ไขข้อข้องใจ ‘เซียนมวย VS นักพนันมวย’ ต่างกันอย่างไร? แล้วทำไมเวทีราชดำเนินถึงเล่นพนันมวยได้ถูกกฎหมาย
ตามที่เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวในวงการมวยไทยอีกครั้งในการชกศึกมวยไทย “เพชรยินดี” เมื่อกลางดึกคืนวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน ที่เวทีมวยราชดำเนิน ในการชกคู่ที่ 3 ระหว่าง แป๊ะยิ้ม ป.จิรกิตติ์ มุมแดง พบกับ กระดูกเหล็ก อ.อัจฉริยะ มุมน้ำเงิน
หลังการชกกรรมการชูมือให้ แป๊ะยิ้ม ป.จิรกิตติ์ พลิกล็อกเอาชนะ กระดูกเหล็ก อ.อัจฉริยะ 2-1 เสียง แบบพลิกราคาต่อรองจนทำให้เซียนในสนามไม่พอใจจนถึงขึ้นเวทีไปประท้วงเพื่อขอยกเลิกคำตัดสิน
เหตุการณ์ประท้วงของบรรดาเซียนมวย เกิดขึ้นหลังผลคำตัดสินผ่านไปไม่กี่นาที บรรดาเซียนมวยหลายสิบคนที่อยู่บนล็อกต่างกรูลงมาประท้วงผลการแข่งขัน จนเกิดเหตุวุ่นวาย และมีบางส่วนบุกขึ้นไปบนเวทีจนมวยคู่เอกระหว่าง พีพัฒน์ มวยเด็ด789 กับ เพชรไทยแลนด์ ม.ราชภัฏสุรินทร์ ไม่สามารถดำเนินการชกต่อไปได้
ต่อมาสนามมวยราชดำเนิน ออกประกาศห้าม นายสรศักดิ์ แซ่ตั้ง (ตี๋ ทีเด็ด99), นายพรสุริยา อำนวยการณ์ (เปิ้ล นคร) และนายพงศ์ปณต ถนอมบูรณ์ (เล็ก จันทร์ระกา) 3 เซียนมวยชื่อดังเข้าสนามมวยราชดำเนินโดยไม่มีกำหนด ตามด้วยประกาศฉบับที่ 2 เพิ่มเติมแบนอีก 12 เซียนมวยชื่อดังห้ามเข้าเวทีมวยราชดำเนินแบบไม่มีกำหนด
จากนั้นเกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า เซียนมวย / นักพนันมวย ต่างกันอย่างไร…?
เพื่อเป็นการไขข้อข้องใจจากการค้นข้อมูลคำว่า
เซียนมวย หมายถึง พวกที่ดูมวยเป็น มีประสบการณ์ หรือเป็นผู้ที่มีทักษะในเรื่องของการชกมวยอาจเคย ขึ้นชกเอง หรือไม่ก็ได้
นักพนันมวย หมายถึง กลุ่มคนที่เข้าไปสนามมวยเพื่อเล่นพนันโดยเฉพาะด้วยการเดิมพันทรัพย์สิน เงินทอง อาจจะเป็นกลุ่มคนเดียวกับเซียนมวย แต่ต้องให้ความเคารพถึงกลุ่มเซียนมวยที่เข้าสนามโดยไม่ข้องเกี่ยวกับการพนัน
อีกข้อข้องใจหนึ่งที่หลายคนสงสัยกันมากว่า ทำไมเวทีมวยราชดำเนินถึงสามารถเล่นการพนันมวยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย!!!
ข้อเท็จจริงคือ การเล่นพนันถือว่าขัดต่อ พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 แต่เนื่องจาก พระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหมายควบคุมการเล่นการพนัน
ระบุในมาตรา 4 ห้ามมิให้อนุญาตจัดให้มี หรือเข้าเล่น หรือเข้าพนันในการเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ก. ท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน หรือการเล่นอันร้ายแรงอื่นใด ซึ่งรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมห้ามไว้ แต่เมื่อรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ณ สถานที่ใดสมควรจะอนุญาตภายใต้บังคับเงื่อนไขใด ๆ ให้มีการเล่นชนิดใดก็อนุญาตได้โดยออกพระราชกฤษฎีกา
การเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน หรือการเล่นอื่นใดซึ่งรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมไว้ จะจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทาง อ้อมได้ต่อเมื่อรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเห็นสมควร และออกใบอนุญาตให้ หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต
ในการเล่นอันระบุไว้ในวรรค 2 ข้างต้นนั้นจะพนันกันได้เฉพาะเมื่อได้มีใบอนุญาตให้จัดมีขึ้นหรือมีกฎ กระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต
สำหรับบัญชีประเภท ข ประกอบด้วย
– การเล่นต่าง ๆ ซึ่งให้สัตว์ต่อสู้หรือแข่งกัน เช่น ชนโค ชนไก่ กัดปลา แข่งม้า ฯลฯ นอกจากที่กล่าวไว้ในหมายเลข 17 แห่งบัญชี ก.
– ชกมวย มวยปล้ำ
– แข่งเรือพุ่ง แข่งเรือล้อ