วธ. เปิดงาน ‘แก่น LAND แคน’ โชว์ศิลปะพื้นบ้านภาคอีสาน-สร้างรายได้
เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่จ.ขอนแก่น นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานเปิดโครงการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมนานาชาติและการแสดงอัตลักษณ์วัฒนธรรมพื้นถิ่น ประจำปี 2565 ในชื่องาน “แก่น LAND แคน” ว่า วธ.ได้ปรับเปลี่ยนสถานะเป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดย ส่งเสริมให้ “วัฒนธรรมกินได้” อาทิ การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย หรือ CPOT การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์วัฒนธรรมและบริการ 5F ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ผ้าไทย การออกแบบแฟชั่น มวยไทย และงานเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลก
สอดคล้องกับนโยบายจังหวัดขอนแก่น ที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านสมาร์ท ซิตี้(Smart City) และไมซ์ซิตี้(MICE City) ช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว และช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนั้น วธ.จึงร่วมกับจังหวัดขอนแก่น บูรณาการกับภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชนและประชาชนจัดโครงการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมนานาชาติและการแสดงอัตลักษณ์วัฒนธรรมพื้นถิ่น ประจำปี 2565 ในชื่องาน “แก่น LAND แคน” ขึ้น ระหว่างวันที่ 6-17 เมษายน ณ บริเวณตลาดต้นตาลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา อาหาร ศิลปะการแสดง สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม มาเผยแพร่สู่สายตาประชาชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ ศิลปิน ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและประชาชน
ปลัดวธ. กล่าวว่า ภายในงานมีกิจกรรม ประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากศิลปินที่มีชื่อเสียง ศิลปินพื้นบ้าน และเครือข่ายเยาวชนทางวัฒนธรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ การสาธิตและออกร้านจำหน่ายสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม การเดินแบบแฟชั่นผ้าไทย ผ้าขอนแก่น การจัดจุดเช็คอินแก่นักท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และการถ่ายทอดสด ไลฟ์สด การแสดงและนำเสนอผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย เป็นต้น ขอขอบคุณทุกภาคส่วน จังหวัดขอนแก่น สถานกงสุลประเทศต่างๆ ที่ประจำ ณ จังหวัดขอนแก่น อาทิ จีน เวียดนาม ลาว ฝรั่งเศส และเปรู เครือข่ายสภาวัฒนธรรม ภาคเอกชน สมาคม องค์กร เยาวชนและประชาชน ที่ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม นำเสนอความเป็นไทยผ่าน Soft Power ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นสื่อความสัมพันธ์กับมิตรประเทศทั่วโลกได้อย่างแท้จริง