“รมว.แรงงาน” ชื่นชมสามแม่ลูกสู้ชีวิตเปิดค่ายสอนมวยไทยในต่างแดน เผยสามารถสร้างรายได้ดีทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้พบกับคนไทยในสมาพันธรัฐสวิสที่ทำงานเปิดค่ายสอนมวยไทย จนมีรายได้ส่งลูกสาวเรียนจบหมอและเภสัชกร จึงเห็นว่าอาชีพนี้น่าสนใจมาก หากแรงงานไทยต้องการไปทำงานต่างประเทศและมีความสนใจในด้านมวยไทย ซึ่งเป็นทั้งกีฬาและศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยเราด้วย อีกทั้งต่างชาติให้ความสนใจฝึกการต่อสู้ด้วยศิลปะมวยไทย ในเรื่องนี้ได้มอบให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ผู้ฝึกสอนมวยไทยด้วยแล้ว เพื่อพัฒนามวยไทยให้เป็น soft power สู่เวทีโลก สามารถสร้างรายได้ให้กับคนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป ซึ่งจะทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในอาชีพเดียวกันได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการกำหนดสมรรถนะของผู้ฝึกสอนมวยไทยในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม 2565 นี้โดยการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาตินั้น จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านมวยไทย และผู้เกี่ยวข้อง มีหลายขั้นตอน ต้องกำหนดรายละเอียดอย่างรอบคอบ คนที่จะมาทำหน้าที่นี้ต้องมีฝีมือได้มาตรฐานจริงๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จะกำหนดแบบทดสอบและนำแบบทดสอบนี้ไปทดลองใช้ก่อน เมื่อสมบูรณ์แล้วทุกอย่างจึงจะประกาศใช้ได้ ดังนั้น ผู้ที่สนใจด้านมวยไทยขอให้ไปฝึกซ้อมเตรียมความพร้อม เมื่อต้องเข้ารับการทดสอบจะได้สอบผ่านในครั้งเดียว ถ้าต้องการไปทำงานในต่างประเทศจะได้มีใบรับรองความสามารถในอาชีพนี้
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ฝึกสอนมวยไทย จะได้รับใบการันตีความสามารถที่ใช้เป็นหลักฐานในการขออนุญาตเปิดสถานฝึกสอนมวยไทยในต่างประเทศต่อไปได้ ส่วนผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยภายในประเทศ จะได้รับการยอมรับจากสมาคมมวยไทยอีกด้วย เพราะการกำหนดมาตรฐาน ผู้ฝึกสอนมวยไทยที่จัดทำขึ้น มีตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ นายสมพร ใช้บางยาง ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำทีมพร้อมด้วยนายทวี อัมพรมหา หรือขาวผ่อง สิทธิชูชัย อดีตนักชกเหรียญเงินโอลิมปิกคนแรกของไทย นายชาลี กุลธารี หรือพฤหัสเล็ก ศิษย์ชุนทอง ดร.ยงศักดิ์ ณ สงขลา และผู้เกี่ยวข้อง หารือร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดแนวทางการจัดทำมาตรฐานผู้ฝึกสอนมวยไทย เพื่อช่วยเหลือครูมวยไทยในต่างแดน ให้ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพ และพัฒนาอาชีพครูมวยไทยให้ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะจัดทำแล้วเสร็จ
เมรี คำสม อายุ 55 ปี เจ้าของค่ายมวย “เชียงใหม่ค่ายมวย” เปิดค่ายมวยที่เจนีวา (สวิสฯ) เล่าว่า เดิมเป็นคนเชียงใหม่พ่อมีค่ายมวย จึงได้รับการถ่ายทอดศิลปะมวยไทยมาบ้าง จากนั้นไปแต่งงานกับชาวสวิตเซอร์แลนด์ จึงนำศิลปะมวยไทยที่ได้รับตกทอดมาต่อยอดโดยการเปิดสอนมวย ซึ่งสอนมาแล้วกว่า 20 ปี เริ่มสอนตั้งแต่ที่นี่ไม่รู้จักค่ายมวย จนตอนนี้กลายเป็นค่ายมวยที่มีจำนวนนักเรียนมากที่สุด ปีละ 300 กว่าคน การสอนเป็นรูปแบบการจัดตารางเรียน โดยเฉลี่ยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เปิดสอนเป็นคอร์ส 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปี ตามความต้องการของผู้เรียน โดยคิดค่าเรียนปีละ 980 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 35,000 บาท) ส่วนคนที่มาเรียนระยะสั้นแล้วสนใจจริงๆ ก็พร้อมสอนให้ เดือนละ 150 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 5,000 บาท) นักเรียนที่มาเรียนส่วนใหญ่จะชื่นชอบศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย ชอบเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของความเป็นไทย ซึ่งใครที่มีแววค่ายมวยก็จะสนับสนุนให้ขึ้นชกในรายการต่างๆ ตามความเหมาะสมอีกด้วย
“ภูมิใจที่ได้รับการถ่ายทอดศิลปะมวยไทยจากพ่อ ทำให้มีชีวิตที่ดี มีรายได้เพียงพอส่งลูกสาวทั้ง 2 คนเรียนหนังสือในต่างประเทศได้ ปัจจุบันมีลูกสาว 2 คน คนเเรกเรียนจบเภสัช ตอนนี้เป็นเภสัชกร ส่วนอีกคนเรียนแพทย์ กำลังเรียนปีสุดท้ายแล้ว” เมรี กล่าว
ระเบิดความมันของสุดย…
สนามมวยลุมพินี ประกา…
This website uses cookies.