมาให้กับคนไทยทั้งประเทศ ช่วงเย็นจะมีพิธีปิดการแข่งขัน แต่ทีมมวยสมัครเล่นไทย นำโดย พล.อ.สำเภา ชูศรี อุปนายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นฯในขณะนั้น ซึ่งเปรียบเหมือนผู้บัญชาการทีมมวยไปรบในด่านหน้า
รวมทั้ง “บิ๊กวอ” วรวุฒิ โรจนพานิช เลขาธิการสมาคม และ พล.อ.ทวีป จันทรโรจน์ ในฐานะประธานเทคนิค (ตอนนั้น) พร้อมด้วยสมรักษ์ก็ตัดสินใจไม่เข้าพิธีปิด แต่ไปฉลองกันเงียบๆแบบกลุ่มเล็กๆ ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งชานเมืองแอตแลนตา ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น
นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความยินดีกับทีมมวยสมัครเล่นไทยและสมรักษ์ที่นั่น หลังพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีสมรักษ์ได้ขอตัวทีมงานปลีกตัวออกจากร้านอาหาร ใช้เวลาส่วนตัว จูงมือภรรยา “มาดามอ้อย” เสาวนีย์ คำสิงห์ เดินเล่นลับหายไปกับความมืดในช่วงเวลาหนึ่ง ภาพที่ผมเห็นในวันนั้นได้แต่นึกในใจว่าชีวิตของ สมรักษ์ คำสิงห์ ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว และจากวันนั้นชีวิตของ สมรักษ์ก็เปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้
และสิ่งหนึ่งที่ต้องบันทึกไว้เช่นกัน ในยุคนั้นเงินรางวัลอัดฉีดไม่มากมายเหมือนปัจจุบัน แต่ด้วยเห็นความสำคัญ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐของท่านผู้อ่านทุกคนนี่แหละได้จัดโครงการขึ้นมาโดยรวบรวม
ผู้สนับสนุนให้เงินรางวัลพิเศษแก่เหรียญทองโอลิมปิก จำนวน 10 ล้านบาทขึ้นมา ซึ่งสมรักษ์เองก็กล่าวอยู่เสมอว่า ตอนซ้อมชกกระสอบไปก็ตะโกนไปว่า10 ล้าน 10 ล้าน จนในที่สุดก็ได้รับเงินก้อนนี้ไปจริงๆ
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ยอดเงินอัดฉีดจากภาครัฐเองก็ขยับขึ้นมาเป็นจำนวนเงินที่มากมายพอควร รวมถึงแต่ละสมาคมกีฬาเอง และองค์กรต่างๆก็พยายามหาทางเติม ล่าสุดสมาคมมวยฯก็ได้ประกาศโปะเพิ่มไปอีก 10 ล้าน, 3 ล้าน และ 2 ล้าน ตามลำดับเหรียญทอง เงินและทองแดง
ตอนนี้มวยคิวต่อไป “แต้ว” สุดาพร สีสอนดี จะขึ้นชกในรอบ 8 คนสุดท้าย กับ แคโรไลน์ ดูบัวส์ จากสหราชอาณาจักร ในวันที่ 3 ส.ค. รอเชียร์กันต่อไป
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว โอลิมปิกครั้งนี้ถูกจำกัดด้วยมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดยิ่ง นั่นทำให้ญี่ปุ่นเองในฐานะเจ้าภาพ รวมถึงภาพลักษณ์ และบรรยากาศของ “โอลิมปิก”
โดยรวมต้องสูญเสีย เสียทั้งโอกาส รายได้ เศรษฐกิจภาพรวม และมีหลายสิ่งหลายอย่างขาดหายไปจากความเป็นตัวตนของ “โอลิมปิก” เกมที่ถูกเรียกขานว่าเป็นเกมแห่งมวลมนุษยชาติ
โดยเฉพาะความเป็น “โอลิมปิก” นอกสนามแข่งขัน ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าในสนามเลย!!!
