01 ต.ค. 2565 | 03:41:40
(30 ก.ย.65) ณ ศูนย์การเรียนรู้มวยไทย (เรือนเขียวสะอาด) โรงเรียนวัดธาตุทอง เขตวัฒนา : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว “เทศกาลกีฬากรุงเทพฯ” เทศกาลกีฬาของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 ซึ่งจะจัดขึ้นตลอดเดือนตุลาคมนี้ เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย อีกทั้งปลูกฝังให้ประชาชนได้แสดงความรัก ความภาคภูมิใจในภูมิปัญญามรดกไทย ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่คู่คนไทย และประเทศไทยตราบนานเท่านาน
“กรุงเทพมหานครจะจัดเทศกาลเป็นประจำทุกเดือน หมุนเวียนกันไปตลอด 12 เดือน ซึ่งเป็นการนำสิ่งดีๆที่เรามีอยู่แล้วนำมาจัดเป็นกิจกรรม โดยเชื่อมโยงระหว่างกีฬา วัฒนธรรมและสุขภาพ และจะจัดเป็นประจำแบบนี้ทุกปีเพื่อเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชน ให้มาใช้พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ที่มีสถานที่ดีๆอยู่หลายจุด ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมมือกันและขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกิจกรรมเทศกาลกีฬากรุงเทพฯ ในครั้งนี้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเชิญชวน
ด้านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้ดึงกีฬาไทยในอดีตกลับมาจัดเทศกาลกัน ซึ่งมีจุดประสงค์เป็นการนำกีฬาให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่และคนทุกคน โดยชูอัตลักษณ์ความเป็นไทยขึ้นมา ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนต่างๆ โดยใช้เอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่าน “กีฬาไทย” ให้กลับมาอีกครั้ง เช่น การเล่นตระกร้อ การเล่นว่าวที่สนามหลวง การเล่นหมากฮอส หมากรุก มวยไทย วิ่งเปี้ยว ชักเย่อ วิ่ง Bangkok Virtual Run เป็นต้น ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดและการร่วมกิจกรรมได้ทางช่องทางสื่อสารของกรุงเทพมหานคร และเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กรุงเทพมหานคร”
การแถลงข่าวการจัด “เทศกาลกีฬากรุงเทพ” ประจำปี 2565 ในวันนี้ มี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการแถลงข่าว ร่วมด้วยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสามารถ มะลูลีม นายกสมาคมมวยไทยนานาชาติ ดร.ปริยากร รัตนสุบรรณ นายกสมาคมกีฬา กีฬาไทยแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครร่วมกับภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดเทศกาลกีฬากรุงเทพฯ ประจำปี 2565 โดยจะมีกิจกรรมตลอดเดือนตุลาคม ประกอบด้วย สัปดาห์ที่ 1 กิจกรรม “Bangkok Virtual Run” ระหว่างวันที่ 1-30 ต.ค.65 เป็นการวิ่งสะสมกิโลเมตรให้ครบ 100 กิโลฯ ภายในเดือนตุลาคม บนแอปพลิเคชัน Thairun เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับเทศกาล ได้ออกกำลังกาย และได้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ชาเลนจ์จะเริ่มในเวลา 00.00 น.ของวันที่ 1 ต.ค.65 และจะสิ้นสุดในเวลา 23.59 น. ของวันที่ 30 ต.ค.65 ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมสามารถวิ่งที่ไหน เวลาใดก็ได้ โดย Bangkok Virtual Run แบ่งการแจกเหรียญรางวัล ดังนี้ 50 คนแรก ประเภทวิ่งจบไวที่สุด 50 คนแรก ประเภทวิ่งมีวินัย วิ่งครบทุกวัน 50 คนแรก ประเภทวิ่งออนทัวร์ วิ่ง 6 สวนทั่ว กทม. และ50 คนแรก วิ่งแชร์ภาพ popular vote
ทั้งนี้ ทาง กทม. มีเส้นทางวิ่งในเมืองเก่า 2 เส้นทาง เป็นเส้นทางแนะนำให้ออกมาวิ่งกันในวันหยุด โดยกลุ่มนักวิ่ง City Run ช่วยสำรวจร่วมกับผู้ว่าฯ คือ “เส้นทางวิ่งไหว้พระ 9 วัด” และเส้นทาง “วิ่งเลาะกรุงเก่า” ซึ่งมีการปรับปรุงเส้นทางตามนโยบาย BKK Trail ประชาชนสามารถไปวิ่งตามเส้นทางดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดงานที่สวนรถไฟ เขตจตุจักร ในวันที่ 22 ต.ค.65 เพื่อเป็น ‘จุดแวะพัก’ ของ ‘เหล่านักวิ่ง Virtual Run’ โดยชวนคนมาวิ่ง มาฟังเพลง ดูหนัง ในบรรยากาศสบาย ๆ อีกด้วย
