ช้างกูอยู่ไหน ! ประโยคฮิตติดปากคนไทยที่ต้องเคยดู หรือรู้สัปดาห์ก่อน เราได้พูดถึงเกมประเภท Movie Tie In และมีอยู่เกมหนึ่งที่เราพูดถึงไป เกมนั้นคือ ต้มยำกุ้ง (Tony Jaa: TOM-YUM-GOONG The Game) ที่กล่าวได้ว่านี่คือผลงานเกมยุคแรก ๆ ของชาวไทยที่สร้างจากหนังแอ็คชั่นชื่อก้องโลกอย่าง ต้มยำกุ้ง ผลงานของสหมงคลฟิล์ม และกำกับโดยปรัชญา ปิ่นแก้ว วันนี้เราขอพาทุกท่านย้อนอดีตไปดูเกมที่อาจจะไม่ได้ดีมาก แต่น่าจดจำอย่างเกมต้มยำกุ้ง ตัวนี้กัน
ภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง ออกฉายในประเทศไทยเมื่อปี 2005 แต่จริง ๆ แล้วตัวเกมถูกพัฒนาและนำออกมาเปิดตัวรวมไปถึงการโปรโมทตั้งแต่ช่วงที่หนังยังไม่ฉาย เกมต้มยำกุ้ง ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อโปรโมทหนัง และดำเนินเรื่องตามหนังแบบแทบจะทุกอย่าง ตัวเกมนั้นพัฒนาโดยบริษัท Game No Limit ที่มีคุณหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นกรรมการผู้จัดการในตอนนั้น ซึ่งในปัจจุบันเราก็จะคุ้นหน้าคุ้นตาคุณหนุ่ยกันดีจากสื่อบันเทิงไอทีอย่าง แบไต๋ นั่นเอง
นอกจากตัวเกมจะทำมาจากหนังแล้ว จุดเด่นของเกมนี้คือ การเป็นเกมแอ็คชั่นที่ได้ จา พนม แอ็คชั่นสตาร์ชื่อดังของไทย มาร่วมออกแบบท่าทางต่อสู้ของตัวละครในเกม โดยเป็นการถอดแบบแม่ไม้มวยไทยกว่า 30 กระบวนท่าให้ไปอยู่ในเกมแบบเหมือนที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีในยุคนั้นจะทำได้
ตัวเกมเป็นเกมแนวแอ็คชั่นตะลุยด่านเป็นเส้นตรง ผู้เล่นจะต้องเดินหน้าตะลุยเหล่าร้าย ซึ่งเดินเรื่องเหมือนกับฉบับภาพยนตร์ และมีระบบอย่างอื่นในเกมด้วย เช่นการใช้อาวุธ การกดคอมโบ ซึ่งต้องกดให้ถูก จึงจะออกมาเป็นกระบวนท่าต่าง ๆ ได้ แม้จะไม่ได้สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้น แต่กระบวนท่าแม่ไม้มวยไทยที่อยู่ในเกมนั้น เท่อย่าบอกใคร
อย่างที่กล่าวไปว่าตัวเกมนั้นเป็นการตะลุยด่านแบบเป็นเส้นตรง โดยตัวเกมนำเสนอในมุมมองบุคคลที่ 3 และใช้วิธีล็อคมุมกล้องคล้าย ๆ กับเกม Resident Evil แต่เปลี่ยนไปเป็นการต่อสู้แบบเตะต่อยระยะประชิดแทน ด้วยเทคโนโลยีของสมัยนั้น การเคลื่อนที่ผ่านแต่ละฉาก มีบ้างที่ต้องใช้การโหลดฉากขึ้นมาใหม่ และด้วยมุมกล้องที่ล็อคแบบ Resident Evil ทำให้บางครั้ง การต่อสู้ก็ค่อนข้างยากนิดหนึ่ง จากกดทิศทางนี้ ก็ต้องสลับไปกดอีกทิศทางหนึ่ง ทำให้คอมโบหลุดได้ค่อนข้างง่าย ในการที่จะได้กระบวนท่าใหม่ ๆ มาใช้ ก็จะปลดล็อคตามฉากที่เราเล่นจบไป
การออกแบบ UI ของเกมนั้น จะว่าเรียบง่าย หรือไม่มีอะไรเลยก็ได้ ที่ด้านล่างจอของผู้เล่นจะมีหลอดพลังอยู่สองสี คือสีแดงและสีเขียว สีแดงคือพลังชีวิต หมดเมื่อไรก็คือตาย ส่วนสีเขียวนั้นคือหลอดสำหรับใช้ท่าโจมตีพิเศษ ที่ก็ไม่รู้ว่ามันแรงขึ้นหรือไม่ รู้แค่มันเท่ที่จะใช้! พร้อมมีเสียงเอฟเฟคท์สุดฮึกเหิมตอนกดใช้อีกด้วย