ด้วยในสนามก็ว่ากันไปถึงการแข่งขัน แสดงศักยภาพ ความสามารถในด้านกีฬา อันมีเหรียญรางวัลเป็นส่วนหนึ่งของการพิสูจน์ ประเมิน จัดลำดับ
แต่นอกสนามคือ “ชีวิต” และคุณค่าของการมีส่วนร่วมจากผู้คนทั่วโลก ที่อาศัยมิติของกีฬาเป็นสื่อชักนำมาร่วมกัน เชื่อมเข้าหากัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างมีมิตรไมตรี และความสนุกสนานภายใต้ร่มเงาของกีฬาโอลิมปิก
ยิ่งญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ทั้งโลกอยากไป บรรยากาศ และผู้คน เหมาะสมและเอื้ออย่างยิ่งต่อพลังแห่งโอลิมปิก น่าเสียดายที่สังคมโอลิมปิกนอกสนามต้องขาดหายไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้บางอย่างทางสังคมขาดหายไป แต่ก็ไม่สามารถทำลายแก่นแท้ของกีฬาโอลิมปิกลงไปได้
ซึ่ง “ไอโอซี” หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล องค์กรดูแลกีฬาโอลิมปิก ก็ได้ซึมซับกับความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากโควิด และได้ปรับตัว ปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยสะท้อนได้ชัดเจนช่วงก่อนกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มขึ้นไม่นาน ที่ประชุมใหญ่ไอโอซี ครั้งที่ 138 ลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ปรับคำขวัญโอลิมปิกใหม่
เป็น “faster, higher, stronger-together” หรือ “เร็วกว่า สูงกว่า แข็งแรงกว่า ด้วยกัน” โดยคำที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ “ด้วยกัน” นั้น ลึกซึ้งยิ่ง
แก่นแท้ของกีฬาโอลิมปิกที่ยังดำรงอยู่โดยไม่มีอะไรมาจู่โจม หรือทำลายลงได้ นั่นคือการแสดงออกซึ่งศักยภาพของมนุษย์ทางกีฬา แต่ละประเทศ แต่ละชาติ มีตัวแทนมาแสดงความสามารถกับเพื่อนร่วมโลก ไม่ว่าจะได้เหรียญรางวัลหรือไม่ คุณค่าหลักมันอยู่ตรงนี้!
เราได้เห็น “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ทุ่มเทและร่ำไห้หลังพ่ายแพ้ ทั้งตั้งความหวังใหม่ในปารีส 2024 หรือจะเป็น “วอร์ม” อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข ได้ที่ 4 เป้าบินสกีต ชวดเหรียญไปหวุดหวิด แต่เธอก็ยิ้มได้ กระทั่ง “ณี” สุธิยา จิวเฉลิมมิตร อีกความหวังจบที่อันดับ 13 แต่ก็ไม่ท้อ ขอสู้ต่อในครั้งหน้า
“น้องเบญ” สุเบญรัตน์ อินแสง ขว้างจักรสาวทีมชาติไทย จบอันดับ 18 สถิติดีสุดที่ 59.23 เมตร ไม่ผ่านเข้ารอบแต่ยังเป็นสถิติดีสุดในปีนี้ของเธอ
ล่าสุดก็ “เฟี้ยว” จุฑามาศ จิตรพงศ์ นักชกสาวดาวรุ่งไทย วัย 23 ปี ชาวนครศรีธรรมราชก็สู้เต็มที่ก่อนแพ้ บูเซนาซ ชาคิโรกลู เต็ง 1 จากตุรกี ชวดเหรียญไป แต่ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถที่จะกลับมาได้อีกในอนาคต
เวลาเราดูนักกีฬาไทยลงแข่งขัน แน่นอนเราเห็นความพ่ายแพ้มากกว่าชัยชนะ ในเกมอย่างโอลิมปิกอันเป็นที่สุดของโลก สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นทันทีคืออารมณ์ร่วมในความเป็นไทย เราได้ตอกย้ำ และระลึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเราอย่างอัตโนมัติ
แน่นอนเราอยากเห็นคนไทยชนะทั้งนั้น แต่เมื่อแพ้ไม่ว่าอารมณ์ร่วมระหว่างแข่ง หรือผลที่ออกมา มีบ้างที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ แต่สุดท้ายความรู้สึกจะบ่งบอก และมันคือแค่ความ “เสียดาย” ที่อยากเห็นนักกีฬาของเราทำได้ดีกว่านี้
และเมื่อการแข่งขันใหม่มาถึงเราก็ยังเชียร์คนของเรา พี่น้องของเรา เพราะการแพ้แต่ละครั้งมันเป็นการ “เสียดาย” ไม่ใช่ “เสียใจ”
สู้ต่อ ดูต่อ และเชียร์กันต่อไปครับ…
“เบี้ยหงาย”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระเบิดความมันของสุดย…
สนามมวยลุมพินี ประกา…
This website uses cookies.