สัปดาห์ที่ 2 กิจกรรม “ว่าวไทย ในกรุงฯ” ระหว่างวันที่ 8-9 ต.ค.65 ณ ท้องสนามหลวง พบกับกิจกรรม เปิดเทศกาลกีฬากรุงเทพฯ ประจำปี 2565 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมงานรับชมการแสดง ฟังดนตรี และพบกับศิลปินรับเชิญภายในงาน การประกวดว่าวไทยสวยงาม 50 เขต โดยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ ส่งเข้าร่วมการประกวด พร้อมชิงถ้วยและเงินรางวัล ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “ว่าวไทย สตอรี่” เล่าเรื่องราวของว่าวไทย ผ่านการจัดแสดงว่าวไทยประเภทต่าง ๆ ผู้เข้าร่วมงานสามารถร่วมกิจกรรม Workshop การทำว่าวไทยตลอดงาน “ลานเล่นว่าวกรุงเทพฯ” การเปิดพื้นที่ท้องสนามหลวงบางส่วนให้ประชาชนได้เข้ามาเล่นว่าวในท้องสนามหลวงอย่างเช่นในอดีต การแข่งขันชักกะเย่อคู่แห่งศักดิ์ศรี ระหว่าง เทศกิจเขตพระนคร และตำรวจ สน.ชนะสงคราม การแข่งขัน “ชักกะเย่อ” ชิงแชมป์กรุงเทพมหานคร โดยทีมตัวแทนประชาชนในพื้นที่ 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ เข้าร่วมการแข่งขัน พร้อมชิงถ้วยและเงินรางวัล รวมถึง การฉายหนังกลางแปลง ในวันที่ 8 ต.ค.65 ฉาย สารคดี “เสด็จแจกรางวัลว่าวกาชาด” และภาพยนตร์เรื่อง ดรีมทีม 9 ต.ค.65 ฉาย ภาพยนตร์เรื่อง Beautiful boxer
สัปดาห์ที่ 3 กิจกรรม “ตะกร้อไทย ใจกลางพระนคร” วันที่ 15-16 ต.ค.65 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร พบกับการแข่งขันกีฬา “ตะกร้อข้ามตาข่าย” ชิงแชมป์กรุงเทพมหานคร รายการแข่งขันในรุ่นเยาวชน เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับเยาวชนได้มีพื้นที่ในการเล่นกีฬาและมีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขัน พร้อมชิงถ้วยและเงินรางวัล การแข่งขันกีฬา “ตะกร้อลอดห่วงไทย” ชิงแชมป์กรุงเทพมหานคร โดยทีมประชาชนในพื้นที่ 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความสามารถและมีโอกาสได้ร่วมการแข่งขันกีฬา พร้อมชิงถ้วยและเงินรางวัล การแข่งขันเดาะตะกร้อชิงแชมป์กรุงเทพมหานคร เพื่อค้นหาสุดยอดมือเดาะตะกร้อในกรุงเทพฯ (ผู้สนใจสมัครแข่งได้ที่สำนักงานเขต) นิทรรศการ “ตะกร้อไทย” เล่าเรื่องราวของกีฬาตะกร้อ กิจกรรม Workshop สอนเตะตะกร้อ และร่วมสนุกกับกิจกรรมในบูธกิจกรรม การออกร้านจำหน่ายสินค้าของดี 50 เขต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเผยแพร่อัตลักษณ์ของพื้นที่ การแสดงดนตรีโปงลาง รำวงย้อนยุค และพบกับศิลปินรับเชิญ เพื่อสร้างความสนุกสนาน สร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯ
สัปดาห์ที่ 4 กิจกรรม “มวยไทย มหานคร” วันที่ 22-23 ต.ค.65 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนครพบกับการแข่งขันมวยไทยนานาชาติ ในวันที่ 22 ต.ค.65 คู่เอกหญิง รุ่งนภา พ. เมืองเพชร ชิงแชมป์ มากาเร็ต วาเน็ก รุ่น 112 ปอนด์ คู่รอง จิตติ คส. เชียงใหม่ พบ เนจิน รร.มวยไทยสิงห์บุรี รุ่น 127 ปอนด์ คู่ค้ำ ดังมิลล์ เพชรหนองกี่ พบ เมจิ ม.ราชภัฏจอมบึง รุ่น 105 ปอนด์ ในวันที่ 23 ต.ค.65 คู่เอกหญิง ปรายฟ้า ส.นิตยา ชิงแชมป์ มาลีฮาย เน็ส รุ่น 126 ปอนด์ คู่รอง ร้อยแก้ว ดร.น๊อดมวยไทย พบ เพชรยอดหญิง เพชรหนองกี่ รุ่น 100 ปอนด์ คู่ค้ำ งามตา ลูกคลองตัน พบ กุหลาบขาว รุ่น 100 ปอนด์ นอกจากนี้พบนิทรรศการ “มวยไทย” กิจกรรม Workshop สอนแม่ไม้มวยไทย และร่วมสนุกกับกิจกรรมในบูธกิจกรรม การแข่งขันมวยทะเลและมวยตับจาก กีฬาไทยที่ควรค่าแก่อนุรักษ์ โดยมีนักมวยสมัครเล่นเป็นประชาชนในพื้นที่ 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ พร้อมชิงถ้วยและเงินรางวัล (สมัครแข่งได้ที่สำนักงานเขต) การประกวดมวยไทยยุทธศิลป์ชิงแชมป์กรุงเทพมหานคร กิจกรรมที่เป็นการประยุกต์ท่าแม่ไม้มวยไทยมาเป็นศิลปะการแสดง พร้อมชิงถ้วยและเงินรางวัล การออกร้านจำหน่ายสินค้าของดี 50 เขต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเผยแพร่อัตลักษณ์ของพื้นที่ การแสดงดนตรีโปงลาง รำวงย้อนยุค และพบกับศิลปินรับเชิญ เพื่อสร้างความสนุกสนาน สร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯ
