Thai Boxing Sponsored
Categories: มวยไทย

ธัชนนท์ คชชาสุวรรณ : จากผู้สร้างปรากฏการณ์ “สงขลาฟีเวอร์” สู่คนทำมวยที่บริหารแบบทีมบอล – Sanook

Thai Boxing Sponsored
Thai Boxing Sponsored

“ผมก็ไม่เคยคิดเหมือนกันนะว่าวันหนึ่งจะได้มาทำค่ายมวยไทย เพราะที่ผ่านมาเราเคยทำแต่ฟุตบอล เป็นผู้จัดการทีมสงขลา เอฟซี ตั้งแต่สมัยมีคนดูไม่ถึง 400 คน จนถึงวันที่สร้างปรากฏการณ์สนามแตก คนดูเข้ามาล้นความจุสนาม 36,715 คน”

“เพราะเราเป็นคนชอบฟุตบอล เราจึงถอดโครงสร้างของทีมฟุตบอลอาชีพมาปรับใช้กับค่ายมวย เราทำอะคาเดมี มีทีมสเกาท์ไปส่องเด็ก ๆ ที่มีแววมาปลุกปั้นต่อ จ้างทีมงานโค้ชที่เคยมีดีกรีระดับแชมป์โลก, ระดับยอดมวยไทย และใส่เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าไป” 

10 ปีที่แล้ว “หนึ่ง-ธัชนนท์ คชชาสุวรรณ” ยืนอยู่ในสนามกีฬาติณสูลานนท์ ท่ามกลางบรรยากาศอันน่าเหลือเชื่อ เมื่อทีมฟุตบอลสงขลา เอฟซี ที่เขาร่วมปลุกปั้นขึ้นมา สามารถปลุกกระแสความนิยม จนสร้างปรากฏการณ์ “สงขลาฟีเวอร์” ที่คนล้นทะลักสนาม ในแมตช์ที่เจอกับ บุรีรัมย์ เอฟซี กลายเป็นสถิติผู้ชมสูงสุดตลอดกาลของฟุตบอลลีกอาชีพไทย

วันเวลาผ่านไป 1 ทศวรรษจากวันนั้น “ธัชนนท์” บอกกับเราว่า ความหลงใหลแพชชั่นต่อเกมลูกหนังของเขายังไม่เคยหายไป แม้เขาจะเลิกทำทีมฟุตบอลมาหลายปีแล้ว เพียงแต่เขาเอาหยิบจับนำเอาโครงสร้างโมเดลทีมลูกหนังอาชีพมาประยุกต์ใช้กับการทำค่ายมวยไทยของตัวเองนามว่า “ค่ายมวยสิงห์มาวิน”

หันหลังให้ฟุตบอล  

แฟนพันธ์ุแท้ คือรายการทีวีระดับตำนานที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชม ด้วยรูปแบบรายการที่เฟ้นเอา 5 สุดยอดผู้รู้ลึก รู้จริง และมีความสนใจเฉพาะด้านมาแข่งขัน เพื่อหาว่าใครคือ “แฟนพันธุ์แท้” ในเรื่องนั้น ๆ 

หากจะถามว่า ธัชนนท์ คชชาสุวรรณ ชื่นชอบฟุตบอลมากเพียงใด ? การได้เข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้ายรายการแฟนพันธุ์แท้ ตอน ยูโร ปี 2004 และตอน ฟุตบอลโลก ปี 2006 คงเป็นคำตอบอย่างดีได้ว่า เขาชอบเกมลูกหนังเข้าเส้นขนาดไหน ?

“ผมไปแข่งแฟนพันธ์ุแท้ฟุตบอลโลกในตอนนั้น ก็เพราะเห็นว่าของรางวัลเป็นตั๋วไปดูบอลโลก” ธัชนนท์ กล่าวถึงความหลังอย่างอารมณ์ดี

จากความชื่นชอบฟุตบอลอย่างลุ่มลึก วันหนึ่ง “ธัชนนท์” ก็ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับสโมสร สงขลา เอฟซี ในตำแหน่งผู้จัดการทีม 

นั่นเป็นช่วงเวลาที่ ธัชนนท์ ได้ทำความรู้จักกับฟุตบอลในมุมที่ลึกกว่าที่เขาเคยอ่านและศึกษาผ่านตัวหนังสือ เพราะเขาได้ลงมือทำด้วยตัวเอง และเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองผู้ขับเคลื่อนให้เกิดกระแส “สงขลาฟีเวอร์” 

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวทางความเห็นที่ไม่ตรงกันกับผู้บริหารท่านอื่น “ธัชนนท์” จึงโบกมือลาทีมสงขลา เอฟซี หลังจบฤดูกาล 2011 จากนั้นจึงย้ายไปทำงานเป็นผู้จัดการทีม สุพรรณบุรี เอฟซี ในปี 2012 ไปช่วยงานเบื้องหลังจนทีม “ช้างศึกยุทธหัตถี” ตีตั๋วเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ

เหตุผลที่ ธัชนนท์ ตัดสินใจหันหลังให้ฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจัง เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาเขาทุ่มเงิน อุทิศเวลา และแรงกายไปกับการทำทีมฟุตบอลมากสมควร จึงอยากกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม คือได้ดูแลกิจการธุรกิจ รวมไปถึงการมีเวลาว่างออกไปดูฟุตบอลที่ต่างประเทศแบบที่เคยเป็นมา

ตู้คอนเทนเนอร์

“มันเหมือนเรื่องบังเอิญมากกว่านะ” บอสใหญ่ค่ายมวยสิงห์มาวิน ย้อนถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาได้กลับคืนสู่วงการกีฬาเมื่อประมาณ 6 ปีก่อน 

“ตอนนั้นผมขับรถไปรับเพื่อนมาจากประเทศมาเลเซีย ระหว่างทางก็ผ่านสนามมวยลุมพินี แล้วผมก็สังเกตเห็นหน้าทางเข้ามีคนเยอะมาก เลยชวนเพื่อนแวะเข้าดู”

“วันนั้นมันเหมือนจุดประกายให้ผมอยากทำค่ายมวยไทยเป็นของตัวเอง เพราะทำค่ายมวย เราน่าจะหาเวลาได้ไม่ยาก สเกลมันเล็กกว่าทีมฟุตบอลที่เราต้องใช้เวลากับมันค่อนข้างเยอะ”

ด้วยพื้นฐานนิสัยที่ชอบกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ “ธัชนนท์” จึงตัดสินใจเปิดค่ายมวยเล็ก ๆ ขึ้นมาในชื่อค่ายมวยสิงห์มาวิน แม้ตัวเองจะไม่มีประสบการณ์การทำมวยมาก่อน เคยทำแต่ทีมฟุตบอล แต่เขาก็อยากลองดูสักตั้งกับมวยไทย 

ธัชนนท์ เริ่มต้นจากการเช่าพื้นที่ข้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียม ย่านลาดปลาเค้า กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เขาทำ โดยได้ยกเอาตู้คอนเทรนเนอร์มาดัดแปลงทำเป็นห้องนอนนักมวย ลองผิดลองถูก ค่อย ๆ เก็บเล็กผสมน้อย เรียนรู้ในทุก ๆ วัน เพราะเขาใหม่มากสำหรับการทำมวยไทย 

จากที่เคยเป็นแค่กิจกรรมยามว่าง ในการทำค่ายมวยเล็ก ๆ ผ่านไป 2-3 ปี “ธัชนนท์” ก็เริ่มชอบมวยไทยแบบถอนตัวไม่ขึ้น


เขาจึงตัดสินใจลุยเต็มสูบ ด้วยการลงทุนสร้างยิมมวยมาตรฐาน เป็นตึก 4 ชั้น บนเนื้อที่ 2 ไร่ครึ่ง ย่านซอยนวลจันทร์ 54 เพื่อให้นักมวยได้กินอยู่ หลับนอน ฝึกซ้อมที่นี่อย่างครบวงจร 

โดยแบ่งพื้นที่ชั้นล่างสุดใช้เป็นห้องประชุมทีมระหว่างเทรนเนอร์กับนักมวย วางแผนการเตรียมตัวฟิตซ้อม ก่อนที่นักมวยแต่ละคนจะออกไปขึ้นสังเวียนการแข่งขัน และด้านหลังเป็นห้องครัวสำหรับเตรียมอาหารให้ทีมงานและนักกีฬา


ชั้น 2 เป็นเวทีขนาดใหญ่ 2 เวที พร้อมอุปกรณ์ฟิตเนสที่จำเป็นกับนักมวย ส่วนชั้น 3 ชั้น 4 เป็นห้องนอนของนักมวยและทีมงานเทรนเนอร์

“ผมกำลังปลูกบ้านข้าง ๆ ค่ายมวยเลย เพื่อจะได้ใกล้ชิดและดูแลนักมวยได้ง่ายขึ้น ผมต้องสร้างให้ค่ายมวยสิงห์มาวินมีสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างที่ทันสมัยเหมือนกับทีมฟุตบอลอาชีพชั้นนำ” 

ทำมวยแบบทีมบอลอาชีพ 

ธัชนนท์ เล่าย้อนไปว่า ในช่วงแรกที่ทำค่ายมวยสิงห์มาวิน เขายังไม่ได้มีความรู้ด้านมวยไทยมากนัก จึงให้เทรนเนอร์วางระบบทุกอย่างให้ แต่ปรากฏว่าวิธีการบางอย่างของทีมสตาฟชุดเก่าล้าสมัยไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคปัจจุบัน

เขาจึงตัดสินใจรื้อระบบใหม่ โดยใช้หลักการทำทีมฟุตบอลที่เขาคุ้นเคยมาประยุกต์ใช้ ไล่มาตั้งแต่การเฟ้นหานักมวย ใช้วิธีการสเกาท์หานักมวยอายุน้อย โดยดูจากรูปร่างโครงสร้างหน่วยก้านและความสามารถที่ดูมีแววเอาไปปั้นต่อได้ เพื่อพามาดูแลและฝึกฝนต่อ

