Thai Boxing Sponsored
Categories: มวยไทย

เจาะใจกำปั้นสาวประวัติศาสตร์!! “อัยด้า” สับขา-แลกหมัด คว้าชัยสังเวียนชาย

Thai Boxing Sponsored
Thai Boxing Sponsored


เธอคือนักมวยหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของเวทีมวยราชดำเนิน ในรอบ 77 ปี ที่แลกหมัดคว้าชัยชนะบนสังเวียนชาย ท่ามกลางการสบประมาท เปรียบเทียบนักมวยหญิง VS นักมวยชาย ไม่เท่าเทียมกัน บนเส้นทางกำปั้นในสังคมไทยปัจจุบัน


กำปั้นสาวคนแรก คว้าชัยบนเวทีราชดำเนิน!!


“ครั้งแรกที่ขึ้นเวทีรู้สึกตื่นเต้นค่ะ และดีใจมากๆ เหมือนเป็นความภาคภูมิใจของเราอย่างหนึ่งที่ได้เป็นมวยหญิงคู่แรกที่ได้ชกบนเวทีแห่งนั้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราเป็นคู่แรก มันทำให้เรารู้สึกว่ามันถึงตาเราแล้วนะ ดีใจมากๆ และตื้นตันค่ะ”


“อัยด้า ลูกทรายกองดิน” หรือ กุลณัฐ ยูฮันเงาะ นักมวยหญิง วัย 19 ปี เจ้าของฉายา “สวยสังหาร” เปิดใจกับทีมผู้สัมภาษณ์ MGR Live ถึงวินาทีสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการมวยไทย

หลังจารึกชื่อว่าเป็นกำปั้นสาวคนแรกที่สามารถคว้าชัยบนเวทีราชดำเนินในรอบ 77 ปีที่ถือเป็นพื้นที่ของผู้ชายโดยเฉพาะเท่านั้น ในรายการ “RWS Rajadamnern World Series” (ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์)


“รู้สึกว่ามันเหมือนเกินคาดที่เราหวังไว้ เพราะว่าที่หนูหวังไว้คือทำให้เต็มที่ในแต่ละไฟต์ ผลจะเป็นยังไงไม่ว่ากัน ก็ให้ออกมาให้เต็มที่ แต่เราได้ทั้งชนะ และอัดฉีด 1 แสนบาท ซึ่งหนูดีใจมาก มันเกินคาดที่เราหวังไว้ ดีใจมากๆ

เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ชกในรายการมวยราชดำเนินเวิลด์ซีรีส์ (RWS Rajadamnern World series) ซึ่งเป็นประวัติการณ์ 77 ปีที่ไม่เคยมีมวยหญิงเลย และนี่เป็นมวยหญิงคู่แรกด้วยค่ะ

เหตุผลที่หนูมองว่าเขาดึงหนูไปเพราะด้วยความที่หนูชกมวยมานาน แล้วมีประสบการณ์มามากกว่า เห็นฝีไม้ลายมือ เขาเลยอยากให้เราได้ไปโชว์ในรายการราชดำเนินมวยซีรีส์ ให้เรามีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น”

แน่นอนว่าหญิงรูปร่างดี พร้อมรอยยิ้มสดใส สวมเสื้อลายสีสัน เตรียมพร้อมเพื่อซ้อมสำหรับการแข่งขันไฟต์ถัดไปที่นั่งอยู่ตรงหน้าผู้สัมภาษณ์คนนี้ กลายเป็นที่สนใจทันทีเมื่อได้ขึ้นชกบนสังเวียนแห่งนี้

ทว่า ก่อนที่นักมวยหญิงจะขึ้นชกไฟต์แรกในประวัติศาสตร์ที่เวทีราชดำเนินแห่งนี้ ใครจะรู้ล่ะเธอต้องฟันฝ่าความกดดัน การฝึกหนักที่ต้องหลั่งน้ำตา และคำสบประมาทที่ “นักมวยหญิง” อ่อนแอ ไม่ถูกยอมรับในวงการมวยไทย