สัปดาห์ที่ 5 กิจกรรม “หมากกระดาน สะท้านกรุงฯ” วันที่ 29-30 ต.ค.65 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร พบกับการแข่งขันหมากรุกไทยและหมากฮอสของวินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ (วินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่สมัครแข่งขันหมากรุกหมากฮอส ได้ที่ 50 สำนักงานเขต) นิทรรศการ “หมากรุกและหมากฮอสไทย” กิจกรรม Workshop การสอนเทคนิคการเล่นหมากรุกและหมากฮอส การแข่งขันวิ่งเปี้ยวนัดล้างตา ระหว่าง เทศกิจเขตพระนคร และตำรวจ สน.ชนะสงคราม การแข่งขันวิ่งเปี้ยวและวิ่งกระสอบชิงแชมป์กรุงเทพมหานคร โดยทีมจากตัวแทนประชาชน 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ พร้อมชิงถ้วยและเงินรางวัล (สมัครแข่งได้ที่สำนักงานเขต) การออกร้านจำหน่ายสินค้าของดี 50 เขต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเผยแพร่อัตลักษณ์ในพื้นที่ การแสดงดนตรี และพบกับศิลปินรับเชิญ เพื่อสร้างความสนุกสนาน สร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯ การฉายหนังกลางแปลง วันที่ 29 ต.ค.65 ฉายภาพยนตร์เรื่อง สตรีเหล็ก วันที่ 30 ต.ค.65 ฉายภาพยนตร์เรื่อง แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้คนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่นหรือต่างประเทศมีเทศกาลน่าสนใจตลอดทั้งปีให้เข้าร่วม ส่งเสริมธุรกิจของเมืองและชุมชนได้โอกาสในการกระตุ้นยอดขายจากงานเทศกาล เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ รวมถึงให้เทศกาลเป็นเครื่องมือผลักดันความสร้างสรรค์ การร่วมมือของชุมชน และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เที่ยวกรุงเทพฯ โดยแต่ละเทศกาลจะดึงอัตลักษณ์และศักยภาพของแต่ละย่านทั่วกรุงเทพฯ มาใช้ ทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและสร้างโอกาสในการประกอบธุรกิจใหม่ ๆ ให้คนกรุงเทพฯ โดยใช้เทศกาลเป็นเครื่องมือผลักดันความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เทศกาลที่จัดในปี 2565 มีดังนี้ มกราคม : เทศกาลดนตรีในสวน กิจกรรมบรรเลงเพลงแห่งความสุขในทุกเย็นวันอาทิตย์ ตามสวนสาธารณะทั้งน้อยใหญ่ทั่วกรุง กุมภาพันธ์ : เทศกาลดอกไม้แห่งความรัก ต่อยอดความสำเร็จของเทศกาลชมทุ่งดอกไม้กรุงเทพมหานคร มีนาคม : เทศกาลหนังสือกรุงเทพฯ พัฒนาห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ห้องสมุดออนไลน์ และ Co-Working Space เมษายน : เทศกาลอาหารฮาลาล หลังอาทิตย์ลับขอบฟ้า ขยายตลาดอาหารฮาลาลสำหรับชาวมุสลิม สนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน พฤษภาคม : เทศกาลผลไม้ไทย สร้างช่องทาง ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการผ่านการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในกรุงเทพฯ มิถุนายน : เทศกาลแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) กิจกรรมเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ กรกฎาคม : เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ จากกรุงเทพกลางแปลง ผลักดันสู่มหรสพระดับนานาชาติ สิงหาคม : เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกแบบเรื่องราวให้เมืองผ่าน Digital Experience Economy กันยายน : เทศกาลเด็กและเยาวชน เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกโรงเรียน ตุลาคม : เทศกาลกีฬากรุงเทพฯส่งเสริมด้านกีฬาและนันทนาการ สร้างสุขภาพกายใจที่ดีให้คนกรุงเทพฯ พฤศจิกายน : เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ ส่งเสริมแนวคิดศิลปะสร้างสรรค์ผ่านแนวร่วมศิลปิน ผลักดันการจัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้ง ทุกมุมเมืองเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ธันวาคม : เทศกาลแสงสี สร้างบรรยากาศแห่งความสุข ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเคาท์ดาวน์ที่กรุงเทพฯ
Share this:
ระเบิดความมันของสุดย…
สนามมวยลุมพินี ประกา…
This website uses cookies.