และการเติมพลังชีวิตนั้น เกมไม่ได้มีคีย์ลัดให้กดใช้ไอเทม แต่เราจะต้องกดหยุดเกม เพื่อเข้าไปในหน้าเมนูและกดใช้ไอเทมแทน สำหรับไอเทมเติมพลังในเกมนี้ก็ยังถูกออกมาโดยใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์ในเกม ช้างสีเงินจะใช้ในการเติมพลังชีวิต ส่วนช้างสีทอง จะหาได้ยากกว่าปกติ และใช้สำหรับฟื้นคืนชีพหลังจากเราพลาดท่าตายหรือเกมโอเวอร์
ในบางฉากตามสคริปท์เกมหรือเนื้อเรื่องต้นฉบับหนัง เราจะได้ขี่ยานพาหนะหรือใช้อาวุธด้วย เช่นสเตจ 4 ที่เราจะได้ขับเรือหางยาว หรือสเตจ 9 ที่ได้ใช้อาวุธเป็นกระดูกช้าง สเตจ 8 วัดไทยในออสเตรเลีย ได้ใช้ไม้ตีฆ้องเป็นอาวุธ ซึ่งทั้งหมดล้วนอิงตามภาพยนตร์แบบเป๊ะ ๆ
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ตัวเกมก็มีที่ตินั่นคือปัญหา Performance ซึ่งน่าจะจัดการได้ยากในยุคนั้น บางฉากตัวเกมจะมีอาการเฟรมเรทตกอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การกดคอมโบค่อนข้างยาก สุดท้ายก็เตะต่อยมั่ว ๆ กันไป และตัวเกมอาศัยคู่มือภาษาไทยที่แถมให้ในกล่องเกมตอนนั้น ในเกมจึงไม่มีการบอกว่าต้องกดปุ่มไหน อะไรยังไง ซึ่งอาจทำให้ใครหลายคนมึนงงกันไปเลย เวลาเล่นไปเจอบางฉาก ส่วนตัวผู้เขียนเคยไปงงตาแตกตอนสเตจ 4 ที่ให้ขับเรือ เพราะไม่รู้ต้องกดปุ่มอะไรให้เรือแล่น กว่าจะรู้ก็เปลืองเวลาไปนานโข
Game No Limit ภูมิใจเสนอ โทนี่จา ต้มยำกุ้ง เดอะเกม ให้เสียงภาษาไทยโดยพันธมิตร และ จา พนม ยีรัมย์
นี่อาจจะเป็นเกมแรกที่ทำโดยคนไทยไม่พอ ยังมีการใส่เสียงพากย์ภาษาไทยเข้าไป และทีมพากย์เกมนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากทีมพากย์พันธมิตรนั่นเอง นอกจากทีมพากย์ชุดหลักแล้ว ยังได้ จา พนม มาร่วมให้เสียงพากย์ตัวละครของตัวเองอีกด้วย
งานนี้เสียงที่เราคุ้นหูกันดี อย่างคุณโต๊ะ ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ มาในฐานะผู้ให้เสียงบรรยายฉากคัทซีน รวมไปถึงเสียงของนักพากย์อันเป็นเอกลักษณ์อย่างคุณติ่ง สุภาพ ไชยวิสุทธิกุลที่ได้หมด ทั้งตัวละครสำคัญ รวมไปถึงมาพากย์เสียงจ่ามาร์ค ตัวละครของหม่ำ จ๊กมก ด้วยเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ที่ฟังแล้วก็รู้เลยว่าใคร ด้วยเสียงพากย์ไทยก็ทำให้การเล่นเกมได้อรรถรสไปอีกแบบ และเราน่าจะเดากันออกว่าหากสักวันหนึ่งมีเกมพากย์ไทยขึ้นมาจริง ๆ จะออกมาเป็นแบบไหน แม้ว่าเกมนี้จะเก่ามากแล้วก็ตาม
นอกจากตัวเกมแล้ว ในตอนนั้นนิตยสารต่าง ๆ ยังมีการตีพิมพ์ข้อมูล และเนื้อหาของเกมต้มยำกุ้งออกมาเป็นเล่มแยกเฉพาะอีกด้วย น่าเสียดายที่ในยุคปัจจุบันนี้ จะหาเกมนี้มาเล่น ก็ต้องบอกเลยว่ายากมากแล้ว เพราะไม่มีขายออนไลน์ ตัวเกมที่เป็นกล่องก็แทบหาคนขายไม่เจอ
และถึงแม้ว่าต้มยำกุ้ง อาจไม่ใช่เกมที่ดีเลิศเพอร์เฟคท์อะไร แต่ในฐานะที่มันเป็นเกมยุคแรก ๆ ของชาวไทย และเน้นการใช้ศิลปะการต่อสู้สุดมันแล้วล่ะ ต้มยำกุ้งทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว
ระเบิดความมันของสุดย…
สนามมวยลุมพินี ประกา…
This website uses cookies.