“ถามว่ามีคำตอบไหม หนูก็คิดไม่ออกเหมือนกัน แต่มองว่าสมัยนี้โลกมันเปลี่ยนไปมากค่ะ ทั้งวงการมวยและอะไรหลายๆ อย่าง

หนูมองว่ามันไม่เท่าเทียมกัน มวยหญิงส่วนมากจะได้ชกบนเวทีทั่วไป ไม่เคยขึ้นมาตรฐานอย่างราชดำเนิน, ลุมพินี ซึ่งตอนนี้เวทีราชดำเนิน, ลุมพินี เปิดให้มวยหญิงได้ชกทั้ง 2 เวทีแล้ว เป็นการเปิดให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าไปมากขึ้น และได้เข้าไปสร้างฝันให้ตัวเองได้ถึงระดับโลกได้เลย

อยากให้สังคมมองว่าผู้หญิงก็มีสปิริตในการต่อสู้ มีหัวใจที่เด็ดเดี่ยว และมีความแข็งแกร่งไม่แพ้กันกับผู้ชาย
ก็ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนค่ะ ด้วยหลายเรื่องเลยที่ทำให้หนูมีความคิดเปลี่ยนในการชกเวทีนี้ เพราะเมื่อก่อนหนูชกมวยเหมือนชกไปงั้นๆ ไม่ได้หวังผล มีความมุ่งมั่นตั้งใจมากกว่าไฟต์ที่ผ่านมา”


เรียกได้ว่าการฝึกซ้อมเพื่อขึ้นไปสู่บนสังเวียนประวัติศาสตร์แห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการฝึกฝน เต็มไปด้วยคราบน้ำตา บทพิสูจน์ และการมีวินัย ดูแลตัวเองเป็นพิเศษ

“เวลาช่วงซ้อม เป็นบางวันที่รู้สึกว่าวันนี้ทำไมเราซ้อมแย่จัง ก็เหมือนท้อกับตัวเอง พูดกับตัวเอง ร้องไห้กับตัวเองว่า ท้อ ซ้อมเหนื่อยจัง

มันก็บ้างค่ะ แต่ด้วยความที่เป็นรายการที่เรารู้สึกว่าเราอยากตั้งใจมากกว่านี้ เราก็เลยอดทนกับความเหนื่อย และสู้กับมัน เพื่อที่จะได้ชกในไฟต์นี้

กิจวัตรตั้งแต่เช้ามา คือจะวิ่ง 10 กม. กลับมาเล่นเวต เล่นซิตอัพ เสร็จปุ๊บจะเป็นช่วงเวลาพักผ่อนยันประมาณบ่าย 2-บ่าย 3 ก็ตื่นมาเตรียมตัวที่จะเข้าค่ายซ้อมเย็นอีกทีหนึ่ง

ส่วนตอนเย็นก็จะวิ่งรอบคลองเพราะว่าค่ายมวยอยู่ริมคลอง และกลับมาวอร์ม กระโดดเชือก เตะกระสอบ เตะเป้า 4-5 ยก เตะกระสอบ 3-5 ยก และปล้ำ ชวนเชิง ลงนวม และในสเต็ปอีกหลายๆ อย่าง”


มวยไทยไม่แพ้ชาติใด!!

“ต่อยกับคนต่างชาติหนูรู้สึกว่าง่ายกว่าคนไทย เพราะคนต่างชาติเขามีความแข็งแรงก็จริง แต่ด้วยอาวุธ ชั้นเชิงอาจจะยังไม่ถึงกัน

ซึ่งทำให้เราผ่านไปได้ง่าย แต่ถ้าเป็นคนไทย จะมีอาวุธที่ทันกัน มีไอคิว มีการมองออกว่าจะออกอาวุธอะไร คนต่างชาติไอคิวจะไม่เท่าคนไทย แต่เป็นแค่บางคน ส่วนมากจะแข็งแรง เหมือนมีแต่ความแข็งแรง แต่อ่านเกมไม่ออก คนต่างชาติเก่งๆ ก็มี แต่ชกมานานแล้ว แล้วแต่เราจะเจอแบบไหน”


ครอบครัวสายกำปั้น สังเวียนเด็กสู้!!