“เราไม่เน้นร่วมงานกับยอดมวยเงินแสนชื่อดัง แต่จะเอาเด็ก ๆ อายุน้อยที่เราไปสเกาท์ เอามาปั้นเป็นมวยดัง ค่าตัวเงินแสน เขากับเราจะได้โตไปพร้อมกัน”

“ผมจะเลือกเด็กในช่วงอายุ 15-17 ปี ที่มีสรีระรูปร่างสูงยาวไม่เสียเปรียบใคร เทียบจากเกณฑ์มาตรฐานชายไทยเลย เด็กอายุ 15 ปี ต่ำสุด 145-157 ซม. สูงสุด 177-185 ซม. เพราะเราไปนึกถึงผู้รักษาประตูของทีมฟุตบอล ยิ่งรูปร่างดียิ่งได้เปรียบ หรือดูจากรูปร่างของพ่อ-แม่ของเด็กคนนั้น ๆ”

“อย่าง ตะเภาแก้ว สิงห์มาวิน เราเอามาสร้างตั้งแต่เขาน้ำหนักไม่ถึง 100 ปอนด์ ตอนนี้กลายเป็นมวยค่าตัวเงินแสนไปแล้ว” ธัชนนท์ ยกตัวอย่างความสำเร็จของผลผลิตจากระบบอะคาเดมีที่เขาวางไว้

เมื่อได้ทรัพยากรดาวรุ่งอายุน้อยที่มีศักยภาพพอจะเอาไปปลุกปั้นต่อได้แล้ว ต่อมา “ธัชนนท์” ก็ตัดสินใจลงทุนจ้างเทรนเนอร์ชุดใหม่ ที่ล้วนแล้วแต่มีดีกรีเป็นถึงระดับแชมป์โลกและยอดมวยถ้วยพระราชทาน 

นำโดย นำศักดิ์น้อย ยุทธการกำธร อดีตยอดมวยถ้วยพระราชทาน ประจำปี พ.ศ. 2539, เก้าล้าน เก้าวิชิต อดีตยอดมวยถ้วยพระราชทาน ประจำปี พ.ศ. 2541 และ เด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม อดีตแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท สมาคมมวยโลก (WBA) 

“ค่ายเรามีจุดเด่นคือ ทำมวยมวยเข่าแข็งแรง แต่ 6 ปียังไม่เคยใช้หมัดต่อยใครนับหรือน็อกเลย เราจึงทาบทามจ้างเด่นเก้าแสนมาเสริมสร้างทักษะการใช้หมัดให้กับนักมวยทุกคนให้ค่าย” 

“อันที่จริงด้วยดีกรีระดับเด่นเก้าแสน เขาไปทำงานเมืองนอกได้สบาย ๆ  แต่เราก็ขอให้เขามาช่วยสร้างเด็ก ๆ ของเรา เพราะเราเชื่อมั่นในความสามารถของโค้ชทั้ง 3 ท่าน เขาต้องการอะไรก็ให้บอก เราพร้อมสนับสนุนเต็มที่”

นอกจากนี้ นายใหญ่แห่งค่ายสิงห์มาวินยังได้ว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาดูแลนักมวยในค่ายเพิ่มเติม โดยทำงานร่วมกันกับทั้งเทรนเนอร์และตัวนักมวย เพื่อพัฒนาศักยภาพนักชกในสังกัดให้ยกระดับไปได้ยิ่งกว่าเดิม

6 ปี สำหรับคนภายนอกอาจจะดูเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่สำหรับ “ธัชนนท์ คชชาสุวรรณ” เขามองว่ามันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นในการสร้างทีมกีฬาอาชีพให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ยังไม่รู้ว่านักชกดาวรุ่งทั้งหลายที่เขาดูแลจะผลิดอกออกผลวันใด แต่เขาก็เชื่อว่าสักวันหนึ่งต้นกล้าที่เขาเพาะปลูกด้วยความตั้งใจจะเบ่งบาน และออกไปเป็นนักมวยอาชีพที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทย และค่ายมวยสิงห์มาวิน 

“ผมหวังว่าวันหนึ่ง นักมวยที่ผมสร้างขึ้นมาตั้งแต่น้ำหนักไม่ถึง 100 ปอนด์ เอามาดูแลตั้งแต่อายุ 13-14 ปี จะสามารถไปโกอินเตอร์ ได้ออกไปชกในต่างประเทศ” 

“นักมวยผมจะแพ้ตอนเด็กก็ได้ แต่ผมอยากเห็นเขาเก่งตอนโต ผมไม่ต้องการให้เขาชนะตอนเด็กเพื่อไปแพ้ตอนโต”

Thai Boxing Sponsored
มวยไทย

มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและใจ สำหรับการต่อสู้ที่ใช้ร่างกายเป็นอาวุธ โดยเป็นที่รู้จักว่าเป็น "นวอาวุธ" ซึ่งประกอบด้วยการโจมตีจากร่างกายทั้ง หมัด, ศอก, เข่า และเท้า หากมีการเตรียมพร้อมด้านร่างกายดี จะก่อให้เกิดอาวุธที่มีอานุภาพ

This website uses cookies.