พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกไว้ว่า
“เมื่อพระเจ้ามังระโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ.๒๓๑๗ พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ ๑๗ มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่านักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก พระเจ้ามังระจึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่านายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ ถึงเก้าคนสิบคนก็สู้ไม่ได้ พระเจ้ามังระทอดพระเนตร ยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า
“คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่ถ้าหากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัวและโคตรตระกูลแล้ว ไฉนกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึกดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”
นายขนมต้มเกิดที่ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ่อแม่ถูกพม่าฆ่าตายหมด ต้องไปอยู่วัดตั้งแต่เด็ก ร่ำเรียนทางหมัดมวยจนเป็นนักมวยดังของกรุงศรีอยุธยา และถูกพม่ากวาดต้อนเป็นเชลยในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ หลังจากแสดงฝีมือต่อหน้ากษัตริย์พม่าแล้ว ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของนายขนมต้มอีก เข้าใจกันว่าคงจะอยู่ในพม่าจนสิ้นชีวิต
ตอนนี้ที่วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มีศาลาหลังหนึ่งมีชื่อว่า “ศาลาแม่ช่อมะขาม คนงามป่าโมก” บนศาลามีรูปปั้นของ “นายขนมต้ม” ยืนอยู่กับ “แม่ช่อมะขาม” มีเรื่องราวอธิบายไว้ว่า
นายขนมต้มมาเที่ยวเตร่เปรียบมวยถึงป่าโมก เมืองอ่างทอง และได้พบรักกับแม่ช่อมะขาม จนได้สู่ขอแต่งงานกัน ในคราวที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา นายขนมต้มกับแม่ช่อมะขามได้ร่วมกับผู้รักชาติต่อสู้กับข้าศึกปกป้องบ้านเมือง จนนายขนมต้มถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย และได้มีโอกาสฝากฝีมือมวยไทยไว้ต่อหน้าพระเจ้ามังระ หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของนายขนมต้มอีก หายสาบสูญไปเช่นเดียวกับแม่ช่อมะขาม
ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์นายขนมต้มอยู่หลายแห่ง เช่นที่สนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในศูนย์ศิลปาชีพบางไทร และวงการกีฬาได้ถือเอาวันที่ ๑๗ มีนาคมที่นายขนมต้ม เป็น “วันมวยไทย”
ระเบิดความมันของสุดย…
สนามมวยลุมพินี ประกา…
This website uses cookies.