ภายในอาคารไม้ขนาบอยู่บริเวณริมน้ำห่างไกลจากความเจริญของค่ายมวยลูกทรายกองดิน ที่ใช้เป็นที่พักพิง ฝึกซ้อม อัดแน่นไปด้วยครอบครัวพี่น้องสายเลือดรวมสิบกว่าชีวิต โดยเธอเป็นลูกคนที่ 13 จากทั้งหมด 16 คน

“ลูกทรายกองดิน” ถือเป็นค่ายมวยแห่งเดียวในโลกที่พี่น้องสายเลือดเดียวกัน 16 ชีวิตตัดสินใจเดินบนเส้นทางหมัดมวยทั้งชายและหญิง ใช้กีฬาเปลี่ยนโชคชะตาของครอบครัว เพื่อหลีกหนีจากยาเสพติด ให้มีชีวิตที่ดี และแข็งแกร่ง


“ที่จำได้ คือที่ค่ายไม่ได้เป็นแบบนี้เลยค่ะ ตอนเด็กๆ เป็นค่ายเล็กๆ ผูกแค่เชือก 4 มุม มีพรมปู เป็นค่ายมีนิดๆ หน่อยๆ ก็เห็นพี่ๆ เล่น ลงนวม ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองได้มาเป็นจุดนั้นบ้านหนูค่อนข้างที่จะลำบากมาก่อน ค่อนข้างที่จะยากจน พ่อก็เลยหันลูกให้มาเล่นกีฬา ซึ่งไม่คิดเลยว่าการเล่นกีฬาทำให้เรามีการต่อยอดไปได้อีกถึงระดับโลกเลย

ตอนนั้นหนูคิดว่าอยู่ประมาณอนุบาล 2-3 เด็กมากเลย เพราะว่าเติบโตมากับพี่น้องที่เป็นนักมวยกันหมดเลย เวลาเรารู้สึกแย่หรือไม่ดี ก็มีแต่พี่น้อง พ่อกับแม่ที่เป็นกำลังใจ

ครอบครัวพี่น้องมีผู้หญิงเป็นนักมวยหมดทุกคน มีผู้หญิง 9 คน ผู้ชาย 7 คน เป็นนักมวยหมดทุกคน ครอบครัวหนูจะไม่เหมือนที่บ้านอื่น บ้านหนูจะอยู่เป็นระบบ บ้านอื่นเวลาตื่นเช้ามา คือมีหน้าที่แยกกันไป

ส่วนบ้านหนูมีผู้หญิงเยอะ จะทำหลายอย่าง คนนี้ล้างจาน คนนี้ถูบ้าน คนนี้เช็ดบ้าน คนนี้ซักผ้า แยกกันไปคนละหน้าที่ในการทำงานบ้านแต่ละวัน

พอตกเย็นมาก็จะเป็นช่วงเวลาที่อยู่กับครอบครัว คือหนูเป็นมุสลิม ก็จะมีละหมาดด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา พอเสร็จปุ๊บก็รับประทานข้าวด้วยกัน ก็เหมือนชุมนุมหรือนั่งเล่นด้วยกันเป็นครอบครัว เสร็จแล้วก็เป็นเวลาพักผ่อน คือจะอยู่แบบนี้วนลูปไปเรื่อยๆ”


ก่อนจะเป็น “อัยด้า ลูกทรายกองดิน” ที่มีสไตล์การชกตั้งรับ เริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เธอคนนี้ได้เข้ามาสนใจมวยแบบจริงจัง นอกจากอยู่ท่ามกลางการเติบโตมาในครอบครัวมวยแล้วนั้น คือการได้ขึ้นสังเวียนภูธร

“สไตล์ที่หนูชกเดิม คือฝีมือตั้งรับค่ะ ถามว่าบู๊ไหม ก็เป็นบางช่วงที่เรามีจังหวะ บู๊ไปตามจังหวะ ดูตามว่าเราออกอาวุธได้ไหมในครั้งนี้

มีเป็นบางไฟต์ บางทีโดนแล้วเจ็บ เราแหยง เราเหมือนไม่กล้าออกอาวุธ จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชอบมวยเป็นช่วงได้ชกหลายๆ ไฟต์ติดต่อกัน อย่างไปชกต่างจังหวัด ในภูธร เรารู้สึกว่าหนูชอบบรรยากาศ แสง สี เสียง ชอบเวลาหนูชก แล้วมีคนดูเยอะๆ

รู้สึกว่าอยากชก อยากโชว์ฝีไม้ลายมือว่าตัวเองต่อยดีแค่ไหน ก็เลยรู้สึกว่าอยากต่อยเรื่อยๆ เผื่อวันหนึ่งชกดีขึ้นมาแล้วคนอยากติดตามเรา มันต่อยอดได้”


แม้วันนี้อัยด้าจะมีท่าทีที่ดุดัน แข็งแกร่ง แต่ช่วงวัยเด็กเธอเคยมีจุดที่ไม่กล้าสู้ หวั่นไหวต่อฝีมือของตัวเองเหมือนกัน

ผู้เป็นพ่อถือเป็นอีกหนึ่งคนที่ใช้กีฬาเปลี่ยนโชคชะตาของครอบครัว ตัดสินใจฝึกสอนศิลปะแม่ไม้มวยไทย พร้อมทั้งคำสอน ปลุกใจ ให้ลูกไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

“คือหนูฝึกมวยตั้งแต่อายุ 7 ขวบค่ะ ซึ่งตั้งแต่เด็กๆ ตอนอยู่อนุบาลพ่อเปิดค่ายมวย พี่ก็เล่นมวยกันมา ตอนนั้นหนูก็ไม่ได้ฝึกอะไรมาก แต่เห็นพี่เล่นๆ ก็เลยลองไปฝึกดู แล้วได้ขึ้นชกจริง

คุณพ่อลองหารายการให้ พอชกจริงรู้สึกว่า… อยากไปต่อ เพราะตอนนั้นเด็กๆ ไม่ได้คิดอะไร คิดแค่ว่าสนุกดี พอมาเรื่อยๆ เหมือนเราได้คลุกคลีกับวงการมวย ทำให้เรามาอยู่กับวงการมวย


ครอบครัวไม่ได้บังคับเลยค่ะ คุณพ่ออยากให้ลูกเล่นกีฬามากกว่า เพราะว่าสมัยก่อน ด้วยสภาพแวดล้อมของค่ายมวย มันมีทั้งยาเสพติด คุณพ่อเลยอยากให้ลูกๆ เล่นกีฬา เพื่อที่เลี่ยงยาเสพติด ลูกก็เลยหันมาเล่นกีฬาทุกคนเลย

สมัยก่อนหนูเป็นนักมวยคนหนึ่งที่ชกเยอะ แต่ก็แพ้เยอะเหมือนกัน คือไม่ค่อยชนะเหมือนพี่ๆ น้องๆ ที่ค่ายมวยแล้วชนะกันทุกคน หนูเป็นคนที่แพ้บ่อยมาก ในตอนเด็กๆ พ่อก็เลยสร้างคำพูดจูงใจ ทำให้เรามีแรงสู้ ‘ถ้าเราไม่สู้ เราก็เจ็บตัวนะ แถมไม่ชนะอีก ถ้าเราไม่คิดจะเปลี่ยนตัวเอง ไม่คิดจะพัฒนาตัวเอง เราต้องไต่เต้าไป’พ่อบอกว่า ถ้ามึงไม่สู้ มึงก็ไม่ชนะหรอก …ฮึกเหิมเลย เราเหมือนฉุกคิด ว่าก็จริง ถ้าเราไม่สู้ เราคงไม่ได้รับผลลัพธ์ที่ดีตอบกลับมา”


ล้มคำวิจารณ์ “ปราบเซียนมวย เพราะมีฝีมือ!!”


ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของอัยด้าที่ปรากฏให้ผู้สัมภาษณ์เห็นเสมอๆ เบื้องหลังคือความจริงอันหนักอึ้งที่เธอต้องแบกรับเอาไว้

แม้จะเจอบททดสอบของชีวิตมาอย่างหนักหน่วงในระหว่างทางบนสังเวียน แน่นอนว่าระหว่างทางกว่าจะมาถึงตรงนี้ กำลังใจและแรงสนับสนุนจากครอบครัวคือสิ่งที่สำคัญและทำให้เธอพร้อมยิ้มรับทุกอุปสรรคเสมอ

“มีทั้งข้อดี ข้อเสียค่ะ บางทีคนติชมก็มี คนด่าหนูก็เยอะ เพราะเวลาชกแต่ละไฟต์ ถามว่าคนดูไหม คนดู คนที่ชมก็ชมว่าชกดีนะ ทรงมวยเหมือนผู้ชาย รู้สึกว่าทำให้เรามีกำลังใจ แต่เป็นบางคอมเมนต์ที่ด่าบ้าง

ชกแบบนี้ถอยอย่างเดียวก็แพ้ ต่อยแพ้ตลอด เพราะว่าหนูเป็นทรงมวยที่ถอยเยอะ และตั้งรับ คนก็ด่าเยอะเราก็เก็บคำสบประมาทไว้เป็นแรงผลักดันเรา ให้เรามีชีวิตสู้ต่อ คำที่เขาด่ามาหนูก็ไม่ซีเรียส หนูก็เอามาปรับปรุงตัวเอง มันเป็นแบบนี้จริงๆ หนูก็เอามาพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ”


ขณะเดียวกัน เมื่อถามถึงคำครหาที่มองว่า อยู่วงการมวยนี้ได้เพราะบารมีผู้เป็นพ่อ และระบบอิทธิพลเส้นสายที่ส่งให้เธอก้าวสู่สังเวียนมานับไม่ถ้วน ซึ่งหลังบรรทัดจากนี้คือคำตอบบวกๆ ของเธอ ที่มักเปิดเผยให้เห็นเสมอ

“หนูคิดว่าเขาอาจจะมองได้หลายมุม เพราะว่าในส่วนตัวหนูมีประสบการณ์ในการชก ซึ่งหนูก็ชกมานานแล้วพอสมควร ตั้งแต่เด็กซึ่งไม่แปลกเลย

ตั้งแต่ 7 ขวบ จนถึงปัจจุบันนี้ 13 ปี ซึ่งไม่น่าจะแปลกที่ราชดำเนินอยากจะได้มวยหญิงที่มีประสบการณ์มาเยอะๆ มาโชว์ฝีไม้ลายมือบนเวทีค่ะ

หนูคิดว่ามันแล้วแต่มุมมองของคน เพราะถ้าคนที่เขาอาจจะไม่เข้าตาเรา เขาอาจจะมองว่าเส้นรึเปล่าได้เข้าไปตรงนี้ มันก็แล้วแต่ความคิดคนค่ะ

ถ้ามีคนมองแบบนั้น หนูก็แอบเฟลนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่สนใจอะไร เหมือนกับว่าเราได้มาถึงขั้นนี้แล้ว เราไม่มีอะไรต้องสนแล้ว เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด”


การชกมวยโดยเฉพาะมวยไทยอาจเป็นกีฬาที่ใครหลายต่อหลายคนคิดว่าเป็นกีฬาที่อันตราย จะต้องเจ็บตัวอยู่บ่อยครั้ง และอาจไม่ได้สำคัญเท่าไหร่นัก แต่นั่นไม่ใช่ในความคิดของอัยด้า ที่ปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เธออาจไม่เคยเจอมาก่อน

สำหรับกำปั้นสาวที่ได้ชนะบนสังเวียนราชดำเนินคนแรก ไม่ว่าจะเป็นบนสังเวียนมวยหรือสังเวียนชีวิต เธอก็ยังคงต้องต่อสู้ และไม่คิดแขวนนวม ทั้งหมดนี้ก็เพียงเพื่อสานต่อความหวัง ความฝัน ในอาชีพ “มวย” ได้เชื่อว่ายังมีอนาคตที่สดใส และมีพื้นที่แห่งนี้อยู่

“หนูก็อยากชกมวย มีชื่อเสียง สร้างชื่อให้กับค่ายมวย และสร้างชื่อให้กับมวยไทยในระดับโลก หรือระดับไหนก็ได้ ที่ทำให้หนูรู้สึกว่ามันดีมากๆ

อยากให้ความสำคัญต่อมวยไทยมากกว่านี้ ให้สืบทอดไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมไทย ศิลปะการต่อสู้ ซึ่งอยากให้คนไทยอนุรักษ์ไว้ในรุ่นลูกสู่รุ่นหลาน และไปเรื่อยๆ

เพราะเสน่ห์ของมวยไทย คือเป็นศิลปะการต่อสู้ และเป็นวัฒนธรรมของไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงยุคนี้ ก็อยากให้คนอนุรักษ์ไว้

เป็นศิลปะการต่อสู้ และสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่นเวลาเราเดินทางไปไหนคนเดียว เราสามารถปกป้องตัวเองได้ เวลาเราไปข้างนอก หรือไปไหน ทำอะไร”

อาชีพมวย…ที่ไม่มีวันเกษียณ

“อาชีพมวยไม่มีเกษียณค่ะ ต่อยได้ตลอด แต่หนูคิดว่าสำหรับผู้หญิง ถ้าจุดที่มีครอบครัวแล้ว หรือมีลูกแล้ว หนูคิดว่าหนูคงไม่ได้ชกแล้ว ถ้ามีครอบครัวหรือมีลูก เพราะว่าสภาพผู้หญิงจะไม่เหมือนผู้ชาย

ถ้าสมมติมีลูกแล้ว อัยด้าว่าข้างในจะไม่เฟิร์ม แล้วเวลาโดนอาวุธแล้วมันอันตรายต่อตัวเอง ในความคิดของหนู มวยหญิง และชายคนละแบบ นักมวยชายดุดันก็จริง แต่นักมวยหญิงดุดันไม่แพ้กัน แต่แค่ทุกคนมองว่ามันเป็นเพศหญิง มันเลยโดนมองว่าเป็นเพศหญิงช้า เอื่อย กว่าจะออกอาวุธ

ผู้หญิงในเรื่องความรู้ ความอดทนของผู้หญิงจะมีอุปสรรคมากกว่าผู้ชายในเวลาซ้อม และมีข้อเสียเยอะมากในการซ้อม แต่ผู้หญิงมีความอดทนได้มากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีทั้งประจำเดือน

การเป็นประจำเดือน สำหรับบางค่ายถ้าเป็นประจำเดือนก็จะถอนเลย แต่สำหรับหนูเป็นก็ต่อยต่อได้ เรามาถึงจุดนี้แล้วก็ต้องไปต่อค่ะ”

บาดแผลที่แลกกับความสวยงาม!!

นักมวยวัย 19 ปี เริ่มเข้าสู่วงการนักมวยตั้งแต่วัย 7 ขวบ แทนที่จะเที่ยวเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันอย่างเด็กๆ ทั่วไป แรกเริ่มอัยด้ายอมรับการเป็นนักมวยหญิงว่ายากอยู่พอสมควร

“ถามว่ากลัวไหม มันก็มีเล็กน้อยค่ะ เราเป็นผู้หญิงเราก็มีความรักสวยรักงาม แต่การป้องกันของหนู ต้องเซฟตัวเองเวลาชก ป้องกันตัวเองให้ดี

เพราะเคยแตกที่หน้าผาก เย็บ 14 เข็ม เกิดจากโดนศอก ตอนนั้นตกใจมาก มันเป็นครั้งแรกที่หนูโดน มีเลือดออกเยอะมาก”


สัมภาษณ์โดย MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณสถานที่ : ค่ายมวยลูกทรายกองดิน

Thai Boxing Sponsored
มวยไทย

มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและใจ สำหรับการต่อสู้ที่ใช้ร่างกายเป็นอาวุธ โดยเป็นที่รู้จักว่าเป็น "นวอาวุธ" ซึ่งประกอบด้วยการโจมตีจากร่างกายทั้ง หมัด, ศอก, เข่า และเท้า หากมีการเตรียมพร้อมด้านร่างกายดี จะก่อให้เกิดอาวุธที่มีอานุภาพ

This website uses cookies.